รัฐในอุดมคติของเพลโต

โดย วชิระ ศรีรัตนพาณิชย์

บนโลกของเราทุกอย่างมีที่มาที่ไปกันทั้งนั้น กฎหมายก็เช่นกัน โดยเฉพาะกฎหมายมหาชนซึ่งถือเป็นกฎหมายที่มีมายาวนาน กว่าจะได้รับอนุญาตให้นำมาใช้ได้ต้องมีการคิดแล้วคิดอีก คิดไตร่ตรองหลายรอบว่าดีแล้วหรือยัง จึงสามารถนำมาประกาศใช้ได้ ดังนั้นกฎหมายจึงยากที่จะเข้าใจ การที่จะเข้าใจถึงความหมายของกฎหมายได้นั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงความเป็นมา ซึ่งในบทความรัฐในอุดมคติของเพลโตที่จะกล่าวต่อไปนี้ จะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของเขาที่มีต่อรัฐและระบบการปกครอง ซึ่งแนวคิดของเขานั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำหลักกฎหมายมาใช้ในยุคอารยธรรมกรีก

กรีกในสมัยโบราณเป็นยุคที่แนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายได้ถือกำเนิดขึ้น การปกครองของกรีกนั้นจะเป็นรูปแบบของการปกครองแบบนครรัฐ เช่น นครรัฐเอเธนส์ นครรัฐสปาร์ตา ในแต่ละนครรัฐมีรูปแบบการปกครองที่แตกต่างกันออกไป และเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา เริ่มต้นจากการที่ปกครองโดยกษัตริย์องค์เดียว ถัดมาเป็นการปกครองโดยอภิสิทธิ์ชน ต่อมาเป็นการปกครองในรูปของเผด็จการ และไปสู่การปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

การปกครองในรูปแบบที่หลากหลายของกรีก ทำให้เห็นความแตกต่างของแนวคิดทางการปกครอง ซึ่งส่งผลให้นักปราชญ์ในยุคนี้มีหน่อความคิดเกี่ยวกับแนวคิดทางกฎหมาย และหน่อความคิดนั้นก็ได้พัฒนาการจนกลายเป็นรากฐานและต้นกำเนิดของกฎหมาย ยุคอารยธรรมกรีกนั้นกฎหมายจะถูกเขียนในรูปของปรัชญามากกว่าในรูปของกฎหมาย ผู้ก่อตั้งแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายก็คือเหล่านักคิดนักปราชญ์ทั้งหลาย และหนึ่งในนั้นที่วางรากฐานเกี่ยวกับ “หลักนิติรัฐ” มีชื่อว่า เพลโต ลูกศิษย์ของโสเครติส


Plato

เพลโต (Plato) เป็นนักอุดมคติในยุคอารยธรรมกรีก หนังสือที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากของเขา คือ Republic, Statesman และ Laws ทั้งสามเล่มเป็นแนวคิดทางการเมือง ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดแนวคิดผ่านบทสนทนาของตัวละครที่อยู่ในหนังสือ

หนังสือเล่มแรก คือ The Republic เป็นหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐในอุดมคติ เป็นรัฐที่ผู้ปกครองจะต้องมีปัญญา มีความรู้ รู้จักว่าสิ่งไหนดีสิ่งไหนไม่ดี มีความสามารถในการชักชวนผู้คนให้ทำความดี ดังนั้น ผู้ที่ปกครองรัฐในอุดมคตินั้นจะต้องเป็นคนที่มีคุณธรรม มีศีลธรรมอันดี เพลโตเรียกมันว่า “ราชาปราชญ์” และผู้ปกครองจะต้องไม่มีครอบครัวและทรัพย์สิน เพื่อที่จะได้ตั้งตนในการทำสิ่งต่างๆ ให้แก่รัฐอย่างเต็มที่ ดังนั้นรัฐในอุดมคติของเพลโต จึงเป็นรัฐที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เพียงแค่ปัญญาและความสามารถของราชาปราชญ์ก็เพียงพอ ในด้านของการปกครองนั้น เขาได้กล่าวว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่แย่ การปกครองที่ดีที่สุดคือ การปกครองแบบราชาธิปไตย เป็นการปกครองที่มีกษัตริย์ที่เป็นนักปราชญ์และมีคุณธรรมเป็นผู้ครองรัฐ


The Republic

หนังสือเล่มที่สอง คือ The Statesman ในหนังสือเล่มนี้ เพลโตกล่าวว่าระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย ในหนังสือเรื่อง The Republic นั้นเป็นไปได้ยากมาก จึงเปลี่ยนแนวคิดจากระบบราชาธิปไตยมาเป็นแบบประชาธิปไตยแทน ในหนังสือเล่มนี้ เขาได้เปลี่ยนความคิดที่ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เขาเคยมองว่ามันแย่นั้น แท้จริงแล้วมันเป็นระบบการปกครองที่เหมาะสมในการปกครองรัฐ


The Statesman
ที่มา: https://www.amazon.com/

หนังสือเล่มที่สาม คือ The Laws ในหนังสือเล่มนี้ แนวคิดของระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย และประชาธิปไตย ของเพลโตในหนังสือเล่มแรก และเล่มที่สองนั้น มันเป็นระบบที่แย่ทั้งคู่ กล่าวคือ ระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย อำนาจจะอยู่ที่กษัตริย์เพียงคนเดียว ถ้ากษัตริย์ไร้คุณธรรม จรรยา ประชาชนก็จะเดือดร้อน ในขณะที่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น เป็นระบบการปกครองที่มอบสิทธิและมอบอำนาจให้แก่ประชาชน ซึ่งประชาชนอาจจะใช้สิทธ์นั้นในทางที่ผิด เนื่องจากมีความรู้น้อย ดังนั้นในหนังสือเล่มที่สาม The Laws เขาจึงเสนอการปกครองรูปแบบใหม่ คือการเอาทั้งระบบการปกครองแบบราชาธิปไตย และประชาธิปไตย มาผสมกัน ดังนั้น จึงมีการสร้างหลักกฎหมายขึ้นมา ทั้งกษัตริย์และประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทุกคนจะต้องเคารพและปฏิบัติตาม หลักกฎหมายที่เขานำมาใช้ เรียกว่า “หลักนิติรัฐ”


The Laws
ที่มา: https://www.amazon.com/

หนังสือทั้งสามเล่มของเพลโต ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางแนวคิดของตัวเขาเองเกี่ยวกับรัฐในอุดมคติ ที่มีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งแนวคิดเหล่านั้นได้รับมาจากการตกผลึกทางความคิดของเขาเอง ในปัจจุบัน มีหลายประเทศที่นำแนวคิดของเพลโตไปปรับใช้ เช่น ประเทศไทยได้นำหลักนิติรัฐมาปรับใช้ในระบบการปกครอง ดังนั้นแล้ว เพลโตถือว่าเป็นคนที่วางรากฐานหลักนิติรัฐและระบบการปกครองไว้ให้แก่คนรุ่นหลังจนถึงปัจจุบันนี้


อ้างอิง

Teerayaut. (2012). แนวคิดและต้นกำเนินกฎหมายมหาชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9/2/2020. จาก  https://teerayaut.wordpress.com/2012/07/31/

ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์. (2551). แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 9/2/2020. จาก http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=1228

พระนิติกร จิตฺตคุตฺโต. (2015). การศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาการเมืองของเพลโต กับแนวคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 9/2/2020. จาก http://www.ojs.mcu.ac.th/index.php/jmcukk/article/view/2136

Bubeeja. (2556). เพลโต. สืบค้นเมื่อวันที่ 9/2/2020. จาก http://bubeeja.blogspot.com/2013/01/blog-post_20.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น