เมื่อพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ผู้ที่ทำคุณูปการที่สำคัญให้กับโลก เราก็มักจะนึกถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ อาจสืบเนื่องมาจากมายาคติหรือสภาพสังคมในยุคสมัยก่อนที่ยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงๆและทำงานได้อย่างกว้างขวางมากนัก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์หญิงคนหนึ่งที่ได้ทำคุณูปการที่สำคัญต่อชาวโลก ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่การรักษาโรคมะเร็งและโรคผิวหนังบางชนิด ซึ่งมีคุณค่าต่อมวลมนุษยชาติและการแพทย์เป็นอย่างมาก
มารี กูว์รี (Marie Curie) ชื่อเดิมของเธอคือ มารียา สโคลดอลสกา (Marja Sklodowska) เกิดที่กรุงวอร์ซอร์ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.1867 เป็นลูกคนสุดท้องในจำนวน5คน บิดาของเธอคือ ศาสตราจารย์วลาดิสลาฟ สโคลดอลสกา เป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอร์ ด้วยการที่เธอติดตามบิดาของเธอเข้าไปที่ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ จึงทำให้เธอได้เรียนรู้การทดลองและมักอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมากและไม่ค่อยออกไปเล่นเหมือนเด็กๆทั่วไป จึงทำให้เธอชอบและหลงใหลในวิทยาศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
มารี กูวร์รี
ที่มา : http://www.wikiwand.com/
มารีเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่ง เธอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาด้วยรางวัลเหรียญทองเมื่ออายุ16ปี แต่บิดาขาดทุนทรัพย์ที่จะส่งเธอเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา มารีจึงต้องหยุดเรียน แต่ความมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อของเธอนั้นไม่หยุดยั้ง เธอจึงทำงานเป็นครูอนุบาลสอนเด็กๆลูกผู้ดีชนชั้นสูง เพื่อเก็บเงินส่งตนเองไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เพราะที่โปแลนด์ไม่รับนักศึกษาหญิงและเธอยังได้ส่งเสียพี่สาวของเธอ โบรเนีย (Bronia)เรียนแพทย์ที่กรุงปารีส ระหว่างนั้นเธอก็ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองไปด้วย เมื่อโบรเนียเรียนจบ เธอก็ได้ส่งเสียมารีเรียนต่อเพื่อเป็นการตอบแทน
ค.ศ.1893 มารีในอายุ23ปีก็ได้ไปศึกษาต่อที่กรุงปารีส เธอเข้าเรียนสาขาวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) ด้วยความที่เธอเป็นคนขยันมุ่งมั่น เธอจึงสอบได้ที่หนึ่งในสาขาฟิสิกส์และในปีถัดมาก็สอบได้ที่สองในสาขาคณิตศาสตร์
ด้วยเงินที่พี่สาวส่งให้เธอใช้นั้นไม่เพียงพอ เธอจึงต้องหางานทำ และในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ.1894 มารีได้เป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการทางเคมีของ ปิแอร์ กูว์รี (Pierre Curie) ศาสตราจารย์ชาวฝรั่งเศสสาขาฟิสิกส์ และทั้งสองได้แต่งงานกันในปีค.ศ.1895 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้น มีนักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสชื่อว่า อองรี เบคเคอเรล (Henri Becquerel) ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของปิแอร์ ได้พบปรากฏการณ์ที่ธาตุยูเรเนียมมีการปล่อยพลังงานออกมาได้เองตามธรรมชาติในอัตราคงที่โดยบังเอิญ ซึ่งต่างจากรังสีเอกซ์ที่ผลิตขึ้นมา สิ่งนี้เป็นการจุดประกายให้มารีและปิแอร์ค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยูเรเนียมอย่างจริงจัง และทั้งสองพบว่ามีพลังงานที่ถูกปล่อยออกจากแร่พิตช์เบลนด์ ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของธาตุยูเรเนียม มารีได้แยกธาตุออกจากแร่พิตช์เบลนด์เป็นส่วนย่อย จนกระทั่งพบธาตุที่แผ่รังสีได้มากกว่ายูเรนียมถึงสี่เท่า มารีตั้งชื่อธาตุนั้นว่า พอลโลเนียม เพื่อเป็นเกียรติแก่โปแลนด์บ้านเกิดของเธอ
ปิแอร์ กูว์รี และ มารี กูว์รี
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/
เมื่อขั้นตอนแรกสำเร็จ ต่อไป คือการแยกธาตุเรเดียมออกจากแร่พิตช์เบลนด์ ในค.ศ.1898 ทั้งสองได้ทำการค้นคว้าทดลองอย่างจริงจังจนสามารถแยกเรเดียมบริสุทธิ์ได้ในปี ค.ศ.1902 มีชื่อว่า “เรเดียมคลอไรด์” ซึ่งสามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมถึงสองล้านห้าแสนเท่า เรเดียมบริสุทธิ์นี้มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ สามารถให้แสงสว่างและความร้อนได้ เมื่อแผ่รังสีไปยังวัตถุอื่น วัตถุนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็นธาตุกัมมันตรังสี สามารถแผ่รังสีและให้ความร้อนเช่นเดียวกับเรเดียม และด้วยคุณสมบัติที่สามารถให้ความร้อนต่อผิวหนังนี้ จึงทำให้นำมาใช้รักษาโรคผิวหนังบางชนิดและโรคมะเร็งได้ จากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลเหรียญทองเดวี่จากราชสมาคมกรุงลอนดอนของอังกฤษ และโนเบลในสาขาฟิสิกส์ในปีค.ศ.1903 ร่วมกับเบคเคอเรล ผู้ค้นพบรังสีจากธาตุยูเรเนียม แต่ด้วยความใจกว้างของทั้งสอง พวกเขากลับไม่จดสิทธิบัตรผลงานนี้ แต่เลือกที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้อย่างละเอียดแทน
แร่พิตช์เบลนด์
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเช้าวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1906 ปิแอร์ กูว์รี ประสบอุบัติเหตุทางจราจรเสียชีวิตทันที ทำให้มารีต้องทำงานค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไปแต่เพียงผู้เดียว ต่อมามหาวิทยาลัยในปารีสได้ให้เงินก้อนหนึ่งกับมารีในการจัดตั้งสถาบันวิจัยเรเดียม เพื่อค้นคว้าวิจัยธาตุเรเดียมทางการแพทย์ เธอวิจัยทุ่มเทอย่างเต็มที่ จนทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในปีค.ศ.1911 จากการศึกษาวิจัยทางด้านเคมีค้นคว้าประโยชน์จากเรเดียมเพิ่มเติม และเป็นคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึงสองครั้ง
แต่การค้นคว้าต้องหยุดชะงักเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่1 ผู้ชายที่ทำงานในสถาบันถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร มารีจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครร่วมกับลูกสาวคนโต อีแรน ตั้งแผนกรถเอกซเรย์เคลื่อนที่เพื่อช่วยรักษาทหารที่บาดเจ็บตามหน่วยต่างๆ จากเรื่องราวที่ผ่านมาของเธอ จะเห็นได้ ว่ามารีได้ทำผลงานและได้รับรางวัลเด่นๆดังนี้
1.ค้นพบแร่พอลโลเนียม เรเดียม
2. แยกเรเดียมบริสุทธิ์ได้
3.ได้รับรางวัลเหรียญทองเดวี่จากราชสมาคมลอนดอนแห่งอังกฤษ
4.รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ครั้งที่1ค.ศ.1903
5.รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีครั้งที่2 ค.ศ.1911
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง มารีกลับมาทำงานต่อที่สถาบันวิจัยเรเดียม แต่เนื่องจากสารกัมมันตภาพรังสีของเรเดียมนั้นเป็นพิษต่อร่างกายและเธอได้รับสารนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สุขภาพของเธอเริ่มทรุดโทรม อ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ไขกระดูกของเธอถูกทำลาย มารี กูว์รี เสียชีวิตด้วยโรคลูคิเมียในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1934 จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เธอกระทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นกลับส่งผลกระทบต่อเธอถึงชีวิต แต่ถึงกระนั้น เธอก็ได้ทำคุณูปการที่สำคัญยิ่งซึ่งเป็นการต่อชีวิตผู้ป่วยอีกหลายชีวิตให้อยู่รอด
อ้างอิง
ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. (มปป.) . “มารี คูรี มารดาแห่งวงการเคมี”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: http://nstda.or.th/rural/public/100%20articles-stkc/10.pdf
ปาริชาต เสือโรจน์. 2556. “มาดามมารี คูรี่ (Marie Curie)”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: http://oillyt.blogspot.com/2013/09/marie-curie.html
บัวอื่น. 2552. “มารี คูรี สตรีผู้ได้ดับเบิ้ลโนเบล”. [ระบบออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561, จาก: http://www.vcharkarn.com/varticle/39294
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น