บุคคลสำคัญในอดีตท่านหนึ่งที่สนับสนุนการพยาบาลให้รุ่งเรือง จากอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพสำหรับคนการศึกษาน้อย จนกลายมาเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ และได้บุกเบิกความรู้ด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่และยังมีบทบาทในการพัฒนาด้านสถิติศาสตร์ บุคคลท่านนั้นคือ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
ท่ามกลางความหวังมืดหม่นที่จะเหลือรอดชีวิตแต่ผู้ป่วยกลับรู้สึกมีความหวังขึ้นทุกครั้งเมื่อได้เห็นแสงสว่างจากตะเกียงที่มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มักจะจุดเพื่อใช้เดินดูผู้ป่วยในยามค่ำคืน ภาพนี้นี่เองที่ทำให้เธอถูกขนานนามในเวลาต่อมาว่า Lady of the Lamp ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็น ‘ตะเกียงไนติงเกล’ สัญลักษณ์แห่งคำมั่นสัญญาของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในวิชาชีพพยาบาลให้ตระหนักถึงความอดทน ความเอื้ออารีต่อผู้ป่วยนั้น
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล สตรีแห่งดวงประทีป
ที่มา : https://www.makers.com/
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เกิดในตระกูลคหบดีอังกฤษ ณ เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปีค.ศ.1820 โดยได้รับการศึกษาอย่างดีตามแบบกุลสตรีชั้นสูงทำให้ฟลอเรนซ์มีความสามารถสูงทั้งสามารถพูดได้หลายภาษาอีกทั้งยังมีกิริยางามสง่า โดยเธอปรารถนาในการเรียนด้านพยาบาลศาสตร์ แต่ครอบครัวของเธอนั้นคัดค้านอย่างหนักอีกทั้งในขณะนั้นอาชีพพยาบาลถือเป็นอาชีพชั้นต่ำสำหรับคนมีการศึกษาน้อยในสังคม ต่อมาเมื่อเธออายุ 30 ปี จึงได้เป็นพยาบาลตามความต้องการของตน โดยได้วางแผนเดินทางไปแสวงหาประสบการณ์ในการเป็นพยาบาลกับคณะแม่ชีพยาบาลดีคอนเนสที่รับดูแลเด็กกำพร้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าไครเซอร์เวิร์ธประเทศเยอรมัน โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเศษและได้ขอศึกษาดูงานการบริหารจัดการโรงพยาบาลบางแห่งในประเทศฝรั่งเศสระหว่างเดินทางกลับประเทศอังกฤษ
ต่อมาเกิดสงครามไครเมียซึ่งเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและฝรั่งเศสกับตุรกี โดยกองทัพของอังกฤษนั้นมีบุรุษพยาบาลดูแลเหล่าทหารที่บาดเจ็บอยู่แต่บุรุษพยาบาลเหล่านั้นไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม ในขณะที่กองทัพรัสเซียและตุรกีนั้นมีแม่ชีคอยติดตามไปกับกองทัพเพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บ ฟลอเรนส์และสตรีอาสาสมัครอีก 38 คนจึงอาสาเข้าช่วยทหารที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาลแบแรท เมืองสตาคูรี่ ภายในโรงพยาบาลนั้นผู้ป่วยอยู่กันอย่างแออัดและสกปรก ฟลอเรนซ์จึงได้ทำสถิติพบว่าการเสียชีวิตของทหารส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อมากกว่าการตายในสงครามจึงตัดสินใจปฎิรูปโรงพยาบาลใหม่โดยใช้เวลา 6 เดือนในการปรับปรุงสุขอนามัยในโรงพยาบาลและค่ายทหาร ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจาก 46%ลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น หลังสงครามจบลงโรงพยาบาลต่างๆ ก็ปิดตัวลง ฟลอเรนซ์กลับไปยังประเทศอังกฤษเป็นคนสุดท้าย
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลและเหล่าอาสาสมัคร
ที่มา : http://www.countryjoe.com/
หลังจากฟลอเรนซ์กลับมาจากสงครามไครเมียก็ได้เขียนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรัฐบาลในการปรับปรุงสุขอนามัยของกองทัพ แต่งตำราเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงพยาบาลและตำราทางการพยาบาล และได้ก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลไนติงเกลที่โรงพยาบาลเซนต์โทมัส ริมแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ.1860 โดยถือเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนพยาบาลทั่วโลก
จากผลงานของฟลอเรนซ์ ไนติงเกลนั้นส่งผลให้ชื่อเสียงของเธอนั้นแพร่กระจายเป็นวงกว้าง นักกวีนักแต่งเพลงหรือแม้กระทั้งนักดนตรีได้ทำบทประพันธ์ต่างๆเกี่ยวกับเธอเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดกระแสที่หญิงชั้นสูงอยากเป็นพยาบาลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังถือเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่ไม่เคยพระราชทานแก่สตรีผู้ใดมาก่อน โดยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่7ได้มาพระราชทานให้ท่านที่เตียงนอน ซึ่งขณะนั้นมิสไนติงเกลมีอายุค่อนข้างมากและสูญเสียสายตาทั้งสองข้าง
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1910 ในขณะที่ไนติงเกลมีอายุ 90 ปีซึ่งมีอาการป่วยต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามไครเมียได้จากไปอย่างสงบโดยทิ้งพิธีกรรมไว้ว่าให้จัดพิธีศพอย่างเรียบง่ายและนำไปฝังไว้กับครอบครัวของตนที่เมืองแฮมเชียร์ ต่อมาเหล่าบรรดาศิษย์ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลขึ้นที่ด้านหน้าโรงพยาบาลเซนต์โทมัส กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อรวบรวมผลงานต่างๆไง้เพื่อการศึกษาและค้นคว้า
แม้ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลจะจากไปแต่เธอก็ได้มอบผลงานอันเป็นมรดกที่ล้ำค่าไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง ได้สืบสานเจตนารมณ์และทำให้การพยาบาลนั้นมีความรุ่งเรืองก้าวหน้าจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเธอจึงเหมาะสมแล้วกับฉายา สตรีแห่งดวงประทีป ผู้จุดประกายความฝันให้แก่เหล่าผู้ที่มีเป้าหมายในทางเดินสีขาวสายนี้
อ้างอิง :
พิพิธภัณฑ์ประวัติคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.- มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล. (ม.ป.ป.). สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2018, จาก http://cene.nurse.cmu.ac.th:81/museum/index.php/museum-introduction/exhibition/part2/missflorencenightingale.html
ประวัติฟลอเรนซ์ ไนติงเกล - ครูพยาบาล - GotoKnow. (ม.ป.ป.). สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2018, จาก https://www.gotoknow.org/posts/490616
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล. (2017, สิงหาคม 1). ใน วิกิพีเดีย. สืบค้น จาก https://th.wikipedia.org/
ย้อนที่มา ‘ตะเกียงไนติงเกล’ แสงสว่างที่ถูกจุด เพื่อมอบให้ ตูน บอดี้สแลม – THE STANDARD THE STANDARD : STAND UP FOR THE PEOPLE. (ม.ป.ป.). สืบค้น 21 กุมภาพันธ์ 2018, จาก https://thestandard.co/kaokonlakao-historys-badasses-florence-nightingale/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น