หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

23 ธ.ค. 2557

จูเลียส ซีซาร์ (Julius Ceasar)

โดย พลอยไพลิน จันทะวงษ์

จูเลียส ซีซาร์ (Julius Ceasar) หรือชื่อเต็มคือ กายอัส จูเลียส ซีซาร์ (Gaius Julius Ceasar) เป็นรัฐบุรุษที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ที่สถาปนาตนขึ้นปกครองกรุงโรมัน และทำให้อาณาจักรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของการใช้ชื่อ “ซีซาร์” ของกษัตริย์ถึง 12 พระองค์

จูเลียส เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ประมาณ 100 ปี ก่อนคริสต์ศักราช (พ.ศ. 444) เขาเกิดในตระกูลขุนางเก่า มีพ่อชื่อเดียวกับเขาคือ กายอัส จูเลียส  ซีซาร์ (Gaius Julius Ceasar the Elder) และแม่ชื่อ ออเรเลีย ค็อคตา (Aurelia Cotta)  นอกจากนี้ จูเลียส ยังเป็นเป็นมนุษย์คนแรกที่กำเนิดโดยการผ่าตัดหน้าท้องอีกด้วย

จูเลียส กำพร้าพ่อตั้งแต่อายุ 16 ปี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเขาจึงต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่ดูแลแม่มาตลอด เดิมทีนั้นจูเลียสไม่เคยคิดอยากเป็นนักรบหรือทหาร เขาตั้งใจที่จะเป็นทนายความซึ่งเป็นอาชีพที่มีเกียรติในสมัยนั้นมากกว่า แต่กระนั้นยังไม่มีใครทราบสาเหตุว่าทำไมจูเลียสถึงเปลี่ยนความคิดและผันตัวมาเป็นทหารได้ ยิ่งไปกว่านั้นแม้ว่าครอบครัวของจูเลียสจะเป็นครอบครัวชั้นสูงและร่ำรวยแต่เขาก็ไม่เคยใช้มันสร้างบารมีทางการเมืองเลย



เขาเริ่มต้นจากการเป็นทหารชั้นผู้น้อย ไต่เต้าเป็นผู้กับกำดูแลการเงินการคลังของรัฐ ผู้ว่าการสเปน และกงศุล ตามลำดับ หลังจากนั้นจูเลียสก็ได้ร่วมมือกับนายพลที่มีอำนาจในสาธารณรัฐโรมันคือ “ปอมเปย์” และ “คราสซุส” จัดตั้งคณะไตรมิตรขึ้นปกครองโรมันด้วยเสียงสนับสนุนสูงสุดจากสภาเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพใหญ่ออกไปรบกับพวกกอล หรือฝรั่งเศสในปัจจุบันจนได้รับชัยชนะ

จูเลียสเป็นคนเข้มแข็ง กล้าหาญ และมีฝีมือการรบที่เก่งกาจ อีกทั้งยังเป็นนักการเมืองที่เฉลียวฉลาดอีกด้วย ถึงแม้เป็นศรัตรูแต่หากมีผลประโยชน์จูเลียสก็จะผูกมิตรไว้ ด้วยความที่จูเลียสเป็นคนมีไหวพริบดีและมีสติจึงทำให้ไม่เคยตกใจจนทำอะไรไม่ถูก อาจกล่าวได้ว่าจูเลียสทำทุกอย่างอย่างคนเชื่อมั่นในตนเองสูง ปรารถนาเพียงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของตน

กองทัพโรมันที่นำทัพโดยจูเลียสสามารถยึดเมืองได้มากกว่า 800 เมืองมาอยู่ภายใต้อาณัติโรม ตั้งแต่ยุโรปตอนเหนือถึงยุโรปตอนใต้ จากสเปนไปเอเชียน้อย รวมไปถึงอียิปต์ ตลอดเวลาของการเดินทัพจูเลียสจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทหารชั้นเลวทั้งตลอด และมักแสดงถึงความกล้าหาญของตนอยู่เสมอ เช่น ขี่ม้าที่ขึ้นชื่อว่าพยศที่สุดจนไม่มีใครกล้าขี่ รวมถึงเมื่อออกรบจูเลียสก็ยังปฏิเสธที่จะใส่หมวกเหล็ก เพื่อให้ทหารจำเขาได้อีกด้วย

เมื่อครั้งทำสงครามที่เฟซาเลียซึ่งในที่สุดโรมันก็เป็นฝ่ายได้ชัยชนะ ฟาร์เนเซส ผู้ครองแคว้นได้ก่อกบฏขึ้น โดยปฏิเสธไม่ยอมสวามิภักดิ์ด้วย จูเลียสจึงยกทัพเข้าตีเมือง และได้รับชัยชนะภายในเวลาเพียงวันเดียว ผลจากการสู้รบครั้งนี้เอง ทำให้เราได้รู้จักคำพูดที่เป็นอมตะประโยคหนึ่งของจูเลียส ซึ่งได้รายงานกลับมาโรมว่า Veni, Vedi, Vici! ซึ่งแปลว่า "ข้าไปถึงแล้ว ข้าได้เห็น และข้าก็ได้ชัยชนะ"

ช่วงที่เกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่ยุ่งยากซับซ้อน จูเลียสกลับไปทางตะวันออกเพื่อศึกษาวิชาวาทศิลป์ที่เมืองโรดส์ (Rhodes) ระหว่างทางพวกโจรสลัดจับตัวจูเลียสไว้ได้ เขาได้ปฎิญาณเอาไว้ว่า ถ้าหลุดออกมาเมื่อไหร่จะจับโจรตรึงกางเขนให้หมด ภายหลังหนีรอดออกมาได้จูเลียสได้กลับไปกำจัดโจรพวกนี้ทั้งหมด

ชื่อเสียงและบารมีของจูเลียสที่แผ่ขยายอย่างกว้างไกลพร้อมๆกับฐานะที่มั่นคงขึ้น ย่อมมีศัตรูเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยภายหลังเขากับนายพล ปอมเปย์และคราสซุส เปิดศึกแย่งชิงอำนาจกันเองจนแตกหักด้วยเหตุผลว่าต่างฝ่ายก็อยากจะผูกขาดการปกครองโรมันแต่เพียงผู้เดียว สุดท้ายด้วยกำลังและอำนาจที่เหนือกว่าจึงทำให้จูเลียสสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ และได้รับเลือกให้เป็นผู้ชี้นำปกครองโรมัน คุมการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียวถึง 10 ปีเต็ม ต่อมาเมื่อยกพลยึดดินแดนแอฟริกาและสเปนได้สำเร็จ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็น “หัวหน้าผู้เผด็จการ” ตลอดชีวิต

เมื่อถึงคราวขึ้นอำนาจสูงสุดในโรมันโดยไร้ผู้ขัดขวาง จูเลียสก็ยังไม่ได้ประกาศตนเป็นจักรพรรดิ์ ทั้งที่มีฐานะไม่ต่างกับจักรพรรดิ์คือ เมื่อร่วมประชุมกับวุฒิสภาจะมีเก้าอี้ทองคำอย่างราชบัลลังก์จัดไว้ให้และเงินที่ใช้ในกรุงโรมสมัยนั้นก็มีรูปจูเลียสด้วย




ถึงแม้ว่าจูเลียสจะเป็นนักรบและผู้นำที่เข้มแข็ง แต่กลับมีจุดอ่อนซึงนำไปสู่จุดจบของตัวเขาเองคือ ความเมตตาที่เขามักหยิบยื่นให้ศัตรู ทั้งๆที่จับได้หลายครั้งว่ามีแผนลอบสังหาร แต่เขากลับนิ่งนอนใจไว้ชีวิตทุกครั้ง จนกระทั่งต้องมาจบชีวิตโดยไม่ทันระวังตัว จากแผนการลอบสังหารของลูกเลี้ยง “มาร์คุส จูนิอุส บรูตุส” ขณะอายุได้ 55 ปีในช่วงสายวันที่ 15 มีนาคม 44 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะกำลังยืนอ่านรายงานประชุมสภาเซเนท โดยมีคำพูดสุดท้ายคือ καὶ σύ, τέκνον (kaì sú, téknon) ในภาษากรีก ภาษาของบุคคลชั้นสูงในโรมัน (หรือแปลเป็นภาษาละตินโดยซูเอโทนว่า "Tu quoque, fili" ซึ่งแปลว่า "เจ้าก็ด้วย ลูกชายของข้า")  โดยก่อนเกิดเหตุนั้นได้มีลางร้ายหลายอย่างเกิดขึ้นคือ ก่อนวันเกิดเหตุหนึ่งวัน จู่ๆพายุก็พัดมาอย่างหนักและมีดาวหางปรากฏบนท้องฟ้า ภรรยาของจูเลียสเกิดสังหรณ์ใจไม่ดีจึงห้ามไม่ให้จูเลียสไปประชุมสภาแต่ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีผู้หวังดีแอบส่งจดหมายบอกรายละเอียดแผนการลอบสังหารพร้อมรายชื่อผู้ลอบทำร้ายทั้งหมด แต่จูเลียสกลับไม่สนใจที่จะเปิดอ่าน  และประโยคอมตะสุดท้ายของจูเลียสในสายวันนั้นคือ “เจ้าก็ด้วย ลูกชายของข้า” ซึงต่อมามีผู้นำไปแปลความหมายอย่างหลากหลาย

สุดท้ายตำแหน่งจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมันได้ตกเป็นของ “กายุส ยูลิอุส ไกซาร์ ออกุสตุส” บุตรบุญธรรมที่ถูกวางตัวให้เป็นทายาทการเมืองของจูเลียส ซีซาร์ และถึงแม้ตัวของเขาจะจากไปแต่หากยังทิ้งเรื่องราววีรกรรมอันยิ่งใหญ่ไว้ให้เราได้ศึกษากันจนถึงปัจจุบัน 

อ้างอิง : 

กำเนิดและจุดจบรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ จูเลียส ซีซาร์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2557, จาก: http://blog.eduzones.com/wigi/129866

จูเลียส ซีซาร์. (ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 30 สิงหาคม 2557, จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/

มิสแซฟไฟร์. 2557. จุดจบรัฐบุรุษผุ้ยิ่งใหญ่ “จูเลียส ซีซาร์”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2557, จาก: http://www.thairath.co.th/content/417260


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลงานของมหาบุรุษ “จูเลียส ซีซาร์” (Julius Ceasar)
คลีโอพัตรา (Cleopatra)
จุดจบอันน่าสลดของ จูเลียส ซีซาร์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น