หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

21 ม.ค. 2558

คลีโอพัตรา (Cleopatra)

โดย กานต์พิมล กรไกร

หากจะกล่าวถึงราชินีที่โลกไม่ลืม หลายๆคนคงมีรายชื่อสตรีมากมายที่นึกถึงแต่ถ้าเป็นราชินีในสมัยประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณนั้น เชื่อเป็นแน่ว่าหลายคนคงนึกถึง พระนางคลีโอพัตรา พระราชินีองค์สุดท้ายของอียิปต์ ผู้ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นราชินีผู้เลอโฉม  อีกทั้งประวัติและเรื่องราวของพระนางยังคงเป็นอมตะที่ผู้คนยังคงจดจำและให้ความสนใจ จนได้ถูกถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์เรื่อง คลีโอพัตรา โดยมีอลิซาเบธ เทเลอร์ รับบทเป็นพระนางคลีโอพัตรา

หลักจากมีการค้นพบเหรียญโบราณอายุ 2,000 ปี ที่มีรูปของคลีโอพัตราอยู่ด้านหนึ่งของเหรียญ ตามรูปนั้นแสดงว่าพระนางเป็นสตรีที่มีคางแหลม จมูกแหลม และปากบาง ซึ่งเป็นพระพักต์ที่ดูธรรมดาเหมือนสาวกรีกทั่วไป มิได้เลอโฉมอย่างที่ผู้คนเคยเข้าใจ แต่กระนั้นก็มีบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันสองคนผู้ได้เคยเห็นคลีโอพัตราตัวจริง บันทึกไว้ว่า นางมีลักษณะเหมือนสตรีที่ไร้เดียงสา มีอารมณ์สนุกสนาน วางตัวได้เหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงศักดิ์ มีรูปกายที่งดงาม สมส่วน และมีน้ำเสียงที่อ่อนนุ่ม ถึงแม้จะยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของพระนางแต่เหตุใดพระนางถึงสามารถพิชิตใจขุนศึกแห่งกรุงโรมอย่างจูเลียส ซีซ่าร์ และ มาร์ค แอนโทนีได้




พระนางคลีโอพัตราที่ 7 เป็นพระราชธิดาของฟาโรห์วงศ์ปโทเลมี ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่สืบเชื้อมาจากทหารเอกของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ดังนั้นพระนางจึงไม่ใช่ชาวอียิปต์โดยแท้หากแต่เป็นชาวกรีก-มาเซโดเนีย เมื่อต้องมาอยู่ในดินแดนอียิปต์พระนางจึงทรงศึกษาภาษาอียิปต์จนช่ำชองทั้งการพูดและเขียนอีกทั้งยังรู้ภาษาอื่นๆด้วย เมื่อบิดาสิ้นพระชนม์พระนางได้อภิเษกสมรสกับน้องชายของพระนางเองซึ่งต่อมาขึ้นมาเป็นกษัตริย์สืบแทนพระบิดา

เมื่อทั้งสองต่างต้องการอำนาจเหมือนกันจึงเกิดเรื่องขัดแย้งและโต้เถียงกัน พระนางจึงมองหาตัวช่วยเพื่อกำจัดฟาร์โรซึ่งก็คือพระอนุชาของพระนางเองออกจากบัลลังก์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่โรมเริ่มรุกรานดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียน โดยมี จูเลียส ซีซาร์เป็นแม่ทัพยกทัพมาทางอียิปต์ พระนางเห็นเป็นจังหวะเหมาะถึงจึงลอบเข้าเมืองเพื่อไปหาซีซาร์ มาถึงตอนนี้ที่เห็นในภาพยนตร์คือพระนางคลีโอพัตราซ่อนร่างอยู่ในม้วนพรมแล้วให้ทาสแบกเข้าไปในวังที่ซีซาร์พัก เมื่อคลี่พรมออกก็ปรากฏเรือนร่างเปลือยเปล่าของพระนางออกมาร่ายรำแต่จริงๆ แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ แต่เป็นเพราะการเจรจาที่ฉลาดเฉียบแหลมทางสติปัญญาของพระนางต่างหากที่ทำให้ จูเลียส ซีซาร์ ยอมช่วย

สงครามครั้งแรกระหว่างอียิปต์และโรมันจึงเปิดฉากขึ้น โดยซีซาร์บัญชาการทหารให้ทำลายล้างกองทัพอียิปต์ที่ต่อต้านพระนางคลีโอพัตรา สงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอียิปต์ ทำให้พระนางได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอียิปต์และได้เป็นคู่รักกับจูเลียส ซีซ่า จนมีพระราชโอรสด้วยกันนามว่า ซีซ่าเรียน แต่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งพฤติกรรมของซีซ่าทำให้เหล่าซีเนเตอร์ชาวโรมันกลัวว่าซีซ่าจะแต่งตั้งตนเองเป็นกษัตริย์ และด้วยเกรงว่าโรมันจะตกเป็นของอียิปต์ จึงทำการลอบปลงพระชนต์จูเลียส ซีซ่าและขับไล่ให้พระนางคลีโอพัตรากลับอียิปต์ พระนางและลูกได้กลับเมืองและตั้งหน้าตั้งตาทำนุบำรุงอียิปต์จนมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง



เหตุการณ์บ้านเมืองของอียิปต์เป็นไปอย่างสงบสุข จนเมื่อโรมันได้ส่งขุนพลนามว่ามาร์ค แอนโทนีซึ่งเป็นขุนศึกคู่ใจของซีซ่าคุมกองทัพมาตีเมืองพาร์เธียน เพื่อต้องการความช่วยเหลือด้านเสบียงอาหารจากอียิปต์ จึงส่งสารเชิญพระนางพลีโอพัตรามาพบในเรือ  การพบกันครั้งนี้ทำให้มาร์ค แอนโทนีลุ่มหลงความงามและเสน่ห์อันล้ำลึกของพระนาง ทั้งสองรักกันและอยู่ร่วมกันมาจนพระนางคลีโอพัตราทรงพระครรภ์ แต่ยังไม่ทันคลอด มาร์ค แอนโทนีก็ต้องกลับไปกรุงโรมเพื่อแต่งงานกับสตรีผู้สูงศักดิ์นามว่า ออกตาเวีย มารค์ แอนโทนีซึ่งไม่เคยลืมความรักที่มีต่อพระนางคลีโอพัตราได้ยกทัพมาตีพาเธียนอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เขาตัดสินใจที่จะอยู่กับพระนางที่อียิปต์ ซ้ำยังประกาศหย่าขาดกับภรรยาซึ่งเป็นน้องสาวของออกตาเวียนแม่ทัพใหญ่แห่งโรมัน  เมื่อเป็นเช่นนี้กองทัพของออกตาเวียนจึงเข้ามาล้อมอียิปต์ไว้ มาร์ค แอนโทนีซึ่งอยากเผด็จศึกแย่งชิงอำนาจมาจากออกตาเวียนจึงยกทัพออกไปต่อสู้ แต่กองทัพของมาร์ค แอนโทนีกลับพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ด้วยความเจ็บใจและเสียใจที่เสียรู้เด็กหนุ่มอย่างออกตาเวียน เขาจึงตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง หลังจากที่มาร์ค แอนโทนีเสียชีวิต พระนางคลีโอพัตราก็ได้ปลิดชีพด้วยการนำงูพิษมากัดตนเองจนสิ้นพระชนม์

นอกจากพระนางคลีโอพัตราจะมีความงามและทรงเสน่ห์อย่างมากแล้วพระนางยังมีความฉลาดหลักแหลม และถึงแม้พระนางจะไม่ได้เป็นชาวอียิปต์โดยชาติกำเนิด แต่ก็ทรงรักบ้านเมืองและทำทุกวิถีทางเพื่อให้บ้านเมืองของตนเองอยู่รอด เรื่องราวของพระนางคลีโอพัตรราชินีองค์สุดท้ายของอียิปต์จึงจบสิ้นลงไปพร้อมๆกับการปิดฉากอาณาจักรอียิปต์โบราณ

อ้างอิง

กฤษดา ศิรามพุช.  ปมมรณะเหตุกาณร์ช็อกโลก 2.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร : ฐานบุ๊ค.
     2552

“กระชากหน้ากากพระนางคลีโอพัตรา” .  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก http://www.thairath.co.th/content/433637

เกร์รี เบลีย์ และคาเรน ฟอสเตอร์.  เหรียญที่ระลึกคลีโอพัตรา.  แปลโดย มยุรี วีระประเสริฐ.
     กรุงเทพมหานคร : แฮปปี้คิดส์,  2551

มานพ ถนอมศรี.  ราชา-ราชินีที่โลกไม่ลืม.  กรุงเทพมหานคร : ฐานบุ๊คส์.  2552


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น