หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

21 ธ.ค. 2561

ชินคอร์โร (Chinchorro) มัมมี่ที่แก่ที่สุดในโลก

โดย นริศรา  แม้นจิต

เรามักจะเชื่อกันว่ามัมมี่ของอียิปต์โบราณถือเป็นมัมมี่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก แต่อย่างไรก็ยังเก่าแก่ไม่เท่ามัมมี่ชินคอร์โร ชินคอร์โร (Chinchorro) เป็นชื่อวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองอยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลีและตอนใต้ของประเทศเปรู บริเวณทะเลทรายอะตาคามา (Atacama)ในช่วงราว 9,000 ถึง 3,500 ปีมาแล้ว ซึ่งชนเผ่าชินคอร์โรนั้นหาเลี้ยงชีพด้วยการตกปลา หาของป่าและล่าสัตว์ ซึ่งมีการค้นพบหลักฐานจากวัฒนธรรมชินคอร์โรหลายชิ้น แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ “มัมมี่” เรียกได้ว่ามัมมี่ของวัฒนธรรมชินคอร์โรในประเทศชิลีนี้เก่าแก่กว่ามัมมี่ของอียิปต์โบราณที่เราคุ้นเคยกันดีถึงกว่าสองพันปี


ที่มา : http://www.flagfrog.com/

มัมมี่ชินคอร์โรถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวเยอรมันนามว่า Max Uhle เมื่อ ค.ศ.1917 ซึ่งการขุดพบนั้นแสดงให้เห็นว่ามัมมี่ดังกล่าวถูกแพร่กระจายไปตามแนวชายฝั่งฝั่งทะเลทรายอาตาคามาตอนเหนือของชิลีและตอนใต้ของเปรู แต่ถึงอย่างนั้นการค้นพบมัมมี่ชินคอร์โรครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดกลับเกิดขึ้นใน ค.ศ.1983 การค้นพบนี้ไม่ได้เกิดจากนักโบราณคดี แต่พบโดยบริษัทจัดการน้ำแห่งหนึ่งที่กำลังขุดพื้นดินเพื่อวางท่อส่งน้ำ เมื่อคนงานขุดดินลึกลงไปได้ประมาณเกือบหนึ่งเมตร ก็ได้พบเข้ากับสุสานขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยมัมมี่ พวกเขาจึงได้เรียกให้ทีมนักโบราณคดีเข้ามาทำการตรวจสอบ ซึ่งสุดท้ายก็พบว่ามันคือมัมมี่ดึกดำบรรพ์ของวัฒนธรรมชินคอร์โรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกนี่เอง

 จากการค้นพบมัมมี่ ชินคอร์โรนี้ นักโราณคดีได้กำหนดอายุของของมัมมี่ที่ได้ค้นพบซึ่งสามารถระบุอายุกลับไปได้ถึงประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือเมื่อกว่า 7,000 ปีมาแล้วโดยการกำหนดจากสภาพของการรักษาศพของมัมมี่ไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยและอธิบายได้ว่า การทำมัมมี่ของที่นี่มีความแตกต่างจากการทำมัมมี่ของอียิปต์โบราณโดยชาวชินคอร์โรโบราณจะทำมัมมี่ให้กับสมาชิกทุกคนในสังคมและรวมถึงชายหญิงผู้สูงอายุเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดโดยไม่มีการแบ่งชนชั้น  มัมมี่เกือบสามร้อยศพทั้งบุรุษ สตรี คนชรา หรือแม้แต่เด็กทารกล้วนแล้วแต่ได้รับการทำมัมมี่อย่างประณีตไม่ต่างกัน เพื่อรักษาสภาพศพไว้ให้ได้นานที่สุด แต่สำหรับมัมมี่อิยิปต์จะทำกับชนชั้นสูงเท่านั้น

นักโบราณคดีเสนอว่าชาววัฒนธรรมชินคอร์โรนั้นมีความเชื่อที่ว่ามัมมี่เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกของคนเป็นกับโลกแห่งพลังเหนือธรรมชาติของคนตาย นั่นจึงทำให้พวกเขาตระเตรียมศพของผู้เป็นที่รักเอาไว้อย่างดีเพื่อให้เขาเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางไปยังโลกหน้า ซึ่งต่างกันกับมัมมี่ของอิยิปต์โบารณ เน้นไปในเรื่องพิธีกรรม และความเชื่อหลังความตาย และเชื่อว่าสักวันวิณญาณจะกลับมาคืนร่าง

โดยเทคนิคกระบวนการทำมัมมี่ของชาวชินคอร์โรนักโบราณคดีเชื่อว่ามีสองวิธีที่พบมากที่สุด คือ Black Mummy (มัมมี่ดำ) และ Red Mummy (มัมมี่แดง) ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป หลังจากนั้นวัฒนธรรมการทำมัมมี่ของชาวชินคอร์โรก็ค่อยๆ หายสาบสูญไปในที่สุด และเป็นกรรมวิธีที่แตกต่างจากหารทำมัมมี่ของอียิปต์ที่เราคุ้นเคยกันโดยสิ้นเชิง



เทคนิค Black Mummy ถูกใช้ตั้งแต่ประมาณ 5000 ปีก่อนคริสต์ศักราชไปจนถึง 3000 ปีก่อนคริสต์ศักราช คือการทำความสะอาดร่างกายของศพ หลังจากนั้นก็ “ตัดศีรษะ แขน และขา” ของผู้ตายออกก่อน จากนั้นเมื่อร่างกายแห้งสนิทแล้ว ก็จะควักเครื่องในออกจากร่าง กะโหลกศีรษะถูกตัดไปครึ่งทางประมาณระดับสายตาเพื่อที่จะเอาสมองออก แต่บางครั้งก็พบว่ากะโหลกของมัมมี่ชินคอร์โรหลายร่างยังคงสภาพดี นั่นหมายความว่าผู้ทำศพไม่ได้ทำการตัดแบ่งกะโหลกเสมอไป แต่อาจจะใช้วิธีตักสมองออกไปทางช่องเปิดขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณฐานของกะโหลกศีรษะหรือที่เรียกว่า “ฟอราเมน แมกนัม” (Foramen Magnum) ก็เป็นได้

ในส่วนของลำตัวก็จะค่อยๆ ใช้มีดหินอันคมกริบค่อยๆ แล่หนังและเนื้อออกจากกระดูก ดวงตาจะถูกควักออกมา แขนและขาก็จะถูกตัดแยกชิ้นส่วนออกมาจากลำตัว ส่วนมือและเท้าจะยังคงปล่อยเอาไว้ให้เชื่อมติดกับขาและแขนเหมือนเดิม เสร็จแล้วก็จะนำเอาหนังของศพที่เพิ่งแล่เสร็จไปแช่ในน้ำทะเลเพื่อให้มันนุ่มและพร้อมนำกลับมาห่อหุ้มให้กับศพอีกครั้ง หลังจากนั้นก็ยัดฟางหรือบ้างก็เป็นขี้เถ้าจากก้นเตาเข้าไปด้านในกะโหลก แล้วจัดแจงนำเอาอวัยวะต่างๆ ที่ตัดออกไปเข้ามาเชื่อมต่อกันไว้เหมือนเดิม โดยใช้ไม้ค้ำกับกระดูกแขนและขา บ้างก็นำเอาดินเหนียวและขนนกมายัดเอาไว้ในร่างกายเพื่อเติมเต็มช่องว่างของศพ หลังจากนั้นก็จะทำการทาศพด้วยแมงกานีสสีดำ อันเป็นที่มาของชื่อมัมมี่ดำนั่นเอง



เทคนิค Red Mummy ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ 2500 ถึง 2000 ก่อนคริสต์ศักราชนี่เป็นวิธีที่แตกต่างไปจากเทคนิค Black Mummy อย่างสิ้นเชิงเนื่องจาก ชาวChinchorros จะไม่มีตัดหรือแยกส่วนต่างๆของร่างออกมา เขาจะลอกหนังออกมากองตรงส่วนข้อเท้า(เหมือนม้วนถุงเท้าลงมาที่ข้อเท้า) และจะใช้มีดเฉือนศพออกเป็นแนวยาวควักเอาอวัยวะภายในออกมา แล้วก็นำร่างไปทำให้แห้งด้วยถ่านร้อนๆและมีการ “เย็บ” ช่องเปิดกลับคืนไปด้วยเส้นผมของมนุษย์โดยนำหนามจากต้นกระบองเพชรมาใช้แทนเข็มเย็บผ้าอีกด้วย และใบหน้ามักจะถูกวาดด้วยดินเทศ (Red Ochre)


ที่มา : https://www.livescience.com/

ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา   Harvard Ralph Mitchell  อธิบายว่า มัมมี่กำลังกลายสภาพเป็นเมือกดำเพราะเริ่มถูกแบคทีเรียกัดกินผิวหนัง ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมามัมมี่เหล่านี้ยังคงแห้งอยู่ได้เพราะภูมิอากาศแบบทะเลทรายได้ช่วยรักษาสภาพศพเอาไว้ แต่เมื่อนำมัมมี่ออกมาเจอกับความชื้นและอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปจึงทำให้แบคทีเรียเริ่มลุกลามและสร้างความเสียหายให้กับมัมมี่ดังกล่าวแต่ถึงอย่างนั้นนักโบราณคดีและนักชีววิทยาก็กำลังคิดหาวิธีที่จะควบคุมความชื้นและอุณหภูมิแวดล้อมเผื่อช่วยรักษาสภาพของมัมมี่ชินคอร์โรเอาไว้ให้ได้ อีกทั้งยังมีการยื่นเสนอขึ้นทะเบียนให้มัมมี่ชินคอร์โรเป็นมรดกของโลกกับทางองค์การยูเนสโกอีกด้วย

ปัจจุบันมัมมี่ชินคอร์โร ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อะซาปัส ซาน มิเกล (Azapas San Miguel) ในเมืองอาริกา ทางตอนเหนือของประเทศชิลี เพื่อเป็นการอนุรักษ์มัมมี่ดึกดำบรรพ์ของวัฒนธรรมชินคอร์โรเอาไว้ให้สมบูรณที่สุด เพื่อที่จะให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงความเป็นมาและวิธีการทำมัมมี่ในอดีตที่หาชมสิ่งเหล่านี้ได้ยาก และเพื่อที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมหรืออารยธรรมโบราณนี้ให้คงอยู่ยาวนาน


อ้างอิง

ณัฐพล เดชขจร.(2560).ชินคอร์โร มัมมี่เก่าแก่ที่สุดในโลก. (ออนไลน์).สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2561, จาก: http://www.gypzyworld.com/article/view/685

Laura Geggel and Senior Writer. (2015).Ancient Chilean Mummies Now Turning into Black Ooze: Here's Why. (online),Retrieved  21 september 2018, from:  https://www.livescience.com/50090-chinchorro-mummies-chile.html

Ancient Origins.(2014).The 7,000-Year-Old Chinchorro Mummies of the Andes. (online), Retrieved 21 september  2018, from: https://www.ancient-origins.net/ancient-places-americas/7000-year-old-chinchorro-mummies-andes-001947?nopaging=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น