หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

2 มิ.ย. 2560

คดีล่าแม่มดแห่งเมืองซาเล็ม รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ปี 1692

โดย นครินทร์ พิมพ์พัฒน์

ในอดีตมีความเชื่อว่า “แม่มด” คือผู้ที่ถูกซาตานชักจูงสู่ความมืดและทำให้กลายเป็นปีศาจ การสำส่อนทางเพศ  ความอ่อนแอ และตัณหาราคะเป็นประตูสู่พลังแห่งแม่มดและทำให้ซาตานมีร่างเนื้อ แม่มดสามารถใช้คาถาที่ทำให้เกิดโรคและความตายได้ ยิ่งมีแม่มดมากขึ้นเท่าใดอิทธิพลของซาตานก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเท่านั้น หากมนุษย์นิ่งเฉยอยู่ท้ายที่สุดแผ่นดินจะถูกครองด้วยแม่มด เหตุนี้เองจึงทำให้การล่าแม่มดอุบัติขึ้น

ความคิดแรกในการต่อต้านแม่มดเกิดในกลางปี ค.ศ. 1300 เป็นเพียงการพยายามกำจัดเวทย์มนต์ของพวก pagan (พวกนอกศาสนา) ที่เป็นเรื่องเรียกลมเรียกฝน รักษาหรือทำร้ายคน จนต่อมาได้แปลงความเชื่อจากพวกนอกศาสนามาเป็นสมุนของซาตาน

การล่าแม่มดแพร่หลายในช่วง ค.ศ. 1500 – 1700  ความคิดและต้นแบบส่วนใหญ่มาจากคัมภีร์ล่าแม่มดที่ชื่อว่า “malleus  maleficarum”  การล่าที่ยาวนานดำเนินมาจนกระทั่งถึงยุคสิ้นสุด การล่าครั้งสุดท้ายที่หลายคนยกให้เป็นโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นในเมืองซาเล็ม  รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 1692 หรือที่หลายคนรู้จักดีใน “คดีล่าแม่มดแห่งซาเล็ม”


Examination of a Witch in salem 

เหตุการณ์ล่าแม่มดในซาเล็มเกิดขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างชายแดนและความขัดแย้งในชุมชน รวมถึงการแย่งอำนาจของสองตระกูล Putnams และ The Porters ซึ่ง  Samuel Parris  ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีท้องถิ่นในสมัยนั้น                                                                                                                                                  
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1692 ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัดผิดปกติ Tituba (ทาสของSamuel Parris), Sarah Good (ขอทาน) และ Sarah Osborn (หญิงชราที่ไม่เข้าโบสถ์) กลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด เมื่อ Betty ลูกสาวของ  Samuel Parris มีอาการป่วยอย่างประหลาด เธอกินไม่ได้นอนไม่หลับ มีอาการชักและกรีดร้องด้วยความทรมาน  หลังจากนั้นอีกไม่นาน เด็กสาวอีก 4 คนรวมทั้ง Ann Putnam ก็ป่วยด้วยอาการเดียวกัน   หมอ William Griggs ยืนยันว่าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติจึงทำให้ผู้คนเชื่อว่าเป็นฝีมือของแม่มดเพราะจากความชื่อที่ว่าแม่มดจะเลือกเป้าหมายที่เป็นเด็กนั่นเอง

Tituba กลายเป็นคนน่าสงสัยที่สุดเพราะเธอเป็นทาสที่มาจากเผ่าอื่นซึ่งอาจนำศาสตร์มืดเข้ามา Mary  Sibley  จึงเสนอวิธีตามล่าแม่มดโดยเธอให้  Tituba อบเค้กข้าวไรซ์กับปัสสาวะของผู้ป่วยให้สุนัขกิน  เพราะหลายคนเชื่อว่าสุนัขคือสัตว์พาหะที่นำพาสิ่งชั่วร้ายจากซาตานมา  ซึ่งต่อมาพบว่าเด็กที่ป่วยมีมากขึ้น จนเมื่อถึงวันไต่สวนผู้ต้องสงสัย  เด็กหญิงที่ป่วยก็ล้มลงไปชักดิ้นชักงอกับพื้นพร้อมทั้งบอกว่าโดนปีศาจของแม่มดสามตนนี้ทำร้าย ชาวบ้านบางส่วนก็อ้างว่าเนยและชีสหายไป สัตว์เลี้ยงเกิดมาผิดปกติหลังจากพบเจอกับผู้ถูกต้องสงสัย

การไต่สวนถูกถามด้วยคำถามเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาจน Tituba สารภาพว่า เธอ Good และ Osborn เป็นแม่มด เธอเล่าว่าเธอทำสัญญากับซาตานที่เป็นชายร่างสูงจาก Boston บางครั้งก็จะมาในรูปของสุนัข บางครั้งก็มาในรูปหมู ซึ่งหลังจากการสารภาพครั้งนี้ ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแม่มดก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


ภาพของหญิงสาวที่ล้มลงไปชักกับพื้นขณะทำการไต่สวน 
ที่มา https://newsela.com/

20 มีนาคม 1692  Martha Corey, Rebecca Nurse, Sarah Cloyce, และ Mary Easty ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดด้วย  ในเวลาถัดมา  Dorcas Good ลูกสาวของ Sarah Good ต้องติดคุกนานถึง 8 เดือนเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดในวัยแค่ 4 ขวบ

ท่ามกลางความวุ่นวายในการตามล่าตัวแม่มด Governor Phips และพรรคพวกของ Cotton Mather หนึ่งในนั้นคือ William Stoughton ซึ่งเป็นคนที่คลั่งไคล้การล่าแม่มดมาก ได้ตั้งศาลตัดสินคดีแม่มดขึ้น โดยใช้วิธี “touching test” คือการให้ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแม่มดสัมผัสกับผู้ป่วย หากผู้ป่วยหยุดการชักทันทีหรือแสดงอาการแปลกออกมาแสดงว่าคนนั้นคือแม่มด และ “witches' marks” โดยการตรวจหาสัญลักษณ์ของแม่มดบนร่างกาย เช่น การเกิดเนื้องอกแปลกๆ หรือ ไฝ                                                    
คดีสำคัญและถือเป็นคดีแรกที่มีการไต่สวนหลังจากตั้งศาลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1692 คือคดีของหญิงที่เป็นที่เคารพของชาวบ้านที่ชื่อ Bridget Bishop

Bridget Bishop ถูกฟ้องร้องโดย Thomas Newton พยานของเขาเล่าว่า Bishop ขโมยไข่และกลายร่างเป็นแมว ชาวบ้านที่ชื่อ Samuel Grey ยังกล่าวต่อศาลว่าเธอปรากฏตัวตอนดึกในห้องนอนเขาและทำให้เขาทรมานเป็นอย่างมาก กลุ่มคณะลูกขุนผู้หญิงนำตัวเธอไปตรวจสอบและพบก้อนเนื้องอกออกมาจากตัวเธอ จนท้ายที่สุดเธอถูกตัดสินว่าเป็นแม่มดและถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอที่ Gallows Hill ในวันที่ 10 กรกฎาคม 1692 ท่ามกลางหลายเสียงที่ไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นไม่นานก็มีการตัดสินโทษประหารเพิ่มอีก 5 รายในวันที่ 19 กรกฎาคม 1692 หนึ่งในนั้นคือ Rebecca Nurse บุคคลที่หลายคนนับถือ


Hanging of  Bridget Bishop

ในขณะที่ความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทุกที่ในซาเล็ม John Proctor เป็นคนเดียวที่ต่อต้านการล่าแม่มดอย่างเปิดเผย จนกระทั่งเขาและภรรยาถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดโดย Ann Putnam, Abagail Williams, Indian John และ Elizabeth Booth  เขาได้ขอให้ย้ายการไต่สวนไปที่ Boston แต่ไม่เป็นผล ท้ายที่สุดเขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ภรรยาของเขาถูกเว้นโทษประหารเนื่องจากตั้งครรภ์อยู่ในขณะนั้น

แม้จะสามารถปลิดชีพแม่มดไปได้หลายราย แต่การล่ายังคงไม่สิ้นสุดเมื่อ George Burroughs ถูกพยานหลายคนกล่าวว่าเขาเป็นหัวหน้าของเหล่าแม่มดและถูกตัดสินแขวนคอในที่สุด ส่วน Giles Corey เป็นเหยื่อเพียงรายเดียวที่ไม่ถูกแขวนคอแต่ถูกหินวางทับร่างทีละก้อนจนเสียชีวิตขณะไต่สวน และเหยื่อกลุ่มสุดท้ายจำนวน 8 คนถูกแขวนคอที่ Gallows Hill เมื่อวันที่ 22 กันยายน  1692

ช่วงฤดูใบไม้ร่วง  มีหลายคนให้การต่อต้านและกระตุ้นให้ศาลยกเลิกการใช้หลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ บางคนใช้งานเขียนในการแสดงความไม่เห็นด้วย เช่นผลงาน Cases of Conscience ของ Increase Mather ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ปล่อยให้แม่มด 10 ตนหนีไปได้ ดีกว่าการที่คนบริสุทธิ์ 1 คนต้องถูกกล่าวโทษ” ท้ายที่สุด Phips ได้ยกเลิกศาลตัดสินแม่มดลง   และได้มีการปล่อยตัวนักโทษที่ยังคงติดค้างอยู่ในคุกซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100-200 คน ในเดือนพฤษภาคม 1693  
                                                 
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกแขวนคอ 19 คน ถูกหินทับ 1 คน เสียชีวิตภายในคุกอีก 4 คน และมีสุนัขอีก 2 ตัวที่ถูกสำเร็จโทษข้อหาสมรู้ร่วมคิด  ซึ่งจากนั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์ในซาเล็มก็ค่อยๆสงบลง ความรู้ที่หลั่งไหลเข้ามาเริ่มพัฒนาซาเล็มให้เจริญขึ้นเรื่อยๆตามกาลเวลา

และถึงแม้การล่าแม่มดจะยุติลงในท้ายที่สุด แต่ก็มีผู้บริสุทธิ์หลายคนจบชีวิตลง กระทั่งผู้รอดชีวิตบางคนก็ต้องสูญเสียคนที่รักไป  ชีวิตของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายยังคงย้ำเตือนเราถึงความหละหลวมของการใช้ระบบยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น และถึงแม้ทั้งหมดจะฝากรอยแผลไว้ให้ซาเล็มและโลกใบนี้ได้ลึกเพียงใด แต่มันจะไม่มีค่าอะไรเลยหากเราไม่รู้จักเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เฉกเช่นนี้อุบัติซ้ำขึ้นอีก


อ้างอิง

ตำนานล่าแม่มด. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์, 2560, จาก: https://www.youtube.com/watch?v=MoeHWnT2HcA&t=350s

Douglas O. Linder. (2009). An Account of Events in Salem. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์, 2560, จาก Famous Trials: http://law2.umkc.edu/faculty/projects/ftrials/ftrials.htm

Salem witch trials. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์, 2560, จาก: https://en.wikipedia.org/wiki/Salem_witch_trials


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น