หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

17 ก.ย. 2557

การทำมัมมี่ของชาวอียิปต์โบราณ

โดย ญาณิชศา   ประสพผล

ดังเช่นกับที่หลายท่านทราบอยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่ามัมมี่นั้น เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณ โดยเชื่อกันว่าคนเรานั้นจะสามารถฟื้นจากความตายแล้วกลับเข้ามาที่ร่างไร้วิญญาณของตนเองได้อีกครั้ง จึงทำให้เกิดการถนอมรักษาร่างนั้นๆไว้ให้คงอยู่ในสภาพเดิมให้ได้นานที่สุด และไม่ใช่ว่าทุกคนในอียิปต์นั้นจะสามารถทำมัมมี่ได้ทุกคน เพราะวิธีการนั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างที่จะสลับซับซ้อน โดยวิธีการทำมัมมี่มีมากถึง 13 ขั้นตอนด้วยกัน และในวันนี้เราจะเจาะลึกถึงวิธีการทำมัมมี่ ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าหลายๆท่านยังไม่เคยทราบมาก่อน




แต่ก่อนอื่นนั้นทุกท่านรู้หรือไม่ว่าต้นกำเนิดของการทำมัมมี่นั้นมาจากที่ไหน มีตำนานกล่าวว่าการทำมัมมี่นั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากโลกมนุษย์หากแต่เริ่มบนสรวงสวรรค์ โดยเทพองค์หนึ่งซึ่งเราคงจะเคยทราบกันมาบ้าง นั่นก็คือเทพอนูบีส หรือเทพที่มีเศียรเป็นหัวสุนัขไน  ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่เทพโอซิริสถูกเซต ผู้เป็นน้องชายหักหลัง และศพได้ถูกฉีกเป็นชิ้นๆ 14 ชิ้นกระจายไปทั่วอียิปต์ หลังจากที่ไอซิส มเหสีของเทพโอซิลิสทำการรวบรวมชิ้นส่วนได้ครบแล้ว เทพอนูบีสจึงนำชิ้นส่วนมาต่อกันแล้วพันด้วยผ้าลินินจนแน่นทั้งตัว จนเกิดเป็นมัมมี่องค์แรก และเทพีไอซิสได้จุมพิตมัมมี่นั้น ทำให้เทพโอซิริสมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกครั้งที่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย จะต้องมีเทพอนูบีสอยู่เสมอๆ

เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่าวิธีการทำมัมมี่จะมีขั้นตอนมากถึง 13 ขั้นตอน โดยผู้ที่จะทำได้นั่น จำเป็นที่จะต้องมีความชำนาญช่ำชองมากเป็นพิเศษ สำหรับผู้ที่จะสามารถทำมัมมี่ให้แก่ฟาโรห์ได้จะต้องเป็นนักบวชระดับสูงในราชสำนักหรือบุคคลสำคัญเท่านั้น  โดยจะต้องสวมหน้ากากหัวสุนัขไน เพื่อเป็นตัวแทนของเทพอนูบีส ตลอดการทำพิธีดังกล่าว  และต่อไปนี้จะเป็นการกล่าวถึงขั้นตอนการทำอย่างละเอียดของการทำมัมมี่ โดยจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ช่วงดังนี้

ช่วงเตรียมศพ

อันดับแรก เราจะนำศพไปที่เต็นท์ หรือ “อีบู” (หมายความว่า สถานที่ชำระศพให้บริสุทธิ์) โดยผู้ที่ทำมัมมี่จะอาบศพด้วยเหล้าที่ทำขึ้นจากน้ำตาลสด และทำการล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำไนล์

ขั้นตอนที่สอง จะทำการผ่าท้องด้านซ้ายขอศพเพื่อที่จะเอาอวัยวะภายในออกมาทั้งหมด ด้วยว่าจะเน่าสลายเป็นสิ่งแรกเพราะมีความชื้นสูง จะเหลือไว้เพียงหัวใจ เพราะเชื่อว่าเป็นศูนย์รวมทุกอย่างของผู้ตายทั้งปัญญาและการรับรู้ต่างๆ

ช่วงทำให้ศพแห้ง

ขั้นตอนที่สาม จะนำตับ ปอด กระเพาะ และลำไส้ มาล้างจนสะอาด แล้วนำไปฝังในเกลือโซเดียมคาร์บอร์เนต ในสมัยนั้นเรียกว่า “Natron” หลังจากนั้นก็จะทำการสอดตะขอเข้าทางโพรงจมูก เพื่อเกี่ยวเอาเนื้อสมองออกมา เพราะมีความชื้นสูงเหมือนกับอวัยวะภายในอื่นๆ

ขั้นตอนที่สี่ นำศพไปวางในเกลือเม็ดเช่นเดียวกับอวัยวะภายในจนกว่าจะแห้ง โดยของเหลวจากร่างกายและผ้าที่ใช้ในการเตรียมจะได้รับการเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี และจะฝังไปพร้อมกับศพ

ขั้นตอนที่ห้า จะใส่เกลือเม็ดเอาไว้ในช่องว่างของศพ เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ที่จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเน่าเปื่อย

ขั้นตอนที่หก  หลังจากที่ศพถูกแช่เกลือครบ 14 วัน จนแห้งสนิทแล้ว ก็จะล้างด้วยแม่น้ำไนล์อีกรอบ แล้วทาเคลือบด้วยน้ำมันให้ผิวหนังหนุ่มไม่แห้ง

ช่วงทำให้กลับสู่ภาพเดิม

ขั้นตอนที่เจ็ด อวัยวะภายในทั้งหมดที่ถูกนำออกไป จะถูกใส่กลับเข้ามาไว้เหมือนเดิม

ขั้นตอนที่แปด  เพื่อให้มีสภาพเหมือนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ดูซูบผอม จึงเอาขี้เลื่อยและผ้าลินินยัดไว้ในส่วนที่ว่างของศพ

ขั้นตอนที่เก้า ทำความสะอาดศพด้วยน้ำมันหอมอีกครั้ง ก่อนที่จะนำไปพันด้วยผ้าลินินอย่างดี

ช่วงการพันผ้ามัมมี่

ขั้นตอนที่สิบ เริ่มพันที่ศีรษะคอนิ้วมือนิ้วเท้าแยกทีละนิ้ว ตามลำดับดับ จึงจะเริ่มพันแขนขา ซึ่งในระหว่างการพันผ้ามัมมี่นั้นก็จะมีการท่องมนต์ และใส่เครื่องรางในแต่ละชั้น เชื่อว่าจะปัดเป่าสิ่งเลวร้าย คุ้มครองผู้ตายระหว่างเดินทางไปสู่ภพใหม่ได้อย่างสะดวก

ขั้นตอนที่สิบเอ็ด แขนขาจะถูกพันเข้ากับตัวอีกหนึ่งชั้น รวมถึง “มนตราสำหรับผู้ตาย” ก็จะถูกวางไว้ในมือของศพแล้วพันไปด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนที่สิบสอง พันผ้าอีกชั้นเพื่อรวมทุกส่วนรวมกันหมด แล้วแต่ละชั้นนั้นจะถูกทาด้วยเรซิน เพื่อไม่ให้ผ้าหลุดออกจากกัน หลังจากนั้นจะห่อด้วยผ้าผืนใหญ่อีกผืน และวาดรูปเทพโอซีรีสบนผ้านั้น

ขั้นตอนที่สิบสาม  นำผ้าผืนใหญ่ห่ออีกหนึ่งชั้น แล้วมัดตราสังข์ด้วยแถบผ้าลินินทั่วทั้งตัวศพอีกครั้ง จากนั้นก็นำแผ่นไม้กระดานปิดด้านบนของมัมมี่ จึงเอาไปใส่โลงที่ซ้อนกันสองชั้นในพิธีศพ และนำโลงไปใส่โลงหินแกะสลักอีกที



จริงอยู่ที่การทำมัมมี่นั้นเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อย แต่อีกขั้นตอนที่สำคัญคือการฝังมัมมี่นั่นเอง โดยในการฝังจะมีเสื้อผ้า ของมีค่าต่างๆของผู้ตาย ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้ผู้ตายเอาไว้ใช้ระหว่างทางไปสู่ปรโลก หรือถ้าจะเรียกให้เข้าใจกันอย่างง่ายก็คือเป็นเสบียงชั้นดีของผู้ตายนั่นเอง แต่บางทฤษฎีก็ได้กล่าวไว้ว่า  ตับ ปอด ลำไส้ และกระเพาะ ของผู้ตายไม่ได้ถูกนำกลับไปใส่ไว้ในร่างเหมือนเดิม แต่กลับนำไปใส่ในโถดินเผาอย่างละใบ โดยจะวางไว้ใต้แท่นวางโลงศพ

เรื่องของมัมมี่นั้นเรียกไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเราแม้แต่น้อย  เรียกได้ว่าไกลตัวเสียเลยก็ยังได้ แต่เราต่างคนต่างที่ ต่างศาสนา จึงไม่แปลกที่เราจะมีความเชื่อและวิธีการถ่ายทอดออกมาแตกต่างกัน แต่ก็ใช่ว่าเราจะศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อนำมาประดับความรู้ของเราไม่ได้ และแน่นอนว่ายังคงมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ตลอดจนปริศนาอีกมากมายเกี่ยวกับดินแดนแห่งฟาโรห์ให้เราได้ค้นหาต่อไปไม่รู้จบ


อ้างอิง

ไทยรัฐออนไลน์.  " มัมมี่ (Mummy) " ปริศนามนุษย์พันปี.  [ออนไลน์].   เข้าถึงได้จาก : http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2855.  (วันที่ค้นข้อมูล : 12 กันยายน 2557).

Dariffarah.100 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมัมมี่.  [ออนไลน์].เข้าถึงได้จาก :  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=790002.  (วันที่ค้นข้อมูล : 12 กันยายน 2557).

วิชัย ธาราเย็น.วิธีการทำมัมมี่.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : http://www.thaigoodview.com/node/19434.  (วันที่ค้นข้อมูล : 12 กันยายน 2557).

smileclub.ความลับของเทพผู้ทำมัมมี่.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: http://wonder-of-theworld.blogspot.com/2012/04/blog-post_6354.html.  (วันที่ค้นข้อมูล : 16กันยายน 2557).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น