หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

16 ก.ย. 2557

บูเช็คเทียน หงส์เหนือมังกร

โดย วรวุฒิ พวงในเมือง

เป็นเวลายาวนานนับหลายพันปีแล้ว ที่อารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำฮวงโหเจริญรุ่งเรืองกำเนิดเป็นมหาอาณาจักรแห่งโลกตะวันออกหรือก็คือ จักรวรรดิจีน  ซึ่งมีพระจักรพรรดิหรือองค์ฮ่องเต้เป็นประมุขและมีจักรพรรดินีหรือฮองเฮาเป็นแม่เมือง วัฒนธรรมจีนโบราณนั้นให้ความสำคัญกับบุรุษเพศมากกว่าสตรีเสมอซึ่งถือว่าบุรุษเป็นช้างเท้าหน้าและปกครองผู้คนในบ้านส่วนภรรยามีหน้าที่ต้องปรนนิบัติและเลี้ยงดูอบรมลูกเท่านั้นไม่มีสิทธิ์มีเสียงมากนัก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นจารีตที่ปฏิบัติกันมาทุกบ้านตั้งแต่ในวังจนถึงประชาชนธรรมดาสามัญ


แต่ไม่ใช่สำหรับสตรีผู้นี้”บูเช็คเทียน” สตรีผู้ผันตนเองขึ้นมาเป็นจักรพรรดินีนารถ (สตรีที่มีอำนาจในการปกครองเป็นประมุขจะต้องมีคำว่านารถลงท้ายพระราชอิสริยยศ เช่น พระราชินีนารถเอลิซาเบธที่สอง หากเป็นเพียงราชินี จะมีศักดิ์เพียงภรรยาของพระราชาเท่านั้นไม่มีสิทธ์มาก้าวก่ายการปกครอง) เป็นหงส์เหนือบัลลังก์มังกร มีอำนาจเหนือบุรุษใดในแผ่นดินจีน ความเป็นมาของพระองค์เป็นอย่างไร เหตุใดพระนางจึงได้แหวกจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปีของมหาจักรวรรดิที่ขึ้นชื่อติดอันดับต้นๆ ของความเป็นอนุรักษ์นิยม เราจะมาทำความรู้จักพระนางไปพร้อมๆกันค่ะ




สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็คเทียนมีพระนามเดิมว่า บูเม่ยเหนียง (หรือ อู่เม่ยเหนียงตามสำเนียงจีนกลาง) เสด็จพระราชสมภพที่เมืองฉางอัน รัชสมัยพระเจ้าถังไท่จง รัชการที่สองแห่งราชวงศ์ถัง(ค.ศ.626-649) นางเป็นธิดาของข้าราชการนามว่าบูซื่อย้วยและคุณนายหยางซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เก่าของราชวงศ์สุ่ย นางหยางเป็นพระราชนัดดาห่างๆ กับพระเจ้าสุ่ยหยางตี้จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์สุ่ยก่อนผลัดแผ่นดินมาเป็นต้าถัง คุณนายหยางเป็นเพียงภรรยาลำดับสองแต่กระนั้นบิดาของบูเม่ยเหนียงก็รักและเชิดชูนางมากเนื่องจากเป็นเชื่อพระวงศ์เก่า สร้างความไม่พอใจแก่ภรรยาลำดับหนึ่งเป็นอย่างมากนางจึงคอยหาเรื่องเหยียดหยามเมื่อพบหน้าคุณนายหยางและบุตรีทุกครั้งไป ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างแผลใจและฝังอุปนิสัยทะเยอทะยานเพื่อที่จะอยู่เหนือผู้อื่นของบูเม่ยเหนียงตั้งแต่ครานั้นก็เป็นได้

ครั้นนางอายุได้สิบสี่ปี อูเม่ยเหนียงเติบโตขึ้นเป็นหญิงงามที่ร่ำลือกล่าวขานในนครฉางอัน หนทางก้าวเข้าสู่อำนาจก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อนางได้มีโอกาสถวายตัวเป็นถึงพระสนมในพระเจ้าถังไท่จง แม้นางจะเป็นพระสนมของถังไท่จงแต่นางก็แอบมีใจให้กับหลี่จื้อ (ภายหลังคือพระเจ้าถังเกาจง) องค์ชายสามในจักรพรรดินีฉางซุน แต่พระนางก็หาได้ผิดจารีตไม่ ทรงรอคอยอย่างเงียบๆ ในครานั้นโอรสองค์โตของพระเจ้าถังไท่จง พระนามว่า หลี่เฉิงเฉียน และโอรสองค์รอง หลี่ไท่ ได้แก่งแย่งชิงดีในตำแหน่งรัชทายาทมาตลอด สุดท้ายพระเจ้าถังไท่จงกลับเลือกหลี่จื้อเป็นองค์รัชทายาทแทน เนื่องจากองค์โตนั้นวางแผนกบฏเพื่อจะกำจัดหลี่ไท่จึงทรงเนรเทศไป ส่วนหลี่ไท่นั้นพระเจ้าถังไท่จงพิจารณาว่ามีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิตเกินไป พระองค์จึงได้เลือกหลี่จื้อที่หัวอ่อนแต่มีจิตใจดีงามแทน หลังสิ้นสุดรัชสมัยถังไท่จง หลี่จื้อก็ขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าถังเกาจง(ครองราชย์ ค.ศ.649-683)


พระเจ้าถังเกาจง

ถังเกาจงนั้นมีจักรพรรดินีคู่บัลลังก์ที่พระราชมารดาเลือกไว้อยู่แล้วพระนามว่า จักรพรรดินีหวางอย่างไรก็ตามพระเจ้าถังเกาจงนั้นก็เป็นดังฮ่องเต้จีนพระองค์อื่น ทรงมีมเหสีและพระสนมหลายองค์ หนึ่งในนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานคือ พระวรราชชายาเซียว มเหสีลำดับสามซึ่งภายหลังได้มีประสูติการพระโอรสนามว่า เจ้าฟ้าชายหลี่ซู่ ยิ่งทำให้ถังเกาจงโปรดปรานนางมากขึ้นอีกถึงขั้นดำริจะให้พระโอรสนางขึ้นเป็นรัชทายาทสร้างความไม่พอใจแก่จักรพรรดินีหวางเป็นอย่างมาก นางจึงได้ใช้เล่ห์เหลี่ยม  จนถังเกาจงแต่งตั้งโอรสของสนมหลิว หลี่จง (ภายหลังถูกปลดเมื่อจักรพรรดินีหวางสิ้นอำนาจ)  เป็นรัชทายาทได้สำเร็จ สร้างความบาดหมางระหว่างพระนางและวรราชชายาเซียว ต่อมา พระเจ้าถังเกาจง ทรงมีดำริถึงบูเม่ยเหนียงผู้ที่ทรงเคยมีจิตปฏิพัทธิ์แต่เดิม ด้วยต้องการจะนำนางกลับมาเป็นข้าบาทบริจาริกาอีกครั้ง ในเวลานั้นจากความที่ต้องการกำจัดพระวรราชชายาเซียวของจักพรรดินีหวางนางจึงไม่ขัดขวางเมื่อถังเกาจงรับนางกลับมา (ตามธรรมเนียมมเหสีและสนมในรัชการก่อนต้องออกผนวชเมื่อสิ้นรัชการจะเว้นแต่พระราชมารดาขององค์จักรพรรดิเท่านั้นที่ยังสามารถอยู่ในวังต่อได้) ด้วยหวังให้นางกำจัดพระนางเซียวแล้วพระ

นางจึงจะกำจัดบูเช็คเทียนในโอกาสต่อไป ทว่าเมื่อเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังคาด พระนางบูเช็คเทียนกลับมาครานี้ ด้วยตำแหน่งที่ขึ้นเป็นถึงพระสนมเอกลำดับที่หนึ่งจะเป็นรองก็เพียงแต่จักรพรรดินีและพระวรราชชายา จากนั้นพระนางบูเช็คเทียนมีประสูติกาลพระราชธิดาเป็นพระองค์แรก(นางเคยมีประสูติการพระโอรสสองพระองค์ แต่นอกเศวตฉัตรเนื่องจากไปคลอดที่สำนักชี) แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เมื่อพระจักรพรรดินีหวางเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรองค์หญิงน้อยตามธรรมเนียม องค์หญิงน้อยได้สิ้นพระชนม์ลง  จึงเป็นเหตุให้พระนางและพระวรราชชายาเซียว (พบภายหลังว่ามีส่วนรู้เห็น) ถูกปลดลงเป็นสามัญชน (เนื่องจากพบว่าพระนางอยู่กับพระธิดาเป็นคนสุดท้าย)  ถึงขั้นถูกเรียกว่านางไพร่หวางหลังจากนั้นพระสนมบูเช็คเทียนก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีสมใจ และนางหวางกับนางเซียวก็ถูกสังหารอย่างเงียบๆ ในพระตำหนักที่นางทั้งสองถูกคุมขังนั่นเอง

เบื้องหลังความสำเร็จของมหาอาณาจักรย่อมต้องมีกลิ่นคาวเลือดเสมอ กว่าพระนางจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งอย่างมั่นคงได้นั้น พระนางได้ขจัดเหล่าขุนนางที่คัดค้านการที่นางออกมายืนบริหารราชการแผ่นดินเบื้องหน้า หรือแม้กระทั่งโอรสของพระนางเองที่องค์หนึ่ง องค์ชายหลี่หงได้ถูกทิวงคตด้วยยาพิษอย่างเป็นปริศนา ก่อนหน้านั้นองค์ชายพระองค์นี้ได้คิดวางแผนดึงแม่ตัวเองลงจากอำนาจและคิดจะคืนตำแหน่งให้แก่อดีตจักรพรรดินีหวางผู้ล่วงลับตั้งแต่คราวถูกใส่ร้ายว่าสังหารพระราชธิดา (ถึงผู้เขียนไม่บอกผู้อ่านก็คงจะเดาได้ถึงสาเหตุการวางยาพิษองค์ชายหลี่หง) ส่วนองค์ชายรอง คือ องค์ชาย หลี่เสียน (ภายหลังทรงครองราชย์เป็นถังจงจง ครองราชย์ได้เพียงหนึ่งปีก็ขัดแย้งกับพระมารดา) พระนางสั่งเนรเทศ (หลังจากครองราชย์ได้หนึ่งปี)ไปอยู่ที่เฉิงตูและกดดันจนถึงขั้นต้องอัตวินิบากกรรม (ฆ่าตัวตาย) ด้วยตนเองในภายหลัง เนื่องจากหลี่เสียนนั้นเองก็มีแนวความคิดที่คล้ายกับพระเชษฐา เรื่องราวด้านมืดของพระนางนั้น "หลินยู่ถัง" (Lin Yutang : พ.ศ.2438-2519) นักประพันธ์ชื่อดังของจีน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ”ประวัติบูเช็คเทียน”ว่าพระนางได้สังหารคนถึง 109 คน

พระนางนั้นทรงพระปรีชาสามารถอย่างมาก ด้วยบุคลิกที่เด็ดขาด พระนางจึงมีอำนาจเหนือสามีด้วยความที่พระเจ้าถังเกาจงนั้นหัวอ่อนเป็นทุนเดิม งานบริหารราชการแผ่นดินจึงตกไปอยู่ในมือพระนางแทบทั้งสิ้นโดยนางบริหารราชการอยู่หลังม่านเบื้องหลังถังเกาจง หากแต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าโต้แย้งหรือท้วงติง พระเจ้าถังเกาจงได้ทรงสั่งให้ทุกคนเรียกพระนางว่าจักรพรรดินีแห่งสวรรค์เทียบขั้นกับพระองค์แลให้ใช้คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ด้วย

ในปีค.ศ.683 พระเจ้าถังเกาจงก็สวรรคตลงด้วยพระชนม์มายุ 55 พรรษา ส่งผลให้อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือจักรพรรดินีบูโดยสิ้นเชิงพระนางทรงขยับฐานะจากฮองเฮาเป็นไทเฮา (พระราชชนนี) หลังจากนั้นแม้จะแต่งตั้ง หลี่เสียน ขึ้นเป็นพระเจ้าถังจงจงแต่พระนางก็ไม่พอพระทัยจนสั่งเนรเทศดังกล่าวไปแล้วเบื้องต้น หลังจากนั้นได้สถาปนาองค์ชายสี่ หลี่ตั้น เป็นพระเจ้า ถังรุ่ยจง แต่ก็สั่งปลดในระยะเวลาไม่ถึงปีแล้วจึงสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้หญิงหรือจักรพรรดินีนารถในที่สุด ในปีที่พระนางมีพระชนมายุ 64 ปี ได้ตั้งราชวงศ์โจวขึ้นมา ทรงเป็นฮ่องเต้พระองค์แรกและองค์สุดท้ายในราชวงศ์นี้ (ภายหลังได้ฟื้นฟูราชวงศ์ถังกลับมาก่อนสละบัลลังก์)

หากแต่ไม่ว่าจะทรงเป็นเช่นไรก็ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้ว่าพระนางทรงพระปรีชา ในรัชสมัยของพระนางและถังเกาจงนั้น พระนางสามารถนำพาต้าถังมีชัยเหนืออาณาจักรโกกุเรียวเหนือคาบสมุทรเกาหลีได้สำเร็จ ซึ่งเป็นศึกติดพันมายาวนานตั้งแต่สมัยถังไท่จง ด้วยพระราชอำนาจและความฉลาดเฉลียวของพระนาง พระนางได้สร้างระบบสอบเข้ารับราชการขึ้นซึ่งเป็นผลให้ระบบราชการของต้าถังมีผู้มีความสามารถเข้ามาทำงานมากขึ้นนอกเหนือจากระบบส่งต่อให้ลูกท่านหลานเธอที่มีมาแต่เดิม ทำให้นครฉางอันแห่งราชวงศ์ถังมีความเจริญมั่งคั่งเป็นมหานครที่รุ่งเรืองและมีประชาชนอาศัยอยู่มากเป็นอันดับต้นๆของยุคนั้นถือเป็นยุคทองของแผ่นดินเลยทีเดียว

พระนางนั้นกุมพระราชอำนาจจนถึงพระชนม์มายุ 80พรรษาและได้สละราชบัลลังก์แก่โอรสของพระนาง คือพระเจ้าถังรุ่ยจง (พระโอรสองค์ที่สี่) จากนั้นพระนางได้ฟื้นฟูราชวงศ์กลับเป็นราชวงศ์ถัง และได้ขอให้ลบนามพระนางจากรายชื่อฮ่องเต้เหลือไว้แต่รายชื่อในจักรพรรดินีของพระเจ้าถังเกาจงเท่านั้น  ทรงสวรรคตด้วยโรคชราสิริรวมพระชนม์มายุได้ 81 พรรษา พระศพของพระนางถูกนำไปฝังไกล้กับหลุมศพของพระเจ้าถังเกาจง

แม้จะเป็นเพียงอิสสตรีแต่พระนางก็แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญ ทรงพระปรีชาสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างดีเยี่ยมไม่แพ้มหาราชฮ่องเต้พระองค์อื่นๆเลยแม้แต่น้อย ถึงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าพระนางนั้นโหดเหี้ยม แต่ด้วยความโหดเหี้ยมเด็ดขาดนั้นพระนางจึงสามารถนำพาแผ่นดินจีนในสมัยต้าถังของพระนางขึ้นเป็นมหาอำนาจในตะวันออกมีความเป็นปึกแผ่นเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองสงบสุข ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ อยู่ดีกินดี ถือเป็นแบบอย่างนักปกครองผู้หนึ่ง และเป็นสตรีที่ควรค่าแก่การจดจำ กล่าวขานไปชั่วลูกสืบหลานถึงวีกรรมของพระนาง ชีวิตของพระนางนั้นได้ตอกย้ำให้ผู้เขียนระลึกถึงคำกล่าวที่ว่า “คุณค่าของมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราเป็นอะไร แต่อยู่ที่ว่า เราเลือกที่จะเป็นอย่างไร” ดังเช่นที่สตรีผู้นี้ได้เลือกแล้วที่จะลิขิตชีวิตตนเอง แม้จะกำเนิดเกิดมาเป็นอิสสตรีในสังคมที่นิยมบุรุษ แม้จะเกิดมาเป็นเพียงสามัญชน แต่พระนางหาได้ยอมจำนนต่อชะตา คอยอยู่ในโอวาทสามีและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ สตรีผู้นี้ แม้ไม่ได้เป็นพระมารดาที่ทรงเมตตา แม้ไม่ได้เป็นศรีภรรยาที่ปรนนิบัติสามี แต่พระนางได้เลือกแล้ว เลือกที่จะเป็นพญาหงส์ เป็นแม่แห่งแผ่นดินที่ปกครองไพร่ฟ้าให้ร่มเย็น นับเป็นหงส์ที่คู่ควรกับบัลลังก์มังกรยิ่งนัก

อ้างอิง

JeabJeab-Mango. พฤษภาคม. 2553. “สมเด็จพระนางเจ้าบูเช็กเทียน..ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิหญิง พระองค์แรกและพระองค์เดียวของจีน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=601668 (15 กันยายน 2557)

วีกิพีเดีย10 มิถุนายน. 2557. “บูเช็คเทียน” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99 (15 กันยายน 2557)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 2 พฤษภาคม. 2548.“ยลโฉม“บูเช็คเทียน”ที่มรดกโลก“ถ้ำหินหลงเหมิน”” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9480000058325 (16 กันยายน 2557)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น