หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

5 มี.ค. 2557

สงคราม 30 ปี (Thirty years war)

โดย สุรเกียรติ เสริมศิริกาญจนา

สงคราม สามสิบปี เป็นสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายที่นิยมจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนับถือ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกับฝ่ายที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งสงครามครั้งนี้แบ่งเป็น 4 ช่วงและแต่ละช่วงมีความหมายของสงครามต่างกันออกไป กล่าวคือ ในช่วงแรกของสงคราม เป็นเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างรัฐต่างๆในเยอรมันอย่างชัดเจน แต่ทว่าช่วงที่ 2 3 และ 4 ของสงครามกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ 4 ฝรั่งเศสที่เป็นนับถือนิกายโรมันคาทอลิกเข้าร่วมสงครามในฐานะผู้สนับสนุนฝ่ายโปรเตสแตนท์ จึงจะเห็นได้ว่าสงครามสามสิบปีไม่ได้มีแค่เรื่องความขัดแย้งทางศาสนาแต่ยังโยงใยไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

สงคราม สามสิบปี เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ฝ่ายนิยมคาทอลิก นำโดยพระจักรพรรดิเฟอร์ดินาน ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่ง โบฮีเมีย ซึ่งตัวพระจักรพรรดิทรงเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดอย่างมาก ถึงขนาดพยายามจะล้มล้างการนับถือนิกายโปรเตสแตนท์ในดินแดนต่างๆของเยอรมัน ชาวโบฮีเมียเมื่อทราบข่าวก็ไม่พอใจ และก่อการกบฏต่อต้านพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานที่ 2 และทูลเชิญ พระเจ้าเฟดเดอริคที่ 5 ซึ่งเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษและยังเป็นผู้นำโปรเตสแตนท์ในเวลานั้นด้วย เพื่อรักษาอำนาจของพระจักรพรรดิ พระองค์จึงทรงนำทัพเข้าปราบปราม และผลของสงครามสามสิบปีช่วงแรกคือ ชัยชนะของฝ่ายจักรพรรดิ เนื่องมาจากประเทศที่สนับสนุนฝ่ายโปรเตสแตนท์ยังไม่พร้อมเข้าร่วมสงครามเช่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ทำให้กำลังรบน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อการปราบปรามจบลง ชาวโบฮีเมีย 8 แสนคนถูกประหารชีวิตและพระเจ้าเฟดเดอริกถูกถอดยศศักดิ์ทั้งหมดแล้วเนรเทศไปยังแคว้นลอร์เรน จึงนับได้ว่าเป็นชัยชนะที่สมบูรณ์ของจักรวรรดิ

แต่เมื่อชาวโบฮีเมียถูกประหารชีวิตถึง 8 แสนคนทำให้เจ้านครรัฐเยอรมันทางเหนือต้องวิตกกังวลกลัวว่าจะพบกับชะตากรรมเดียวกันจึงไปขอความช่วยเหลือจากเดนมาร์ก เดนมาร์กเองก็กลัวว่า สหภาพ เฮนเซียติกที่เป็นฐานที่มั่นทางการค้าของตนจะถูกอำนาจของจักรวรรดิคุกคามไปด้วย รวมถึงเดนมาร์กในตอนนั้นมีฐานะเป็นผู้รักษาประตูทางเข้าทะเลบอลติก จึงตัดสินใจเข้าร่วมสงคราม แต่ก็พ่ายแพ้ยับเยิน เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้นสวีเดนจึงตัดสินใจเข้าร่วมสงครามแทนโดยมีพระเจ้ากุสตาวุส อดอลฟุสนำทัพด้วยพระองค์เองและฝรั่งเศสจะคอยสนับสนุนเงินอยู่เบื้องหลัง ในช่วงที่ สาม ของสงครามนี้ สวีเดนสามารถเอาชนะทัพของฝ่ายจักรวรรดิได้หลายครั้ง แม้แต่แม่ทัพ ทิลลี่ผู้เคยปราบปรามโบฮีเมียยังเสียชีวิต จนพระจักรพรรดิต้องเรียก วอลเลนสไตน์ ผู้ที่เคยพิชิตเดนมาร์กได้แล้วครั้งนึงมาเป็นแม่ทัพ และเกิดการรบขึ้นผลของการรบคือ พระเจ้ากุสตาวุส สิ้นพระชนม์กลางสนามรบ แต่ก็ยังสามารถเอาชนะได้ สวีเดนเมื่อขาดผู้นำทัพจึงต้องถอยทัพกลับ ต่อมา วอลเลนสไตน์ถูกลอบสังหาร เกิดสนธิสัญญาที่ ปราก จักรพรรดิยอมรับสิทธิของนิกายลูเธอร์ แต่ไม่ยอมรับนิกายคัลแวงที่เจ้านายรัฐเยอรมันทางเหนือนับถือ ฝรั่งเศสจึงเข้าร่วมการรบด้วยตัวเอง ถือเป็นช่วงสุดท้ายของสงคราม  ในช่วงสุดท้ายของสงครามนี้ สเปนที่มีพระเจ้าฟิลิบที่ 4 ซึ่งเป็นพระญาติทางพระจักรพรรดิเฟอร์ดินาน ที่ 2 เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายจักรวรรดิด้วย ในช่วงแรกฝรั่งเศสเสียเปรียบ แต่เมื่อในสเปนเกิดกบฏและพันธมิตรของฝรั่งเศสได้แก่ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ซาวอย และเจ้านครรัฐที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ต่างๆของเยอรมันและเดนมาร์ก เข้าร่วมสงครามด้วยทำให้ฝรั่งเศสได้เปรียบยิ่งขึ้น แต่แล้วเมื่อพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานที่ 2 สิ้นพระชนม์และพระคาดินัล ริเชอร์ลิเออ เสียชีวิต ทำให้พระจักรพรรดิเฟอร์ดินาน ที่ 3 ขอทำสัญญาสงบศึก เกิดสนธิสัญญาแห่ง เวสฟาเลียขึ้น

ผลของสงครามครั้งนี้ ประชาชนชีวิตไปมากกว่า 8 ล้านคน มีการยอมรับสิทธิในการนับถือศาสนาของประชาชนในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และยังเป็นสงครามศาสนาครั้งสุดท้ายในยุโรปด้วย , สวีเดนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางภาคเหนือแทนที่เดนมาร์ก, ระบบศักดินาสวามิภักดิ์สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ กษัตริย์ขึ้นมาปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างแท้จริง, และยังเป็นสัญญาณของการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกด้วยเนื่องจากต่อจากนี้ไปจักรพรรดิจะไม่สามารถหาสิทธิใดเข้าไปควบคุมเจ้านายรัฐต่างๆในเยอรมันได้ ทำให้ขั้วอำนาจทางภาคกลางของยุโรปเปลี่ยนไป นอกจากนี้สเปนที่เข้าร่วมสงครามยังต้องสูญเสียเงินทองมหาศาลในการรบกับฝรั่งเศสและการปราบกบฏ รวมทั้งยังต้องให้เอกราชแก่เนเธอร์แลนด์ ส่งผลให้ฝรั่งเศสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในยุโรปแทนที่ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์และสเปนทันที

อ้างอิง

นันทนากปิลกาญจน์. (2542) ประวัติศาสตร์และอารยธรรมโลก ยุคโบราณจนถึง ค.. 1789. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์

This Day in History: Oct 24, 1648: Thirty Years War ends: Retrived 5 March 2014, from http://dingeengoete.blogspot.com/2012/10/this-day-in-history-oct-24-1648-thirty.html

The Causes of the Thirty Years War 1618–48: Retrived 5 March 2014, from http://ehr.oxfordjournals.org/content/CXXIII/502/554.abstract

1 ความคิดเห็น: