หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

4 ก.พ. 2557

ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)

โดย ปริญญ์ ซอศรีสาคร

“สมัยใหม่” เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา สภาพสังคมยุโรปมีความเปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากความต้องการแสวงหาความรู้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ส่งผลให้ในยุคนี้มีความพัฒนาไปในทุกๆด้าน ทั้งในด้านปรัชญา ความคิด สิ่งประดิษฐ์วิทยาการต่างๆ รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ ในที่นี้จึงจะกล่าวถึงนักธรรมชาติวิทยาคนสำคัญคนหนึ่งผู้เปลี่ยนแนวความคิดดั้งเดิมของสิ่งมีชีวิตและเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการจนเป็นหลักในการศึกษาวิทยาศาสร์ด้านชีววิทยามาจนถึงปัจจุบัน

ชาลส์ ดาร์วิน หรือมีชื่อเต็มว่า ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 ในเมืองชูร์สบิวรี่ ประเทศอังกฤษ เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยาผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิตและเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) อันสรุปตามแนวคิดของดาร์วิน ก็คือสิ่งมีชีวิตหลากหลายสปีชีส์บนโลกมาจากการสืบทอดลักษณะที่เปลี่ยนไปของสปีชีส์ดึกดำบรรพ์โดยกลไกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการคัดเลือกตามธรรมชาติและต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานเขาตีพิมพ์ข้อเสนอของเขาในปี ค.ศ. 1859 ในหนังสือชื่อ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ซึ่งเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา

ผลงานนี้ปฏิเสธแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของสปีชีส์ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1870 ชุมชนวิทยาศาสตร์และสาธารณชนส่วนมากจึงยอมรับทฤษฎีวิวัฒนาการในฐานะที่เป็นความจริง อย่างไรก็ดี ยังมีคำอธิบายที่เป็นไปได้ทางอื่นๆ อีก และยังไม่มีการยอมรับทฤษฎีนี้เป็นเอกฉันท์ว่าเป็นกลไกพื้นฐานของวิวัฒนาการตราบจนกระทั่งเกิดแนวคิดการสังเคราะห์วิวัฒนาการยุคใหม่ (modern evolutionary synthesis) ขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930-1950การค้นพบของนี้ยังถือเป็นรูปแบบการควบรวมทางทฤษฏีของศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตที่อธิบายถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

ด้วยความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติตั้งแต่วัยเด็กทำให้ดาร์วินไม่สนใจศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยเอดินเบอร์ก แต่กลับหันไปช่วยการตรวจสอบสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เมื่อดาร์วินเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ช่วยกระตุ้นความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมากขึ้นเขาเดินทางออกไปยังท้องทะเลเป็นเวลา 5 ปีกับเรือบีเกิล (HMS Beagle) และโดยเฉพาะการเฝ้าสำรวจที่หมู่เกาะกาลาปากอส อันเป็นทั้งแรงบันดาลใจและให้ข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งเขานำมาใช้ในทฤษฎีของเขา ผลงานตีพิมพ์เรื่องการผจญภัยกับบีเกิล (The Voyage of the Beagle) ทำให้เขามีชื่อเสียงในฐานะนักเขียน

ด้วยความพิศวงกับการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคที่แตกต่างกัน กับฟอสซิลที่เขาสะสมมาระหว่างการเดินทาง ดาร์วินเริ่มการศึกษาอย่างละเอียด และในปี ค.ศ. 1838 จึงได้สรุปเป็นทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติแม้ว่าเขาจะอภิปรายแนวคิดของตนกับนักธรรมชาติวิทยาหลายคน แต่ก็ยังต้องการเวลาเพื่อการวิจัยเพิ่มเติม โดยให้ความสำคัญกับงานด้านธรณีวิทยาเขาเขียนทฤษฎีของตนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1858 เมื่อ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ส่งบทความชุดหนึ่งที่อธิบายแนวคิดเดียวกันนี้มาให้เขา และทำให้เกิดการรวมงานตีพิมพ์ของทฤษฎีทั้งสองนี้เข้าด้วยกันในทันทีงานของดาร์วินทำให้เกิดวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อมาโดยดัดแปลงมาเป็นคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลยิ่งต่อแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีววิทยาในธรรมชาติ

ดาร์วินเสียชีวิตลงอย่างสงบในปี ค.ศ. 1882 ด้วยวัย 73 ปี ศพของดาร์วินถูกฝังไว้ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey) ในกรุงลอนดอน  ผลงานหนังสือที่ตีพิมพ์ของดาร์วินเป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งทางชีววิทยาและมานุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา เขาได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

อ้างอิง

ย้อนเส้นทางชีวิต "ชาร์ลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน".(2552).สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2557, จาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000015127

แนวคิดของดาร์วิน มปป. สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2557,  จาก https://sites.google.com/site/elearningevolution/evolution/ct-2/ct-2-2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น