หมีเท็ดดี้ เป็นตุ๊กตาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย ด้วยความน่ารัก หลายคนได้นอนกอดกับหมีเท็ดดี้ในทุกคืน แต่น้อยคนนักที่จะได้รู้ว่า ชื่อ “เท็ดดี้” มีที่มาจากบุคคลคนหนึ่ง ผู้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 26 นั่นคือ ธีโอดอร์ โรสต์เวลต์ ประธานาธิบดีผู้มีสมญานักชาตินิยม มีนโยบายเด็ดขาด ผู้พลิกประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาให้มีบทบาทในเวทีโลก ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมากมาย
ที่มา: https://th.wikipedia.org/
ธีโอดอร์ “เท็ดดี้” โรสต์เวลต์ จูเนียร์ (Theodore “Teddy” Roosevelt Jr.) เกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 1858 ที่นครนิวยอร์ก เป็นบุตรคนที่ 2 ของธีโอดอร์ โรสต์เวลต์ ซีเนียร์ และมาร์ธา โรสต์เวลต์ (สกุลเดิม: บูลลอร์ช) ซึ่งตระกูลของเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวฮอลันดา เมื่อเขายังอยู่ในวัยเด็ก เขาเป็นเด็กขี้โรค โดยป่วยเป็นโรคหืด จนไม่สามารถไปโรงเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ ทำให้เขาต้องเรียนที่บ้านโดยจ้างครูมาสอน ระหว่างนั้น เขาชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เมื่อเขาเป็นวัยรุ่น บิดาของเขาได้ฝึกเขาให้บริหารร่างกาย โดยฝึกเล่นยิมนาสติกและยกน้ำหนัก จนกลายเป็นคนที่แข็งแรง จนเขาสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ และสำเร็จการศึกษาได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
หลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษา เขาเข้าทำงานโดยเป็นนักเขียน โดยหนังสือเล่มแรกของเขาคือ The Naval War of 1812 ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เขายังมุ่งแสวงหาชื่อเสียงให้กับตัวเอง โดยเขาเข้าสู่วงการการเมืองในพรรครีพับลิกัน เป็นสมาชิกสภาล่างของรัฐนิวยอร์ก 3 สมัย จนไต่เต้าสู่ผู้ช่วยเลขานุการกองทัพเรือสหรัฐ จนเขาได้เลื่อนและย้ายมาเป็นพันเอกแห่งสังกัดกรมทหารม้าอาสาที่ 1 หรือเป็นที่รู้จักในนาม Rough Riders รบในสมรภูมิดอนซานฮวน ในสงครามสเปน-อเมริกา
กรมทหารม้าอาสา “Rough Riders” นำโดยโรสต์เวลต์ ในสงครามสเปน-อเมริกา
ที่มา: http://www.history.com/
จากสงครามนี้ทำให้เขาเป็นที่จดจำในฐานะวีรบุรุษจากสงคราม ส่งผลให้เขาได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในเวลาต่อมา ระหว่างนั้น เขาปฏิบัติงานด้วยความตรงฉิน และทำงานเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวั่นเกรงต่อความเกลียดชังของพวกที่ทุจริตทั้งหลาย จนทำให้เขาเป็นที่พอใจของประชาชนจนถูกเสนอเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ ในการเลือกตั้งสมัยที่ 2 แต่หลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ได้เพียงไม่กี่เดือน แมกคินลีย์ก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
โรสต์เวลต์ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติโดยมีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์เพียง 42 ปี ด้วยนโยบายที่เด็ดขาดของเขา ส่งผลให้อเมริกาเกิดการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน และเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลก ดังนี้
ภาพการ์ตูนล้อเลียนนโยบายการต่อต้านธุรกิจผูกขาดของโรสต์เวลต์
ที่มา: https://fineartamerica.com/
ภายในประเทศ ทางด้านเศรษฐกิจ เขาได้จัดระเบียบการทำธุรกิจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต แรงงาน และผู้บริโภค โดยใช้วิธีการแทรกแซงกลไกในการต่อต้านทรัสต์หรือธุรกิจผูกขาด ทำให้เขาผู้ได้รับสมญานามว่า ผู้ทำลายทรัสต์ (Trust buster) โดยการฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ เช่น บริษัทธนาคาร บริษัทรถไฟ เป็นต้น ในฐานที่ขจัดคู่แข่งและขัดต่อกฎหมายต่อต้านทรัสต์ในปี 1890 โดยโรสต์เวลต์ประกาศว่าไม่ได้ต้องการทำลายบริษัท แต่ต้องการให้เกิดการค้าที่เป็นระเบียบ เป็นธรรม และเสรี
ด้านสังคม เขารับฟังปัญหาลูกจ้างแรงงานเหมืองถ่านหินในรัฐเพลซิลวาเนีย ที่หยุดงานประท้วงในปี 1902 เนื่องจากปัญหาชั่วโมงการทำงานที่สูงและต้องซื้อของครองชีพในราคาแพงจากนิคมของบริษัท โดยเปิดโต๊ะเจรจา ณ ทำเนียบขาว เจ้าของเหมืองปฏิเสธข้อเสนอ โรสต์เวลต์ขู่จะนำทหารเข้ายึดเหมือง จนตัวแทนเจ้าของเหมืองยอมลดชั่วโมงทำงานเหลือ 9 ชั่วโมงและเพิ่มค่าจ้างร้อยละ 10 ทำให้นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างความเป็นธรรมและแก้ไขปัญหาแก่ลูกจ้างในการทำงาน
ด้านการต่างประเทศ นโยบายการต่างประเทศของเขา มุ่งเน้นความพร้อมในการเป็นผู้นำโลกโดยใช้กำลังทหารภายใต้คติ “Speak softly, and carry a big stick” (จงพูดอย่างนุ่มนวลและถือไม้เรียวอันโต) โดยเสริมสร้างกองทัพเรือให้น่าเกรงขาม โดยสร้างเรือรบ 10 ลำ เรือลาดตะเวน 4 ลำ ประจำการทั้งด้านมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก เขาได้สนับสนุนให้ก่อกบฏในปานามา เพื่อยึดครองแผ่นดินและสร้างคลองปานามาเพื่อเชื่อมสองมหาสมุทร เป็นประโยชน์ต่อการเดินเรือ และห้ามชาติยุโรปแทรกแซงการเมืองของประเทศในละตินอเมริกา (แต่สหรัฐจะแทรกแซงเอง) โดยเฉพาะในเวเนซูเอลา อาร์เจนตินา และโดมินิกัน
สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นเกิดขึ้นเนื่องจากญี่ปุ่นไม่พอใจที่รัสเซียขัดขวางมีความพยายามเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลี จนในปี 1904 ญี่ปุ่นเริ่มโจมตีพอร์ตอาเธอร์ของรัสเซีย ผลการรบญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ และเสนอในสหรัฐเป็นผู้ไกลี่เกลี่ย จนสหรัฐรับดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐในเอเชียตะวันออก โดยรัสเซียและญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาพอร์ตสมัธในปี 1905 จากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ประธานาธิบดีโรสต์เวลต์ในฐานะผู้ไกลี่เกลี่ย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1906
บั้นปลายชีวิต โรสต์เวลต์ลงจากตำแหน่งในสมัยที่ 2 ในปี 1909 และเสียชีวิตในวันที่ 6 มกราคม 1919 ด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ จากผลงานที่โดดเด่นในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้เขาเป็นหนึ่งในสี่ประธานาธิบดีสหรัฐที่ได้รับการสลักใบหน้าบนภูเขารัชมอร์ในปี 1925 และชื่อเขาได้นำมาตั้งเป็นชื่อของเรือรบและสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย
ภาพการ์ตูนล้อเลียนโรสต์เวลต์ขณะเขาปฏิเสธการฆ่าลูกหมี ที่มาของหมีเท็ดดี้
ส่วนที่มาของชื่อตุ๊กตาหมีเท็ดดี้นั้น เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1902 งานอดิเรกของโรสต์เวลต์คือการล่าสัตว์ ขณะที่เขาออกล่าหมีดำหลุยส์เซียนาในรัฐมิซซิซิปปี พร้อมกับผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง และผู้ติดตามสามารถจับลูกหมีดำตัวนั้นได้ แต่ขณะนำไปให้โรสต์เวลต์ เขาปฏิเสธที่จะฆ่าลูกหมีตัวนั้น และกล่าวว่ามันไม่ใช่สิ่งที่นักกีฬาทำกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลูกหมีตัวนั้น ถูกเรียกว่า “หมีของเท็ดดี้” (Teddy’s Bear) วันต่อมาหนังสือพิมพ์วอร์ชิงตันโพสต์ ได้นำเหตุการณ์ดังกล่าวไปทำการ์ตูนล้อเลียน จนเป็นแรงบันดาลใจให้เป็นชื่อตุ๊กตาหมีนับแต่นั้นมา
ตลอดชีวิตของธีโอดอร์ โรสต์เวลต์นับได้ว่าเป็นผู้เปลี่ยนแปลงสหรัฐเป็นอย่างมากในทุกมิติ เป็นผู้ก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวอเมริกา เป็นผู้บุกเบิกมิติทางการเมืองและการต่างประเทศอย่างเข้มงวด เป็นผู้สร้างความสันติให้แก่โลก และเป็นมากกว่าที่มาของชื่อของตุ๊กตาหมีที่ถึงแม้จะเป็นสัตว์ที่หน้าตาดูน่ารัก แต่แฝงด้วยนิสัยและสัญชาตญาณที่น่าเกรงขามในธรรมชาติของมัน ดังนิสัยและผลงานของโรสต์เวลล์ที่นิ่มนวลแต่เด็ดขาดที่เป็นมรดกแก่สหรัฐอเมริกาและโลกจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
พิชัย รัตนประทีป. (2508). ประวัติศาสตร์การเมือง 11 วีรบุรุษของสหรัฐ. พระนคร: โอเดียนสโตร์.
วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป.). ธีโอดอร์ โรสต์เวลต์. ค้นเมื่อ 2 กันยายน 2560. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ธีโอดอร์_โรสเวลต์
วิกิพีเดีย. (ม.ป.ป.). หมีเท็ดดี้. ค้นเมื่อ 2 กันยายน 2560. เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/wiki/หมีเท็ดดี้.
อรพินธ์ ปานนาค. (2549). ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
History.com. (2009). THEODORE ROOSEVELT. Retrieved September, 2 2017. Retrieved From http://www.history.com/topics/us-presidents/theodore-roosevelt.
The White House. (2017) Theodore Roosevelt. Retrieved September, 2 2017.Retrieved From https://www.whitehouse.gov/1600/presidents/theodoreroosevelt.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น