หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

22 มี.ค. 2563

เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) รัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้

โดย กฤติกา มาวงค์ษา

ในยุคโลกาภิวัตน์ คนผิวสีได้ก้าวเข้าสู่ยุคทอง หลังจากที่พวกเขาได้อดทน รอคอยมาอย่างยาวนาน ซึ่งในอดีตก็มีคนผิวสีมากมายต้องสังเวยชีวิตให้กับอคติจากการประเมินค่าความเป็นมนุษย์ เพียงเพราะมองกันแค่สีผิว อย่างไรก็ตามเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวสีที่ต้องการเสรีภาพไม่ได้มีอยู่แต่อเมริกาเท่านั้น แต่มีที่เข้มข้นยิ่งกว่าก็คือ แอฟริกาทั้งทวีป เพราะที่นั่นคือบ้านของคนผิวสีที่ถูกคนผิวขาว กดขี่ แต่มีพลังของผู้ชายผิวสีคนหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ จนประสบความสำเร็จในชีวิต และกลายเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของโลก ผู้ชายคนนั้นชื่อ “เนลสัน แมนเดลา” รัฐบุรุษและอดีตประธานาธิบดีของประเทศแอฟริกาใต้


ที่มา : https://mgronline.com/

เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม ปี 2461 ในครอบครัวเทมบู เติบโตในชนบท ของเมืองเคป อีสต์เทิร์น เดิมนั้นเขามีชื่อว่า มาดิบา ต่อมาครูในโรงเรียนได้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษให้เขาว่า แมนเดลา  เขาเป็นผู้ที่ขยันในการจดบันทึกและหลงใหลการเก็บบันทึกเป็นอย่างมาก

ในขณะที่เขาอายุได้ 9 ขวบ พ่อของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของตระกูลผู้ปกครองชาวเทมบู ได้เสียชีวิต เขาจึงถูกเลี้ยงดูจากรักษาการผู้สำเร็จราชการเมืองเทมบู และต้องถูกแยกออกจากแม่อันเป็นที่รัก จนกระทั่งอายุ 23 ปี แมนเดลา ได้หนีออกจากบ้านเพื่อหลบหนีการแต่งงานแบบคลุมถุงชน

เนลสัน แมนเดลา เริ่มเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาในปี 2482 ที่มหาวิทยาลัยฟอร์ต แฮร์ และจบการศึกษาในปี 2485 ด้วยวุฒิปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต

ในช่วงที่ศึกษาวิชากฏหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัย วิทวอเตอร์แรนด์ ในนครโจฮันเนสเบิร์ก เขามีส่วนร่วมในการก่อตั้งสันนิบาตยุวชนแห่งแอฟริกัน เนชั่นแนล คองเกรส ( African National Congress หรือ ANC) และพยายามผลักดันให้องค์กรดังกล่าวมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม มีการร่วมมือกันเคลื่อนไหวแบบใต้ดินเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่ใช้นโยบายแบ่งแยกสีผิว

จนกระทั่งในช่วงปีพุทธศักราช 2503 รัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ปกครองโดยชาวผิวขาวมีนโยบายเหยียดผิวได้สั่งห้ามและปราบปรามอย่างหนัก ทำให้กลุ่ม ANC ต้องเคลื่อนไหวในทางลับ และยกระดับในการใช้กำลังตอบโต้ด้วยการก่อวินาศกรรมสถานที่ทางราชการต่าง ๆ ของรัฐบาลแอฟริกาใต้ ก่อนที่แมนเดลา จะถูกจับเมื่อปีพุทธศักราช 2505 และถูกส่งไปจำคุกบนเกาะรอบเบิน นอกชายฝั่งเคปทาวน์ ซึ่งเขาใช้เวลาอยู่ในนั้นถึง 18 ปี ในระหว่างนั้นเขาปฏิเสธทำตามข้อเสนอของรัฐบาลที่จะปล่อยตัวเขาเพื่อแลกกับการยุติบทบาทและวางอาวุธของกลุ่ม ANC

ในปีพุทธศักราช 2533 แมนเดลาได้รับอิสระ หลังจากประธานาธิบดี เฟเดอริค เดอ เคลิ์ก ประกาศรับรองพรรคการเมืองทุกพรรคให้ถูกต้องตามกฏหมาย และประกาศนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง หลังจากนั้นไม่นาน เนลสัน แมนเดลา ก็ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค ANC และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแอฟริกาใต้หลังพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในวัย 75 ปี


ที่มา : https://www.bbc.com/thai/

ประธานาธิบดีแมนเดลา กล่าวในทันทีว่าเขาจะขอดำรงตำแหน่งผู้นำแอฟริกาใต้เพียง 1 สมัย ในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น และได้รับความเคารพอย่างมากในฐานะผู้นำบนเวทีระดับนานาชาติหลังจากสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นในแอฟริกาใต้ได้ในที่สุด

ปีพุทธศักราช 2536 ประธานาธิบดี แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับอดีตประธานาธิบดี เดอ เคลิ์ก ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเริ่มต้นขั้นตอนการสร้างสันติภาพในแอฟริกาใต้ ก่อนที่ประธานาธิบดีแมนเดลาจะประกาศอุทิศรางวัลนี้ให้กับประชาชนชาวแอฟริกาใต้ที่ร่วมสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมได้สำเร็จ

ในปี 2538 แอฟริกาใต้จัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติครั้งแรก คือ การแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก ซึ่งแมนเดลา ให้การสนับสนุนทีมรักบี้ของแอฟริกาใต้ซึ่งนักกีฬาส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ช่วยสร้างความสามัคคีขึ้นในชาติอย่างมาก

ในช่วงการรับดำรงตำแหน่งผู้นำแอฟริกาใต้ เขามีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่เคยถึงขั้นเลวร้ายจนประสบผลในภายหลัง แม้จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำหลังดำรงตำแหน่งครบ 1 สมัยในปีพุทธศักราช 2542 แต่อดีตผู้นำผู้ประสานรอยร้าวแห่งแอฟริกาใต้ ก็ยังทำงานเพื่อสังคมและชาวแอฟริกาใต้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แมนเดลาอำลาการเมืองในปี 2547 ด้วยวัย 85 ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและเพื่อน โดยไม่ค่อยออกงานสังคมมากนัก ยกเว้นการปรากฏตัวของเขาในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ในปี 2553 หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2556 เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้ ก็ได้เสียชีวิตลงขณะอายุ 95 ปี ด้วยอาการปอดติดเชื้อเรื้อรัง ภายในบ้านพักส่วนตัวที่โจฮันเนสเบิร์ก

เนลสัน แมนเดลา ได้พยายามนำพาประชาชนไปสู่สันติภาพได้สำเร็จ แม้จะฝ่าฟันกับความขัดแย้งอย่างรุนแรงของเชื้อชาติ และสีผิวมายาวนานหลายปี อดึตผู้นำแห่งแอฟริกาใต้ออกจากเรือนจำเยี่ยงวีรบุรุษ ท่านเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะผู้ส่งเสริมการให้อภัยและความเสมอภาค เนลสัน แมนเดลา คือรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลกโดยแท้จริง


อ้างอิง

BBC NEWS ไทย. (2556, 9 ธันวาคม). เนลสัน แมนเดลา : เหตุใดเขาจึงเป็นบุคคลสำคัญของโลก? . ค้นเมื่อ 28 มกราคม 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/international-46448176?fbclid

Sanook. (2556, 6 ธันวาคม). เนลสัน แมนเดลา ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยวัย 95 ปี. ค้นเมื่อ 28 มกราคม 2563, จาก https://www.sanook.com/news/1352719/

Thai PBS. (2556, 6 ธันวาคม). ประวัติ “เนลสัน แมนเดลา” รัฐบุรุษแห่งแอฟริกาใต้. ค้นเมื่อ 28 มกราคม 2563, จาก https://news.thaipbs.or.th/

BBC NEWS ไทย. (2556, 9 ธันวาคม). เส้นทางชีวิต และชีวประวัติของ “เนลสัน แมนเดลา” มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้. ค้นเมื่อ 28 มกราคม 2563, จาก https://www.voathai.com/a/mandela-obit-pt/1806291.html

มุมคุณธรรมสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2554, พฤศจิกายน). เนลสัน แมนเดลา บำเหน็จเลอค่า สำหรับผู้รู้จักอดทนและรอคอย. ค้นเมื่อ 28 มกราคม 2563, จาก http://library.cmu.ac.th/moralcorner/node/99

Kapook. (2556, 27 มิถุนายน). ประวัติ เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษผู้หญิงใหญ่ นักสู้ผู้ต่อต้านการเหยียดผิว. ค้นเมื่อ 30 มกราคม 2563, จาก https://hilight.kapook.com/

 Voathai. (2556, 9 ธันวาคม). เส้นทางชีวิต และชีวประวัติของ “เนลสัน แมนเดลา” มหาบุรุษแห่งแอฟริกาใต้. ค้นเมื่อ 28 มกราคม 2563, จาก https://www.voathai.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น