หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

31 ธ.ค. 2561

ตำนานสงครามเทพเจ้าอิยิปต์

โดย ยศธร  เค้าหงษ์

ถ้าพูดถึงเรื่องของเทพเจ้าของอียิปต์นั้น ตำนานของเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ล้วนมีความน่าสนใจทั้งสิ้น แต่ตำนานที่หลายคนอาจจะรู้จักและค่ายหนังในต่างประเทศมักจะหยิบยกขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์คงจะไม่พ้นตำนานการต่อสู้ล้างแค้นในสงครามศึกสายเลือดระหว่างเซ็ธและฮอรัสนั่นเอง


ที่มา: http://ancientegyptmag.com/

ในสมัยโบราณตามความเชื่อของชาวอียิปต์ เทพรา (RA) หรือสุริยเทพนั้นคือเทพเจ้าองค์สูงสุด ได้มีการสร้างโลกและมนุษย์ขึ้น พระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นองค์ฟาโรห์องค์แรกของดินแดนประเทศอียิปต์ โดยเทพรานั้นทรงมีโอรสและธิดารวมทั้งสิ้นห้าพระองค์ ดังนี้

1. โอซิริส (Osiris) เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่แห่งยมโลก ฟาโรห์ที่สวรรคตจะทรงไปรวมกับโอซิริสในดินแดนหลังความตาย ซึ่งในที่ฝังพระศพจะมีภาพโอซิริสเสมอ โอซิริสจะอยู่ในรูปบุรุษทรงเครื่องและมงกุฎของฟาโรห์ แต่มีผิวกายสีดำและถูกพันผ้าไว้แบบมัมมี่ โอซิริสคือศูนย์กลางความเชื่อเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพ ตามตำนานโอซิริสถูกฆ่าโดยเทพเซธ และถูกสับเป็นชิ้น ๆ แต่ด้วยความรักของมเหสีเทพีไอซิส ผู้ตามเก็บรวบรวมพระศพมาต่อใหม่ ทำให้โอซิริสกลับฟื้นคืนมาได้อีก                                                                                                                                                       
2. ฮามาคิส (Harmakhis) เป็นเทพแห่งรุ่งอรุณ มีรูปร่างเป็นสิงโตและศีรษะเป็นมนุษย์ หรือที่เราเรียกว่า สฟิงซ์ เป็นกำลังพลสำคัญที่ช่วยหลานชายตัวเอง คือเทพฮอรัสทำสงครามกับ เทพเซธ จนประสบความสำเร็จ                                                                                                                                                         
3. เซ็ธ (Seth) เทพแห่งพายุและความรุนแรง มีรูปเป็นหน้าสัตว์ที่น่าเกลียด เช่นหมู หรือลา ตามตำนานว่าเป็นอนุชาของโอซิริส ผู้เกลียดชังพี่ของตนเอง และเป็นผู้สังหารโอซิริสด้วย                                                                                               

4. ไอซิส (Isis) อัครเทวีที่คนอียิปต์ให้ความนับถือมากที่สุด เป็นเทวีแห่งความรัก และการอุทิศตนเพื่อสามีและบุตร และยังมีมนต์คาถา มีชื่อเสียงทางด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย ไอซิสมีพระรูปเป็นหญิงงาม ทรงเครื่องอย่างมเหสีแห่งฟาโรห์                                                                                                                                                                                         
5. เนพทิส (Nephtys) ชายาของเทพเซธ เทวีแห่งความลึกลับและเทพีบ้านเรือน นางช่วยเหลือเทพีไอซิสในการรักษาวิญาณของเทพโอซิริส จึงถูกยกย่องว่าเป็นชายาอีกคนหนึ่งของโอซิริส ซึ่งบางตำรากล่าวว่าหลงรักโอซิริสอยู่แล้ว จึงออกอุบายเข้าหามหาเทพจนมีลูกชายชื่อ เทพอนูบิส ที่เกิดจากสัมพันธ์ลับ …หรือบ้างว่าเป็นลูกชายของเทพเซธนั่นแหละ รูปพระลักษณ์ทรงศิราภรณ์รูปไฮโรกราฟฟิค (ทรงบ้านและตะกร้า)



เมื่อเติบโตขึ้น โอรสและธิดาของพระองค์ได้อภิเษกกันเองตามประเพณีของไอยคุปต์ กล่าวคือ เทพโอซิริส อภิเษกกับ เทพีไอซิส  ส่วน เทพเซ็ธอภิเษกกับเทพีเนพทิส มีเพียงเทพฮามาคิส เท่านั้นที่มิได้อภิเษกกับผู้ใด กาลเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งเมื่อเทพรา สละราชสมบัติ พระองค์จึงแต่งตั้งให้เทพโอซิริสในฐานะโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์เป็นองค์ฟาโรห์แห่งอียิปต์ต่อไป แต่เทพเซ็ธเป็นพระอนุชา มีความปรารถนาในการขึ้นครองราชย์แทนโอซิริส เซ็ธจึงวางแผนปลงพระชนม์พระเชษฐา โดยวิธีการสร้างหีบใบหนึ่งขึ้นมาซึ่งมีความงดงาม วิจิตรเป็นอย่างมากและถวายแด่โอซิริส แต่มีข้อแม้ว่าโอซิริสต้องเข้าไปนอนในหีบนี้ได้พอดี ความงามของหีบใบนั้นดึงดูด และสะกดใจองค์ฟาโรห์เป็นอย่างมากจนพระองค์รีบเสด็จก้าวเข้าไปโดยมิทันสงสัยในความผิดปกติ และทันทีที่โอซิริสก้าวเข้าไป เทพเซ็ทก็ปิดหีบและมัดอย่างแน่นหนาจากนั้นจึงนำหีบทิ้งลงแม่น้ำไนล์

หีบดังกล่าวลอยไปติดกับต้นทามาริสต์ (ทามาริสก์ใช้เป็นพุ่มไม้ประดับ เป็นสิ่งป้องกันลมและใช้เป็นร่มเงาบังแดด ในประเทศจีนมีโครงการปลูกทามาริสก์เพื่อทำให้พื้นที่เขตทะเลทรายเขียวชอุ่ม,ใช้ในการทำปุ๋ยหมัก) และถูกกิ่งก้านของต้นไม้ห่อหุ้มจนมิดชิด ในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งนครไบบลอสได้นำต้นไม้ดังกล่าวไปทำเสาประดับในโถงพระโรง โดยมิทรงทราบว่ามีหีบศพอยู่ข้างใน

ฝ่ายไอซิสรับทราบการสวรรคตของสวามี ด้วยความรันทดและเสียพระทัยเป็นอย่างมาก นางจึงออกจากอียิปต์เพื่อค้นหาร่างของสวามี ระหว่างนั้นนางได้กำเนิดโอรสนามว่า ฮอรัส  เมื่อทราบว่าหีบศพอยู่ที่ไบบลอสนางได้ฝากโอรสไว้ที่เกาะแซมมิสและจำแลงร่างเป็นหญิงชราเข้าไปในวังของกษัตริย์ไบบลอสเพื่อถวายการดูแลโอรสของพระองค์ที่ทรงประชวรจนหายเป็นปกติ คืนวันหนึ่ง  ไอซิสได้ลอบเข้าไปในท้องพระโรงและร้องไห้กับเสาที่หีบศพอยู่ข้างใน ราชินีแห่งไบบลอสมาพบเข้าและรับทราบเรื่องราวทั้งหมด ด้วยความสงสารกษัตริย์และราชินีแห่งไบบลอส จึงมอบเสาต้นนั้นและหีบศพให้เทพีไอซิส พระนางนำหีบนั้นกลับอียิปต์และไปไว้ที่เกาะแซมมิส

“ข้าจะไม่ให้มันได้ตายอย่างสงบ” เทพเซ็ธ ประกาศเมื่อทราบเรื่อง จากนั้นพระองค์ได้เสด็จมายังแซมมิสและสับร่างไอซิริส ออกเป็น 14 ชิ้นทิ้งลงแม่น้ำไนล์  เทพีไอซิสและอนูบิสผู้เป็นหลานชายได้ช่วยกันเก็บร่างของโอซิริสขึ้นมาและทำเป็นมัมมี่เพื่อรอวันคืนชีพ เทพเซ็ธหลังจากจัดการกับร่างของโอซิริสแล้วก็ได้จำแลงกายเป็นแมงป่องลอบเข้าไปต่อยฮอรัสในที่บรรทมจนสิ้นพระชนม์

“โอ  ข้าแต่สุริยเทพ สวามีของข้าได้สิ้นไปแล้ว ไยต้อง พรากชีวิตโอรสของข้าด้วย” ไอซิสคร่ำครวญเมื่อทราบเรื่อง แต่ด้วยบุญญาธิการของฮอรัส จึงทำให้พระองค์คืนชีพอีกครั้งและยังความเคียดแค้นแก่เทพเซ็ทมาก “จงระวังไว้ให้ดีเมื่อใดที่มันเติบใหญ่ขึ้น  ข้าจะเอาชีวิตมัน” เซ็ธประกาศก้อง เมื่อฮอรัสเติบโตขึ้นด้วยการเลี้ยงดูของพระมารดาที่แซมมิส และได้รับการฝึกฝนการต่อสู้ การใช้อาวุธและเวทมนต์จากไอซิสและเทพฮามาคิสต์ผู้เป็นลุง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ฮอรัสและฮามาคิสต์พร้อมเหล่านายทัพได้ยกไพร่พลมาชิงบัลลังก์คืนและล้างแค้นให้โอซิริส กองทัพของเซ็ธปะทะกับกองทัพของฮอรัสที่เอ็ดฟูริมแม่น้ำไนล์ และสงครามศึกสายเลือดก็เริ่มขึ้น

หลังจากต่อสู้ได้ไม่นานทหารของเซ็ธ ก็เริ่มล่าถอย ฮามาคิสต์ได้กลายร่างเป็นสฟิงซ์ยักษ์และตะปบเหล่าทหารศัตรูที่กำลังแตกพ่ายเอาไว้ได้ “วันเวลาของท่านกำลังจะจบลงแล้วเซ็ธ ” ฮอรัสประกาศก้องกลางสมรภูมิ แต่เซ็ธยังไม่ยอมแพ้ พระองค์กระโจนลงแม่น้ำไนล์และได้แปลงร่างเป็นฮิปโปโปเตมัสยักษ์เข้าเล่นงานฮอรัส เจ้าชายหนุ่มกระโดดขึ้นหลังของมัน และเสกฉมวกเหล็กยาวสามสิบฟุตแทงลงไปยังศรีษะฮิปโปทะลุผ่านสมองทำให้เทพเซ็ธสิ้นพระชนม์ทันทิ หลังจากนั้น ฮอรัสก็ขึ้นเป็นฟาโรห์ปกครองอียิปต์ พระนามของพระองค์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ของฟาโรห์ทุกพระองค์นับแต่นั้นมา

จากบทความจะเห็นได้ว่าชาวอียิปต์มีการนับถือบูชาเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheism) โดยเชื่อว่าธรรมชาติซึ่งบันดาลความสงบสุข ความดีงามหรือความหายนะให้แก่มนุษย์นั้น เกิดจากการกระทำของเทพเจ้าทั้งสิ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนบทความเองมองว่า เรื่องราวตำนานของเทพเจ้าอียิปต์นั้น สะท้อนเรื่องของการใช้ชีวิตของคนในสังคมยุคนั้นด้วยที่มีการอุทิศทั้งชีวิตแด่เทพเจ้าและไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีความขัดแย้งกัน แม้แต่เทพเจ้ายังมีความอิจฉาริษยากัน หรือนั่นแสดงให้เห็นว่าจิตใจของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลกมีอคติ 4 คือ รัก โลภ โกรธ หลงภายในจิตใจ อยู่ที่ใครจะสามารถจัดการกับสิ่งนั้นได้ อนึ่ง ตำนานสงครามเทพเจ้าอียิปต์นั้นยังสะท้อนให้เห็นจุดจบของคนที่ประพฤติปฏิบัติตนที่ไม่ดีอย่างชัดเจน หรือสุภาษิตที่ว่าไว้ว่า “ปลูกพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น” หรือ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” อาจมีมานานนับพันปีก็เป็นได้


อ้างอิง

เซต (เทพ). สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/

ตำนานศึกเทพเจ้าแห่งไอยคุปต์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : http://www.komkid.com/

แอดอาคาอินุ. (2558).  Gods of Egypt สงครามเทวดา [เรื่องย่อ/ตัวอย่างหนัง/ตัวละคร/โปสเตอร์/รีวิว]. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : https://www.metalbridges.com/movie-gods-of-egypt/

ฮอรัส. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/

Varin the tale. (2559). ย้อนเวลาสู่ยุคเทพเจ้ารุ่งเรือง… สมัยอียิปต์โบราณ. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561, จาก :  http://pantae.com/content/

กิมจิ อาหารแห่งชาติเกาหลี

โดย สุมินตรา มากเอี่ยม

สาธารณรัฐเกาหลี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เกาหลีใต้ นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียแล้ว ที่นี่ยังมีอาหารพื้นเมืองที่อร่อยและน่าสนใจอีกด้วย เมื่อพูดถึงอาหารแล้วนั้น อาหารเกาหลีที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือ “กิมจิ” นั่นเอง โดยสำรับมื้อหนึ่งของคนเกาหลีนั้น หากขาดกิมจิไปอย่างหนึ่ง นั่นหมายความว่า อาหารมื้อนั้นจะขาดคุณลักษณะของอาหารเกาหลีไปเลยทีเดียว



ตั้งแต่มนุษย์เริ่มทำการเพาะปลูกมานั้น ทำให้นิยมปลูกพืชผักเนื่องจากมีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว การเพาะปลูกไม่เอื้ออำนวย จึงได้นำไปสู่การพัฒนาการถนอมอาหารโดยวิธีการหมักดอง

โดยกิมจิซึ่งเป็นผักดองชนิดหนึ่งจึงได้ถือกำเนิดในศตวรรษที่ 7 เป็นการใช้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของชาวเกาหลีในการถนอมอาหารให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น โดยการนำผักไปดองเค็มด้วยเกลือ แล้วหมักใส่ในไหฝังดินเอาไว้ พอได้ที่แล้วจึงนำมารับประทานแทนผักสดที่หาไม่ได้ในช่วงฤดูหนาว

ในเกาหลียุคต้น ผู้คนส่วนใหญ่จะนำผักหลากหลายชนิดมาหมักใส่เกลือและเครื่องปรุงชนิดต่างๆ โดยบริโภคพร้อมกับซอสถั่วเหลือง ต่อมาได้มีการนำผักดองจากจีนเข้ามาเผยแพร่เมื่อครั้งยุคอาณาจักรสหพันธ์รัฐซิลลา (United Shilla ค.ศ. 668 - 935) คนเกาหลีจึงได้ปรับปรุงกรรมวิธีการทำผักดองเพื่อให้ได้รสชาติที่ชื่นชอบ ดังปรากฏในงานเขียนของยี คิวโบ (ค.ศ. 1168 - 1241) แห่งอาณาจักรโครยอ (Koryo dynasty ค.ศ. 918 - 1392) ที่บรรยายถึงการหมักหัวผักกาดพันธุ์พื้นเมือง (เป็นหัวไชเท้าพันธุ์พื้นเมืองของเกาหลีที่มีขนาดเล็ก) โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เรียก Dongchimi เพื่อใช้ในการรับประทาน


Dongchimi

กิมจิสีแดงรสเผ็ดที่นิยมบริโภคจนถึงปัจจุบันนั้น มีวิวัฒนาการที่ผ่านวันเวลามายาวนานกว่าจะมาเป็นกิมจิอย่างที่เห็น ซึ่งในอดีตกิมจิยังไม่เป็นสีแดงเหมือนกับปัจจุบัน โดยมีหลักฐานเกี่ยวกับกิมจิกล่าวไว้ว่า กิมจิในสมัยโครยอนั้นมีเพียง 2 ชนิด คือ kimchi-jangajji หรือหัวผักกาดในซีอิ๊ว กับ sunmu-sogeumjeori หัวผักกาดเค็ม ต่อมาในสมัยโชซอนตอนต้น กิมจิทำจากผักใบเขียวมาดองด้วยเกลือหรือเหล้าเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นรสดั้งเดิม

ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เกาหลีถูกญี่ปุ่นรุกราน จึงเริ่มมีการนำผักจากต่างประเทศเข้ามา ส่วนพริกสีแดงจากอเมริกากลางนั้นถูกนำเข้ามาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสที่ทำการค้าขายอยู่ที่เมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น พริกสีแดงจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของกิมจิหรือผักดอง

ขั้นตอนในการทำนั้น เริ่มแรกหั่นผักกาดขาวและหัวผักกาดที่ล้างแล้วให้เป็นก้อนหนาๆ หลังจากนั้นนำเกลือมาโรยและทา ต่อไปก็ผสมให้เข้ากันกับพริกแดงหั่น กระเทียม ผักชีล้อม ตังฉ่าย และสาหร่าย ขั้นตอนที่สามก็คือการต้มปลาหมักในน้ำและทิ้งให้เย็น หลังจากนั้นก็เติมปลาหมักลงกับส่วนผสมทั้งหมดข้างต้น สุดท้ายใส่ทุกอย่างเข้าในไหเพื่อเก็บรักษารสชาติและรอให้มันหมักเต็มที่ ดังนั้นราวปลายสมัยราชวงศ์โชซอนสีของกิมจิจึงกลายเป็นสีแดงอย่างที่เห็นและรับประทานกันในปัจจุบัน


Kimchi

ต่อมาราวต้น ค.ศ. 1800 ได้มีการเขียนสูตรการทำกิมจิขึ้นในตำราอาหาร 2 เล่ม โดยกล่าวว่าพริกแดงเป็นส่วนผสมที่สำคัญ โดยสูตรการทำดังกล่าวเป็นสูตรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน ซึ่งพริกแดงไม่เพียงแต่จะทำให้กิมจิมีรสชาติที่ดีขึ้นและรักษาผักดองให้สดกรอบอยู่เสมอแล้วนั้น แต่ยังส่งผลให้กิมจิกลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยวิตามินหลากหลายชนิดที่สามารถป้องกันโรคร้ายได้ ซึ่งโดยธรรมชาติของกิมจินั้นจะมีรสเผ็ด เปรี้ยว และมีกลิ่นเฉพาะตัว

กิมจิที่เรารับประทานกันเข้าไปนั้นมีผักและสมุนไพรเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ร่างกายไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะโรคอ้วน นอกจากนี้กิมจิยังมีส่วนช่วยให้ระบบการหมุนเวียนโลหิตของร่างกายทำงานเป็นปกติ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นและทำให้ผิวพรรณสดใสอีกด้วย เนื่องจากกิมจิอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินเอ (Vitamin A) ไทอะมีน บี 1 (Thiamine (B1))   ไรโบฟลาวิน บี2 (Riboflavin (B2)) วิตามินซี แคลเซียมธาตุเหล็ก และสารคาโรทีน (Carotene) นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร

สรรพคุณต่างๆในกิมจิได้มาจากส่วนผสมหลักที่ทำมาจากผักหลายชนิดซึ่งมีปริมาณของเส้นใยสูง มีแคลอรี่ต่ำ ซึ่งในกิมจิ 100 กรัม จะมีแคลอรี่อยู่เพียง 32 กิโลแคลอรี่ นอกจากนี้ หัวหอม พริกและกระเทียมที่เป็นเครื่องปรุงในกิมจิก็เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ กิมจิยังมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่ให้กรดแลคติก (Lactic Acid) ที่เกิดจากการหมักดองกิมจิ หลังจากการดองกิมจิไปเป็นเวลา 3 อาทิตย์ ระดับของวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 12 ก็จะเพิ่มถึงเป็นสองเท่า และกรดแลคติกซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานกิมจินั้นจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกายไม่ให้เจริญเติบโตภายในลำใส้ของเรา

กิมจิยังมีหน้าที่ป้องกันโรคต่างๆได้อีก เช่น โรคอ้วน โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และกรดแลคติกนี้เอง ที่ทำให้กิมจิมีรสเปรี้ยว ซึ่งมาจากจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่มีประโยชน์ทำให้กิมจิเป็นอาหารที่มีส่วนช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้เป็นอย่างดี ช่วยยับยั้งอาการท้องผูกและมะเร็งลำไส้ ส่วนพริกและกระเทียมที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำกิมจิ มีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของเลือดและการลดคลอเรสเตอรอล ( Cholesterol ) ในเลือดอีกด้วย

กรรมวิธีในการทำกิมจิปัจจุบันไม่ต่างกับในยุคโบราณเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ สูตรการหมักกิมจิจึงเป็นสูตรที่สืบต่อมาจากคนในครอบครัว ซึ่งนอกจากกิมจิจะใช้เป็นอาหารเครื่องเคียงสำหรับคนในประเทศเกาหลีแล้วนั้น ในปัจจุบันยังมีการนำกิมจิไปปรุงอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซุปหม้อไฟทหารเกาหลี(บูเดจิเก) ข้าวยำเกาหลี(บิบิมบัม) ข้าวปั้นกิมจิเกาหลี(กิมจิ จูมอกบับ) ซุปเผ็ดกิมจิ(กิมจิจีเก) หรือแม้กระทั่ง มาม่าเกาหลี(กิมจิรามยอน) ซึ่งทุกเมนูถือได้ว่าเป็นการนำมาประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยและความนิยมของคนในสมัยนั้นๆ

ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2543 องค์กรการค้าเกษตรกรรมและการประมงประเทศเกาหลี (Korea Agro-Fisheries Trade Corporation) ได้สร้างตัวสัญลักษณ์กิมจิขึ้น สัญลักษณ์กิมจินี้พบได้เฉพาะกิมจิแท้ของประเทศเกาหลี ซึ่งต้องทำและผลิตจากวัตถุดิบในประเทศเกาหลีเท่านั้น โดยตัวสัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศเกาหลี จากเอกสารของพิพิธภัณฑ์ในกรุงโซลระบุว่า มีกิมจิมากกว่า 187 ชนิด โดยมีความแตกต่างกันตามท้องถิ่นและสภาพอากาศที่ผลิต


สัญลักษณ์การค้าที่ใช้แสดงว่าเป็นกิมจิแท้ของประเทศเกาหลี
ที่มา: http://www.wikiwand.com/

มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ พบว่ากิมจิเป็นอาหารบำรุงอย่างดีและยังมีนักโภชนาการทั้งหลายได้แนะนำให้บริโภค กิมจิจึงได้เริ่มแพร่หลายในวงกว้าง เริ่มจากประเทศใกล้เคียงและค่อยๆ เป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มชาวต่างชาติ เมื่อก่อนการผลิตและการบริโภคอยู่แค่เพียงในประเทศเกาหลีเท่านั้น แต่ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า “กิมจิ” ได้กลายเป็นอาหารของโลกไปแล้ว


อ้างอิง

รุ่งนภา แซ่เอ็ง. (2555). กิมจิ อาหารสุขภาพจริงหรือ. สืบค้น 26 กันยายน 2561, จาก: http://www.uniserv.buu.ac.th/forum2/topic.asp?TOPIC_ID=5229

สวรินทร์ สินะวิวัฒน์. (2552). กิมจิ อาหารดองประจำบ้านชาวเกาหลี. สืบค้น 26 กันยายน 2561, จาก: http://www.vcharkarn.com/varticle/39374

Chillout korea. (ม.ป.ป.). ต้นกําเนิดของกิมจิ. สืบค้น 26 กันยายน 2561, จาก: https://www.chilloutkorea.com/kimchi-history/

Korean foods guide. (2552). ประวัติ กิมจิเกาหลี. สืบค้น 26 กันยายน 2561, จาก https://koreanfoodsguide.blogspot.com/2009/11/blog-post_17.html?m=1

winnews. (2560). ประโยชน์ของกิมจิ.....อาหารขึ้นชื่อของเกาหลี. สืบค้น 22 ธันวาคม 2561, จาก https://www.winnews.tv/news/12430

ตุนหวง (Dunhuang) มนต์เสน่ห์พุทธศิลป์กลางทะเลทราย

โดย พิชชาพร มงคลวงศ์โรจน์

ประเทศจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและน่าสนใจ และมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นต่างจากที่อื่นๆ   นอกจากนี้ประเทศจีนในอดีต ยังเคยเป็นเส้นทางที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกัน  เส้นทางประวัติศาสตร์นั้นก็คือ “เส้นทางสายไหม” โดยมี “ตุนหวง” เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งบนเส้นทางสายไหมแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ในทะเลทรายอันเวิ้งว้างและร้อนระอุ   แต่เป็นแหล่งอารายธรรมและประวัติศาสตร์อันมีค่ายิ่ง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของจีน และยังเป็นแหล่งพุทธศิลป์ที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศจีนอีกด้วย

ตุนหวง  (敦煌)  มีความหมายว่า ดวงไฟที่เจิดจ้า เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกานซู   ห่างจากกรุงปักกิ่งราว 1,900 กิโลเมตร   ล้อมรอบด้วยทะเลทรายโกบี    ในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นสถานีสุดท้ายในการแวะพักการเดินทางในจีน เป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมจากหลายๆ ชนชาติ รวมทั้งเป็นเส้นทางหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาได้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศจีน

ตามตำนานกล่าวว่า  มีพระธุดงค์องค์หนึ่งนามว่า “Le Zhun”  ได้เดินทางข้ามทะเลทรายโกบี และข้ามภูเขาไปเจอโอเอซิสที่เมืองตุนหวง  จึงได้พักผ่อนในที่แห่งนี้ ในช่วงเย็นขณะที่ท่านกำลังนั่งมองพระอาทิตย์อยู่  ก็เห็นรูปพระพุทธเจ้า 1,000 องค์บนท้องฟ้า  และรอบๆ มีนางฟ้าแสดงดนตรีที่ไพเราะ ต่อมา Le Zhun ได้ไปเรียนรู้การวาดภาพและการแกะสลัก และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสร้างผลงานไว้ หลังจากนั้นมีพระธุดงค์อีกท่านนามว่า “Fa Jiang” ได้เดินทางมาสถานที่แห่งนี้และเพิ่มเติมภาพวาดและรูปแกะสลักในถ้ำโม่เกา การสร้างวัดแห่งนี้เพื่อสักการะพระพุทธเจ้า และรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดี โดยใช้เวลาสร้างนานมากตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์หยวน

วัดถ้ำของตุนหวง ตั้งห่างจากเมืองตุนหวง ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ราว  25 กิโลเมตร ประกอบด้วยผาหินที่ถูกเจาะทั้งหมด 492 ถ้ำ โดยในบรรดาถ้ำทั้งหมด มีถ้ำที่ใหญ่ที่สุดคือ ถ้ำโม่เกา หรือที่รู้จักกันในนามว่า “ถ้ำพระพุทธรูปพันองค์” สร้างอยู่บนหน้าผาทางซีกตะวันออกของภูเขาหมิงซา ภายในถ้ำจะประกอบด้วย ภาพวาดและรูปสลักต่างๆที่ล้ำค่าทางพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์  จนได้รับขนานนามว่า “ห้องสมุดบนผนัง” 

เนื่องจากวัดถ้ำโม่เกา เป็นสถานที่ที่สะสมพุทธศิลป์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญ จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโก เมื่อ ค.ศ.1987 จากลักษณะที่สำคัญคือ มีศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นผลงานชิ้นเอกของศิลปะจีน  เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการแลกเปลี่ยนศิลปะระหว่างจีนและอินเดีย มีภาพวาดในราชวงศ์ซ่งและสุย และต้นฉบับภาษาฮิบรู นอกจากนี้ ยังมีถ้ำพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่โดดเด่นในพระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่างในการสร้างวัดที่มีเอกลักษณ์  รวมทั้งมีความเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และยังแสดงให้เห็นว่าเส้นทางสายไหมไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องการค้าเท่านั้น

จุดเด่นของวัดถ้ำโม่เกา เป็นถ้ำที่มีความเก่าแก่ มีพระพุทธรูป 1,000 พระองค์ประดิษฐานอยู่ ภายในถ้ำจะมีภาพวาดแกะสลักผนังถ้ำ และรูปปั้นดินที่เป็นจุดเด่นทำให้สถานที่แห่งนี้มีชื่อเสียง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆทางประวัติศาสตร์และตำราทางศานาพุทธจำนวนมาก


ประติมากรรมในถ้ำโม่เกาที่สร้างในสมัยราชวงศ์ถัง 

สิ่งก่อสร้างภายใน ใช้วัสดุที่ทำจากไม้ ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ้อง สร้างวัดจำนวน 5 หลัง คัมภีร์และหนังสือต่าง ๆ 50,000 ชิ้น และประติมากรรมเกือบ 2,500 ชิ้น  ใช้เวลาสร้างตั้งแต่ราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์หยวน แต่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในยุคสมัยราชวงศ์ถัง มีหอคอย 9 ชั้นอยู่บริเวณด้านหน้าของถ้ำ สร้างในสมัยอู่ เจ๋อ เทียน เพื่อปกป้องพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ด้านใน ที่สร้างเพื่อทดแทนหอคอยเดิม 4 ชั้น  ซึ่งทนต่อสภาพอากาศและภัยธรรมชาติไม่ไหว

สถาปัตยกรรม ในยุคแรก เป็นถ้ำที่มีเจดีย์หนุนอยู่ตรงกลาง มีที่ประดิษฐานแท่นบูชาพระพุทธรูปแกะสลัก ยุคกลาง ได้สร้างหลังคาโค้งแบบพีระมิด มีแท่นบูชาใหญ่ชิดผนังถ้ำ และที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป และหลังคาที่เขียนด้วยภาพวาดสีสดใส ในยุคหลัง ได้สร้างเป็นถ้ำโถง ทำเป็นห้องเพื่อเก็บโบราณวัตถุและประติมากรรมต่างๆ

ประติมากรรม พบหลายรูปแบบอาทิ เช่น รูปปั้นกลม ปั้นนูน ปั้นเงา และอื่นๆ เนื้อหาในการปั้นมักเกี่ยวข้องกับพุทธองค์ พระโพธิสัตว์ นักปราชญ์ ราชาแห่งสรวงสวรรค์ ผู้พิทักษ์สวรรค์ จอมพลัง นักรบ เทพต่างๆ. มีทั้งรูปปั้นขนาดใหญ่และเล็ก  มีการใช้ดินเหนียวปั้นรูปประติมากรรมระบายหลากสี ทำให้ประติมากรรมของที่นี่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก

จิตรกรรม มีภาพวาดฝาผนัง เป็นศิลปะในสมัยราชวงศ์ถัง   เป็นเรื่องราวของพุทธประวัติ  ทิวทัศน์  เก๋ง ศาลาชมวิว หอชมวิว    รูปแบบการใช้ชีวิตและวัฒนธรรม ความดี - ความชั่ว  เป็นต้น


ภาพจิตรกรรมในถ้ำโม่เกา 

เนินทรายหมิงซาซาน คำว่า “หมิงซา” มีความหมายว่า ทรายที่ก้องกังวาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 6 กิโลเมตร เป็นทะเลทรายที่มีพื้นที่กว้างใหญ่  จากตำนานเล่าว่า พ่อค้าและนักเดินทางทั้งหลายจะได้ยินเสียงเพลงที่หลอกหลอนจากทะเลทรายแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากเสียงลมที่พัดผ่านเนินทรายแล้วมีเสียงทรายนุ่มๆ จุดที่เป็นไฮไลท์คือ “ทะเลสาบรูปพระจันทร์เสี้ยว” ในทะเลทรายที่มีอายุมากว่า 2000 ปีอันสวยงาม


ทะเลสาบรูปพระจันทร์เสี้ยวในทะเลทรายหมิงซาซาน

สถานที่สำคัญที่ควรไปแวะชม คือ วัดถ้ำตุนหวงและเนินทรายหมิงซาซาน นอกจากนี้ ยังมีสถานที่เที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกในเมืองตุนหวง อาทิ วัดม้าขาว ด่านประตูหยก เป็นต้น

ข้อแนะนำการเข้าชม ควรเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการเข้าชม ควรพกหมวก แว่นกันแดด  ครีมกันแดด รวมทั้งผ้าปิดตา สำหรับในการเข้าชมวัดถ้ำโม่เกานั้น มีค่าเข้าชมคนละ 80 หยวน ปัจจุบันทางการจีนเปิดให้เข้าชมไม่กี่ถ้ำ และห้ามถ่ายรูปภายในถ้ำและไม่เปิดไฟภายในถ้ำ  เพื่อเป็นการรักษาสภาพถ้ำให้สมบูรณ์ที่สุด  ส่วนค่าเข้าชมเนินทรายหมิงซาซาน ราคาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง  ได้แก่  ช่วงเดือน พ.ค - ต.ค อยู่ที่ 120 หยวน และเดือน พ.ย - เม.ย อยู่ที่ 80 หยวน เด็กที่สูงต่ำกว่า 120 เซนติเมตร เข้าชมฟรี สามารถใช้ตั๋วเข้าชมเนินทรายและทะเลสาบได้หลายครั้งภายใน 3 วัน

วิธีการเดินทาง สามรถเดินทางมายังเมืองตุนหวงโดยสะดวก ได้ทั้งทางรถไฟ รถประจำทาง และเครื่องบิน กิจกรรม ในช่วงฤดูร้อนเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะมีการแสดงร้องเพลงและเต้นรำในเทศกาลเส้นทางสายไหม และที่เนินทรายหมิงซาซาน มีบริการอูฐไว้สำหรับขี่ รถไฟฟ้า รถวิบาก เครื่องร่อน   เบาะนั่งสไลด์  สำหรับบริการนักท่องเที่ยว

“ตุนหวง” นอกจากจะเป็นเมืองตั้งต้นในเส้นทางสายไหม  ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว  ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก สะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งอิทธิพลของศาสนาพุทธที่เปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาก่อให้เกิดพุทธศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ และโดดเด่นไม่เหมือนใคร เป็นร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีค่ายิ่ง ควรแก่การเข้าชม จีงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจให้มาเยี่ยมชม


อ้างอิง

ทริปเดินทาง.(2016).ถ้ำมั่วเกาแห่งตุนหวง (敦煌莫高窟) – มณฑลกานซู่.สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2561, จาก: https://tripderntang.com/ถ้ำมั่วเกาแห่งตุนหวง/

Expedia TH. (2017) . ตามหาทะเลสาบพระจันทร์เสี้ยว เที่ยวทะเลทรายโกบี .สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน2561, จาก: https://travelblog.expedia.co.th/travel-abroad/bd05_november17/

ktcworld .(มปป).ตุนหวง...เมืองอารยธรรมโบราณกลางทะเลทราย  THE ANCIENT CITY OF DUNHUANG .สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2561, จาก: ttps://www.ktcworld.co.th/th/Service/TravelGuide/

oporshady .(2013).วัดถ้ำแห่งตุนหวง พุทธศิลป์สุดยิ่งใหญ่ กลางทะเลทรายของจีน.สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2561 ,จาก: https://travel.mthai.com/world-travel/65224.html

ANNELISA STEPHAN .(2015). 14 Fascinating Facts about the Cave Temples of Dunhuang . Retrieved September 10, 2018, from: http://blogs.getty.edu/iris/14-facts-cave-temples-dunhuang/

BBC News.(2015). Dunhuang: a city on the old Silk Road - in pictures. Retrieved September 10, 2018, from: https://www.bbc.com/news/in-pictures-34276009

Shenyunperformingarts.(n.d.). The Mogao Caves of Dunhuang .Retrieved September 10, 2018, from: http://www.shenyunperformingarts.org/learn/article/read/item/zkEPlF7CSao/mogao-caves-dunhuang-chinese-stories-history.html

UNESCO.(n.d.).Mogao Caves. Retrieved September 10, 2018, from: https://whc.unesco.org/en/list/440

Wikitravel.(n.d.). Dunhuang . Retrieved September 10, 2018, from: https://wikitravel.org/en/Dunhuang

อวสานพิพากษาโลก จากปฎิทินชนเผ่ามายา

โดย เจษฎา รักษาภักดี

ปีคริสต์ศักราช 2012 ผู้คนทั่วโลกต่างแตกตื่นและพูดถึงการสิ้นสุดของปฎิทินชนเผ่ามายา จนเป็นประเด็นให้เกิดการค้นคว้า หาความจริง ของผู้คนทั่วโลก ตลอดจนนักวิชาการ เมื่อโลกจะถึงกาลอวสาน  มวลมนุษย์จะพบเจอกับภัยพิบัติต่างๆทำลายทุกชีวิตบนพื้นโลกให้ดับสูญไปและโลกก็จะถึงวันสิ้นสุดลง จากความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลกเรามาร่วมกันไขปริศนาปฎิทินชนเผ่ามายาเพื่อหาขอเท็จจริงว่าโลกจะถึงกาลอวสานจริงหรือและความจริงนั้นเป็นอย่างไร



อาณาจักรมายา

อาณาจักร มายา ตั้งอยู่ในอเมริกากลาง ในบริเวณคาบสมุทรยูคาตันและมีพื้นที่บริเวณประเทศเม็กซิโกคาบเกี่ยวกับเบลีซและกัวเตมาลามีความรุ่งเรืองช่วง 1000 ปีก่อนคริสตกาล มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่นครวากาอาณาจักรมายามีความเจริญรุ่งเรืองประกอบด้วยชุมชนเกษตรกรรมอยู่ชั้นนอกชุมชนเมืองอยู่ชั้นในล้อมรอบจุดศูนย์กลางซึ่งเป็นบริเวณสิ่งก่อสร้างใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย นรกสวรรค์มีจริงตามความเชื่อของพวกเขา และมีการบูชายัญเพื่อเคารพต่อเทพเจ้า



ชาวมายามีความสามารถทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์  จนสามารถคำนวณจำนวณวันของโลกในเเต่ละปี ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงของชนเผ่ามายานั้นคือ “ ปฏิทินชนเผ่ามายา ”

ปฎิทินชนเผ่ามายา
       
ปฏิทินชาวมายามีอยู่ 3 แบบหลักโดยปฏิทินมีลักษณะเป็นวงรอบภายในวงรอบซ้อนกันหลายชั้น ได้แก่  ปฏิทินทางศาสนา  ปฏิทินสามัญชนและ และปฏิทินแบบลองเคาต์



1. ปฏิทินสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา (Tzolkin ) ชาวมายาใช้ระบบ 260 วัน ปฏิทินในยุคนั้นใช้ระบบที่ เป็นระบบที่ผสมระหว่างตัวเลขและชื่อวัน โดยตัวเลขวันมี 13 เลข และชื่อวันมี 20 ชื่อ  (13 x 20 =  260) เมื่อนำมารวมกันจะได้เป็นวงรอบที่ประกอบเป็น 260 วัน



2. ปฏิทินสำหรับสามัญชน (Haab) ประกอบไปด้วยเลขวัน 20 เลข และชื่อเดือน 18 ชื่อ แต่เนื่องจาก 1 ปีมี 365 วัน มายา จึงเพิ่มเดือนพิเศษอีกหนึ่งเดือนที่มีเพียงแค่ 5 วัน (Uayeb วันพิเศษ) โดยถือเป็นช่วงวันสิ้นปี วิธีการนับวันจะนับเลขเรียงกันไปเรื่อยๆ พอถึงเลข 18 ก็ขึ้นเดือนใหม่



3. ปฎิทินแบบลองเคาต์ (Long Count Calendar)  เป็นปฏิทินที่ใช้นับเวลาได้นานกว่าปฎิทินแบบโซลคิน  (Tzolkin) และฮาบ (Haab) ใช้การนับช่วงเวลาในเลขฐาน 20  โดย 1วงจรปฏิทินจะกินเวลา 13 Baktun วันแรกคือ 0.0.0.0.1 ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม 3114 ก่อนศริสต์ศักราช ส่วน Baktunสุดท้าย คือ 13.0.0.0.0  ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2012 (ซึ่งเป็นปฏิทินที่เชื่อว่าทำนายวันสิ้นโลก) โดยมีวิธีการนับดังนี้

  คิน( Kin) = 1 วัน
  1 อุยนัล( Uinal) = 20 คิน( Kin)
  1 ทัน (Tun) = 18 อุยนัล (360 วัน )
  1 คาทัน (Katun) = 20 ทัน (Tun)(7,200 วัน)
  1 แบ็กทัน (Baktun) = 20 คาทัน (Katun) (144,000 วัน)

ชาวมายา มีความสามารถพิเศษสามารถคำนวณว่าวันของโลกเราภายในหนึ่งปีมี 365.2420 ทำให้เห็นถึงความแม่นยำแบบไม่น่าเชื่อ “ ศาสตร์ของชาวมายันนั้นระบุว่า  ทุกๆ 5,125 ปี ดวงอาทิตย์จะเกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่สัมพันธ์กับศูนย์กลางทางช้างเผือก  ดวงอาทิตย์จะได้รับ “ประกายไฟ” (Spark of light) ซึ่งทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงและส่งผ่านความร้อนรุนแรงมากส่งผลต่อมายังโลก เกิดการสับเปลี่ยนขั้วโลก และทำให้เกิดหายนะทางธรรมชาติตามมา ซึ่งคล้ายกับข้อมูลของ องค์การนาซ่าแห่งสหรัฐอเมริกาชี้แจงว่า ทุกๆ 11 ปี ขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์จะกลับหัวกลับหางจากเหนือเป็นใต้ เรียกว่า “ พายุสุริยะ ” เป็นเหตุให้เกิด” จุดดับบนดวงอาทิตย์ “ ทำให้ออกฤทธิ์เปล่งอนุภาคพลังงานสูง

ปรากฏการณ์ทางธรรมทชาติเหล่านี้ ชาวมายาเชื่อว่าจะเกิดขึ้นซ้ำๆและสม่ำเสมอไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือหยุดไปเหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 4 ครั้ง  และจะเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 5 เมื่อครบ 5,125 ปี ซึ่งก็คือวันที่ 21 ธันวาคม 2012 ซึ่งจะทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆเช่น สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ทำผู้คนอดอยากล้มตายและโลกสูญสลายลงในที่สุด

มุมมองนักวิจัยเกี่ยวกับปฎิทินมายา

จาการการสิ้นสุดปฏิทินของชนเผ่ามายา แบ็กทันที่13 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2012 ที่หลายๆคนเชื่อว่าคือวันสิ้นโลก ทำให้นักวิชาการหลายๆคนออกมาโต้แย้งว่า นี้ไม่ใช้การทำนายวันสิ้นโลกแต่เป็นการเริ่มนับรอบวงใหม่หรือขึ้นสู่ยุคใหม่ นั้นเอง ควรจะมีการเฉลิมฉลองต้อนรับยุคใหม่มากกว่าความหวาดกลัว ดั่งเช่น

มาร์เซลโล คานูโต (Marcello Canuto) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอเมริกากลาง (Middle America Research Institute) ของมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ได้กล่าวว่า “อักษรเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองโบราณมากกว่าจะเป็นเรื่องคำพยากรณ์ หลักฐานใหม่นี้ชี้ว่า วันของรอบที่ 13 บักตุน (13 bak’tun) นั้นเป็นเหตุการณ์ในรอบปฏิทินที่สำคัญ ซึ่งชาวมายาโบราณจะฉลองวันดังกล่าว ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้สร้างคำพยากรณ์ถึงหายนะเมื่อถึงวันดังกล่าวแต่อย่างใด”

ไลฟ์ไซน์  อธิบายไว้ว่า “ปฏิทินรอบยาว (Long Count calendar) ของชาวมายานั้นแบ่งเป็นบักตุน (bak’tuns) หรือรอบ 144,000 วัน ที่เริ่มจากวันสร้างโลก (creation date) ของชาวมายา และวันเหมายัน (winter solstice) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. ของปี 2012 คือวันของรอบบักตุนที่ 13 ซึ่งชาวมายากำหนดให้เป็นการครบรอบการสร้างโลก”

คานูโต (ทีมขุดสำรวจ-ทีมนักโบราณคดียุคใหม่) กล่าวว่า “ สิ่งที่อักขระนี้บอกแก่เราคือช่วงเวลาแห่งวิกฤต ซึ่งชาวมายาโบราณใช้ปฏิทินของพวกเขาเพื่อสานความต่อเนื่องและความยั่งยืนมากกว่าจะเป็นการทำนายวันโลกาวินาศ”

ปฎิทินของชนเผ่ามายาสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้า นวัตกรรม และองค์ความรู้ของมนุษย์ในยุคโบราณ ที่สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นภูมิปัญญา ภายใต้ความเชื่อ ความศรัทธา และการดำรงชีวิตที่พึ่งพากับธรรมชาติ ส่งผ่านความเข้มขลังในจิตวิญญาณแห่งความเคารพอย่างแรงกล้า กระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความตื่นตัวเป็นอย่างมากในปีคริสต์ศักราช 2012 ตามความเชื่อคำทำนายสิ้นสุดปฏิทิน Baktun สุดท้ายของชนเผ่ามายา  ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงการนับเริ่มต้นการเริ่มหมุนรอบใหม่ของปฏิทินชาวมายา ที่ควรยินดีและเฉลิมฉลองการเข้าสู่ยุคใหม่ ไม่ใช่การทำนายการสิ้นสุดแต่อย่างใด เเต่สิ่งที่สำคัญให้ผู้คนทั่วโลกควรตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ การอนุรักษณ์และฟื้นฟูให้ธรรมชาติคงอยู่ตลอดไป  เหนือสิ่งอื่นใดมนุษย์ทุกคนควรอยู่กับปัจจุบัน ทำวันนี้ให้มีคุณค่าและเป็นคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน ตราบใดที่ยังมีชีวิต และลมหายใจ มากกว่าวันข้างหน้าหรืออนาคตที่ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร

อ้างอิง

บัญชา ธนบุญสมบัติ.(2555).บทความไขปริศนาโลกแตก2012 .ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ .สืบค้นเมื่อ27 กันยายน 2561, จาก: https://www2.mtec.or.th/th/emagazine/countfavor_article.asp?a=load&fileid=438&Run_no=269

 วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(2561).อารยธรรมมายา.สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561,  จาก:https://th.wikipedia.org/wiki/ อารยธรรมมายา

Mthainews.(2011).ไขปริศนา ปฏิทินชาวมายัน หนึ่งคำทำนาย ภัยพิบัติวันพิพากษาโลก 2012.สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก: https://news.mthai.com/webmaster-talk/136653.html

Mthainews.(2012).ประวัติปฏิทินมายา ทำนายวันสิ้นโลก โลกแตกจริงหรือไม่.สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก: https://teen.mthai.com/variety/52894.html

omega007.(2010). 2012 แกนโลกพลิก,คําทํานายมายัน,มนุษย์ต่างดาว.สืบค้นเมื่ออ27 กันยายน 2561 , จาก: http://www.vcharkarn.com/blog/114199

เช เกวาร่า (Che Guevara) นักปฏิวัติคิวบา

โดย ศิรินาฎ ภูจักงาม

เช ยังไม่ตาย ทุกคนคงคุ้นเคยหรืออาจจะได้ยินประโยคนี้ จากเพลงหรือจากการบอกเล่าของใครสักคน แล้วเชคือใคร เชยังไม่ตายหมายความว่าอย่างไร หากพูดถึงนักปฏิวัติคนสำคัญของโลก เช เกบารา (Che Guevara ) คงเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จักและเป็นชื่อที่คนในทวีปอเมริกาใต้ไม่มีวันลืม จากนายแพทย์ผู้ที่รักการขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยวสู่นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ การอุทิศตนของเชในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม ทำให้รูปภาพใบหน้าของเชที่ถ่ายโดย อัลแบร์โต กอร์ดาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติในศตวรรษที่ 20 และเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่ในใจของใครหลายๆ คนจนถึงปัจจุบันนี้


รูปภาพใบหน้าของเช เกบารา

เช เกวารา (Ernesto Guevara de la Serna) เป็นคนอาร์เจนตินา เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ปี 1928 ที่ Rosario, Buenas Aires ประเทศอาร์เจนตินา ครอบครัวของเชมีฐานะปานกลางแต่เป็นกลุ่มคนชนชั้นสูง ครอบครัวของเชเปลี่ยนที่อยู่อาศัยอยู่หลายครั้ง ในวัยเยาว์เชมีโรคประจำตัวนั่นก็คือ หอบหืด อาการกำเริบของเชรุนแรงมากทำให้เชตัดสินใจที่จะเอาชนะโรคหอบหืดให้ได้ เชเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่างๆ เชชอบเล่นกีฬาและชอบทำกิจกรรมที่ได้ใช้ร่างกายในการออกกำลังกาย เช่นการเล่นรักบี้ ว่ายน้ำ นอกจากชอบเล่นกีฬาแล้วเชยังมีผลการเรียนที่ดีอีกด้วย

ในปี 1947 เชได้ย้ายไปอยู่ที่ Buenos Aires เพื่อไปดูแลคุณยาย แต่ต่อมาคุณยายของเชได้เสียชีวิตหลังจากที่เชเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ Buenos Aires University ได้ไม่นาน การเสียชีวิตของคุณยายทำให้เชตระหนักถึงการดูแลคนในครอบครัวและตัวเองมากขึ้น เชดูแลตัวเองด้วยการหมั่นออกกำลังกายแต่อาการหอบหืดของเชยังคงไม่ดีขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจที่จะพักการเรียนและออกเดินทางท่องเที่ยว

ในปี 1951 เชเดินทางท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ ที่อเมริกาใต้ การท่องเที่ยวในครั้งนี้ทำให้เชพบเจอกับความยากจนของผู้คนในอเมริกาใต้ เชรู้สึกไม่พอใจกับความกดขี่ข่มเหงของระบอบทุนนิยมและเขาปรารถนาที่จะทำลายการขูดรีดของระบบทุนนิยมให้หายไปจากอเมริกาใต้ การพบเจอกับความยากจนทำให้เชสนใจในแนวคิดของ Marxism (ลัทธิมาร์กเป็นหลักการเศรษฐกิจและการเมืองของคาร์ล มาร์ก) ซึ่งเป็นแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมที่เกิดจากการวิเคราะห์สภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมของระบบทุนนิยม หลังจากที่เชเรียนรู้แนวคิดของคาร์ล มาร์ก เชเชื่อว่าระบบสังคมนิยมเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในอเมริกาใต้ได้ ปรารถนาที่จะทำลายการขูดรีดของระบบทุนนิยมทำให้เชมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสังคมในกัวเตมาลาภายใต้รัฐบาลของฮาโกโบ กูซมัน ชัยชนะในการขับไล่ประธานาธิบดีฮาโกโบ ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเชมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น


เช เกวารา หรือ Che Guevara (Ernesto Guevara de la Serna)


ฟิเด กัสโตร (Fidel Castro) หัวหน้านักปฏิวัติชาวคิวบา

ในปี 1954 เชได้เดินทางไปที่เม็กซิโกและได้พบกับ ฟิเด กัสโตร (Fidel Castro) หัวหน้านักปฏิวัติชาวคิวบาและน้องชายของกัสโตร นาย Raúl ที่กำลังวางแผนโค่นล้มอำนาจผู้นำประเทศคิวบา เชได้เข้าร่วมกับฟิเด กัสโตรเป็นกองโจร (Guerrilla) ต่อต้านนาย ฟลูเคนซิโอ บาริสต้า (Fulgencio Batista) ผู้นำคิวบาในตอนนั้น โดยการเป็นที่ปรึกษาให้กับกัสโตร

ในปี 1959 เชและกองโจรสามารถโค่นล้มอำนาจนาย ฟลูเคนซิโอ บาริสต้า (Fulgencio Batista) และสามารถเข้ายึดอำนาจการบริหารของคิวบาได้ ในปี 1959 ถึง ปี 1961 เชได้รับตำแหน่งเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งชาติของประเทศคิวบา (President of the National Bank Of Cuba) และเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงอุตสาหกรรม การทำงานหนักของเชทำให้เศรษฐกิจของคิวบาดีขึ้น นอกจากนี้เชยังรับหน้าที่เป็นราชทูตของประเทศคิวบา เดินทางไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เชได้เข้าร่วมประชุมสหประชาชาติและประกาศว่า คิวบาไม่ต้องการพึ่งพาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจอย่างมากและคว่ำบาตรการค้ากับคิวบากว่า 50 ปีนับตั้งแต่ปี 1963 ทำให้เศรษฐกิจของคิวบาเข้าขั้นวิกฤต

เชได้ดำเนินงานพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศคิวบาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่ง เชจึงแนะนำให้กัสโตรเข้าร่วมกับสหภาพโซเวียต ในเวลาต่อมาเชตัดสินใจลาออกจากการบริหารประเทศคิวบา เนื่องจากเชมีความตั้งใจที่จะไปปฏิวัติประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา

ในปี 1965 กัสโตรได้ประกาศว่าเชได้เดินทางออกจากคิวบาแล้ว เขาใช้เวลาหลายเดือนในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศคองโก เชพยายามปฏิรูปประเทศคองโกแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เชได้รับบาดเจ็บจากการปฏิวัติคองโก ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางกลับประเทศคิวบาในปี 1966

แต่ในระหว่างเดินทางกลับคิวบา เชได้เดินทางไปที่ประเทศโบลิเวียเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐบาลของนาย René Barrientos Ortuño  การเข้ายึดอำนาจของเชไม่ประสบผลสำเร็จ เชโดนกองกำลังทหารของโบลิเวียร่วมมือซีไอเอของสหรัฐอเมริกาเข้าจับกุม และถูกสังหารในวันที่ 9 ตุลาคม ปี 1967 ที่เมือง La Higuera ที่ฝังศพของเชถูกเก็บเป็นความลับ จนกระทั่งในปี 1997 ศพของเชถูกค้นพบและถูกนำกลับมาที่ประเทศคิวบา

หลังจากที่เชเสียชีวิต สิ่งต่างๆ ที่เชได้ทำให้กับทวีปอเมริกาใต้ส่งผลให้ผู้คนยกย่องเชเป็นวีรบุรุษในการปฏิวัติการเมือง ชีวิตของเชถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือและทำหนังภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่อง The Motorcycle Diaries (2004) เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวของเชที่อเมริกาใต้ และ Che (2008)  ภาพยนตร์ชีวประวัติของเช เกบารา รูปภาพใบหน้าของเชปรากฏอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์ รถบรรทุก รวมทั้งภาพใบหน้าเชในเสื้อยืด ผ้าพันคอ ใบหน้าของเชกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้ที่ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ข่มเหง

เมื่อเราตายไป สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่คงมีแค่ความดีที่เราทำให้โลกใบนี้ เช่นเดียวกันกับเชเขาทำสิ่งต่างๆด้วยความตั้งใจว่าจะพัฒนาดินแดนแห่งนี้โดยไม่ได้สนใจชื่อเสียงใดๆ กว่า 50 ปีที่ผ่านมาเชทำให้เรารู้ว่าความดีไม่เคยทำให้เราหายไปจากโลกใบนี้ ถึงแม้เชจะจากไปแต่อุดมการณ์ของเขายังคงอยู่ เขาไม่เคยหายไป เชยังคงอยู่ในใจเราและเป็นตำนานวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกไม่มีวันลืม


ภาพยนตร์เรื่อง The Motorcycle Diaries (2004) 


ภาพยนต์เรื่อง Che


อ้างอิง

ครบรอบ 50 ปี เช เกวารา: 10 ข้อน่ารู้ของนักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561. จาก : https://www.bbc.com/thai/international-41536892

เชยังไม่ตายจากแพทย์ สู่ นักรบ วีรบุรษ นักปฏิวัติ เชกูวาราเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ฟิเดล คาสโตร. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561. จาก : http://www.tnews.co.th/contents/214672

Biography of Ernesto Che Guevara. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561. จาก : https://www.thoughtco.com/biography-of-ernesto-che-guevara-2136622

Che Guevara (1928-1967). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561. จาก :  http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/guevara_che.shtml

Che Guevara Biography Military Leader (1928-1967). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561. จาก : https://www.biography.com/people/che-guevara-9322774

เปิดชีวิต ชนเผ่าฮิมบา (Himba)

โดย วรัญญา คลื่นแก้ว

ปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะด้านการดำรงชีวิตของผู้คนที่มีเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประชากรบนโลกมีความสะดวกสบายและทันสมัยมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าสงสัยและน่าสนใจก็คือ ปัจจุบันยังคงมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ใครหลายๆคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือเคยได้ยินชื่อมาก่อน ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวยังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่กับธรรมชาติโดยที่ไม่ได้สนใจต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเหนือในกลุ่มคนเหล่านั้นก็คือ ชนเผ่าฮิมบา (Himba)



ฮิมบา เป็นชนเผ่าเล็กๆในทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่ในดินแดนแห้งแล้งทางตอนเหนือของประเทศนามิเบีย หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐนามิเบีย (Republic of Namibia) เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ มีชนเผ่าฮิมบาอาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำคูเนเน (Kunene) ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายยาวไม่กี่แห่งในภูมิภาคนี้และเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างทางเหนือของประเทศนามิเบียและแองโกลา  ชนเผ่าฮิมบามีประชากรประมาณ 30,000-50,000 คน จากประชากรทั้งหมด 2.6 ล้านคนในประเทศนามิเบียและมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ทำให้พวกเขาได้ชื่อว่าเป็นชนเผ่ากึ่งเร่ร่อน อพยพตามฤดูกาลและตามแหล่งน้ำเป็นหลัก พวกเขามีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้าและเทคโนโลยีใดๆใช้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะดูแตกต่างจากโลกปัจจุบันแต่พวกเขาค่อนข้างเป็นมิตรกับทุกคน เนื่องมาจากพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยนั้นได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกแห่งในนามิเบีย ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจในวิถีชีวิตของพวกเขาและอยากรู้จักชนเผ่ากลุ่มนี้มากขึ้น



ลักษณะของชนเผ่าฮิมบา มีรูปร่างผอม บาง และสูง มีเนื้อตัวสีแดง มีการแต่งกายแบบ Topless หรือเปลือยกายส่วนบน ซึ่งส่วนล่างจะใช้หนังสัตว์ที่ขัดฟอกด้วยตนเองทำเป็นเสื้อผ้าสำหรับนุ่งห่มและมีทรงผมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆในทวีปแอฟริกา โดยมีการใช้วัสดุท้องถิ่นในการตกแต่งทรงผมที่เรียกว่า เอเรมเบ้ (การแต่งทรงผม) ซึ่งจะใช้ดินโคลนสีแดง เนยและขนแพะสำหรับถักผมเปียและทำทรงเดรดล็อก โดยแต่ละคนมีทรงผมที่แตกต่างกันตามเพศและช่วงอายุที่สามารถบ่งบอกสถานะทางสังคม คือ

เด็กเล็กๆ ชาวฮิมบาจะโกนศีรษะ แต่เมื่อโตขึ้น ผมจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย โดยเด็กผู้ชายจะมี 1 เปีย ปัดไปด้านหลัง แต่จะไม่ไว้เป็นทรงหางม้า ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีถึง 1 -2 เปียด้านหน้า หรือบางทีอาจมีมากถึง 4 เปีย แต่หากเป็นเด็กหญิงฝาแฝดก็จะมีเพียงแค่คนละเปีย



เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่วัยสาว เปียผมจะเปลี่ยนไปเป็นทรงที่คล้ายกับทรงเดรดล็อก (Dread Lock) โดยนิยมนำผมมาปกปิดใบหน้าเพื่อซ่อนความเป็นสาวแรกแย้ม แต่หากเติบโตขึ้นจนถึงวัยที่สามารถออกเรือนหรือมีครอบครัวได้ ก็จะปัดเสยผมไปด้านหลังเพื่อเผยใบหน้าให้หนุ่มเผ่าเดียวกันได้เห็นอย่างชัดเจน หากเป็นหญิงที่แต่งงานไปแล้วมากกว่า 1 ปี หรือเป็นหญิงที่มีบุตรแล้ว จะสวมเครื่องประดับที่ทำจากหนังสัตว์ไว้บนศีรษะ ส่วนผู้ชายหากเป็นหนุ่มโสดจะมัดผมเปียชี้ไปทางด้านหลัง ประดับตกแต่งด้วยเส้นใยปาล์มย้อมสีหรือเศษผ้าสวยงามเท่าที่จะหาได้ และจะเปลี่ยนเป็นการโพกศีรษะด้วยผ้าคลุมผมเอาไว้ทั้งหมดก็ต่อเมื่อแต่งงานแล้ว และจะไม่ถอดผ้านั้นออกอีกต่อไป



จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าชาวฮิมบาทุกคนเอาใจใส่กับทรงผมของตนเองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่แต่ละคนสละเวลาวันละ 2-3 ชั่วโมง เพื่อดูแลเสริมความงามให้กับทรงผมโดยเฉพาะทรงผมเดรดล็อกของผู้หญิงที่ต้องดูแลรักษากันเป็นพิเศษและนอกเหนือจากนั้นพฤติกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ชาวฮิมบาไม่นิยมอาบน้ำ โดยผู้หญิงจะไม่อาบน้ำตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่พวกเขามีวิธีการทำความสะอาดร่างกายที่เรียกว่า อบควันหอม จากการเผาด้วยสมุนไพรแล้วค่อยๆ ยกถ้วยควันไล่อบไปในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนสาเหตุที่พวกเขาไม่นิยมอาบน้ำมาจากความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ มีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำเพื่อล้างตามความประสงค์



ส่วนการดำรงชีวิตของชาวฮิมบานั้นยังคงใช้ชีวิตโดยอาศัยธรรมชาติเป็นหลักใช้ชีวิตที่สงบ เรียบง่าย นิยมเลี้ยงวัวและแพะ โดยมีแพะเป็นสัตว์เลี้ยงประจำเผ่า ส่วนด้านการเกษตรไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำสามารถปลูกพืชได้บางชนิดเท่านั้น เช่น ต้นข้าวโพด เป็นต้น และในสังคมของชาวฮิมบานั้นเพศหญิงต้องทำงานหนักมากกว่าเพศชาย โดยงานส่วนใหญ่ที่เป็นหน้าที่หลักของเพศหญิง คือ การไปตักน้ำเพื่อนำมาใช้สอยในหมู่บ้าน หาเก็บฟืน ทำอาหาร เลี้ยงลูก รวมถึงงานหัตถกรรม เช่น การทักทอเสื้อผ้า และเครื่องประดับ นอกจากนี้การรีดนมวัวและนมแพะก็ยังเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอีกด้วย ส่วนเพศชายนั้นมีหน้าที่หลัก คือ เป็นหัวหน้าเผ่า ดูแลสัตว์และออกล่าสัตว์ที่มักจะต้องห่างไกลจากบ้านเป็นเวลานาน รวมถึงงานก่อสร้างที่เพศชายจะต้องเข้าเมืองเพื่อไปทำงานรับจ้าง



ที่อยู่อาศัยของคนที่นี้ทำมาจากดินโคลนแดง มีหลังคามุงที่ทำมาจากต้นจาก (พืชจำพวกปาล์ม) โดยบ้านแต่ละหลังสร้างเป็นกระท่อมขนาดเล็กเรียงกันในรูปครึ่งวงกลม มีบ้านหัวหน้าครอบครัวกับภรรยาคนแรกอยู่ตรงกลาง พื้นบ้านปูด้วยหนังวัวและใช้หมอนไม้สำหรับรองศีรษะตอนนอน ส่วนอาหารที่ชาวฮิมบารับประทานเป็นประจำ คือ โจ๊ก ซึ่งทำมาจากแป้ง โดยการต้มน้ำให้เดือดและใส่แป้งลงไป อาจเพิ่มน้ำมันและอาหารที่เสิร์ฟ เป็นอาหารที่ไม่มีรสชาติ เพราะชาวฮิมบาไม่รู้จักการใช้เกลือหรือน้ำตาล


ที่มา : http://wowjung.com/

จารีตและประเพณีที่สำคัญของชาวฮิมบา คือ การแต่งงานที่ยังคงเป็นแบบคลุมถุงชนและผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่า 1 คน ในพิธีกรรมเจ้าสาวจะต้องกินเนื้อสัตว์ของฝ่ายชาย ซึ่งนั้นจะแปลว่าเขามีเลือดเนื้อของญาติฝ่ายชายอยู่ในตัวแล้ว หลังจากนั้นเจ้าสาวจะต้องย้ายไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย และหลังจากการแต่งงานการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสเป็นเรื่องจำเป็น ภรรยามีหน้าที่ทาบทามผู้หญิงอื่นที่สามีตนเองต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้หญิงคนนั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากภรรยาด้วย

นอกจากนี้ชาวฮิมบายังมีความเชื่อเกี่ยวกับภูติผี ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Mukuru พวกเขาสามารถสื่อสารกับภูติผีเหล่านั้นโดยผ่านไฟศักดิ์สิทธิ์ โดยบริเวณหน้าบ้านของแต่ละคนนั้นจะมีกองไฟกองเล็กๆ มีควันลอยออกมาเล็กน้อยเพื่อให้รู้ว่านี้คือกองไฟ ชนเผ่า Himba เชื่อว่าห้ามให้ไฟดับเด็ดขาด เพราะไฟนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของครอบครัว บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัวห้ามเดินผ่านระหว่างกองไฟกับหน้ากระท่อมให้เดินอ้อมหลังกระท่อม

สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่าชนเผ่าฮิมบาเป็นชนเผ่าที่ยังคงดำรงชีวิตในแบบดั้งเดิมของตน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเหมือนในยุคปัจจุบัน พวกเขามีความผูกพันและมีวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งก็ทำให้พวกเขามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นของตนเองอย่างชัดเจน กลายเป็นชนเผ่าที่หาดูได้ยากในยุคศตวรรษที่ 21 แต่เนื่องจากโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาหลายๆด้านอย่างรวดเร็ว ทำให้พวกเขาต้องรู้จักปรับตัวและหาวิธีที่จะอยู่รอดในโลกปัจจุบัน โดยมีการอพยพเข้ามาในตัวเมืองเพื่อหารายได้มากขึ้น จนทำให้ชนเผ่ามีจำนวนประชากรลดลงและอาจจะหายสาปสูญไปในที่สุด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าพวกเขาจะยังคงอยู่รอดในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร


อ้างอิง

wichada. (2559). รีวิว นามิเบีย(แอฟริกา)สัมผัสชีวิตชนเผ่าฮิมบา. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก :
http://www.govivigo.com/reviews/

จันทร์เคี้ยว. (2561). ฮิมบา บนสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก :
https://waymagazine.org/allway_himba/

ว้าวจัง. (2560). 5 ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเผ่า Himba ที่แอฟริกา. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561, จาก : http://wowjung.com/837/interesting-facts-about-the-himba/

ZoneGus LifeOnTheWorld. (2018,September 2018). 10 ชนพื้นเมืองที่หาดูได้ยากและกำลังจะหายสาปสูญไป. video posted to https://www.youtube.com/watch?v=tiiV_zr60Zc

admin. (2561). ประวัติ ชนเผ่า Himba ทางตอนเหนือของนามิเบีย. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2561, จาก :
http://www.histoire-afrique.org/

ฟลอเรนซ์ (Florence) : เรเนสซองส์ที่ไม่มีวันตาย

โดย อุไรวรรณ นุ่นนาแซง

ฟลอเรนซ์ที่เป็นต้นกำเนิดของยุคเรเนสซองซ์ที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน  จากเป็นศูนย์กลางของยุคเรเนสซองส์หรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาในอดีตกลายมาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก ที่ผู้คนใฝ่ฝันอยากมา โดยมีประวัติความเป็นมาของเมืองโดยสังเขปและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ดังนี้



ก่อนคริสตกาล อิตาลีตอนกลางในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของพวกอีทรัสคาน ต่อมาจูเลียส ซีซ่าร์ แห่งจักรวรรดิโรมันได้บุกรุกเข้ามายึดครองอิตาลี ทำการขับไล่พวกอีทรัสคานออกไปจากดินแดนนี้ ซีซ่าร์ตั้งเมืองฟลอเรนซ์เป็นเมืองในอาณานิคมของโรมันขึ้นในบริเวณช่วงแคบที่สุดของแม่น้ำอาณ์โน (Arno River) จุดมุ่งหมายแรกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองพักผ่อนของคนชรา

ต่อมาศตวรรษที่ 3 ฟลอเรนซ์ได้กลายเป็นเมืองสำคัญในฐานะศูนย์กลางของการค้าของโรมัน เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง ฟลอเรนซ์ถูกบุกรุกโดยพวกยุโรปเหนือ ทำให้ฟลอเรนซ์สูญเสียความเป็นอิตาลีไปนานกว่าพันปี ศตวรรษที่ 8 กองทัพแฟรงกิชเยอรมันยึดดินแดนยุโรปในแถบนี้ได้โดยกษัตริย์ชาร์ลมาญ และสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิจากการแต่งตั้งของพระสันตะปาปา ความขัดแย้งระหว่างประมุขทั้ง 2 ฝ่ายก่อให้อิตาลีเกิดสงครามกลางเมือง

ฟลอเรนซ์จึงอยู่ภายใต้การปกครองของคน 2 กลุ่มข้างต้น และเป็นช่วงกลียุคของฟลอเรนซ์มีการสู้รบในสงครามกลางเมือง ขณะที่ตระกูลต่างๆ สนใจแต่การค้าขายไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนถึงปลายศตวรรษตระกูลเหล่านี้กลายเป็นพวกมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง จนสามารถให้การสนับสนุนศิลปิน กวี และนักวิชาการทีมีความรู้ในศิลปะแขนงต่างๆ ส่งผลให้ฟลอเรนซ์กลายเป็นเมืองศูนย์กลางศิลปะและวัฒนธรรรมของอิตาลีนับตั้งแต่นั้น


คอสิโม เดอเมดิชี นายธนาคารผู้ริเริ่มนำศิลปะมาใช้กับศาสนา

ฟลอเรนซ์รุ่งเรืองมากที่สุดในระหว่างศตวรรษที่ 11-15 ในฐานะเมืองอิสระที่แบ่งแยกการปกครองระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร ในปลายศตวรรษที่ 15 ฟลอเรนซ์อยู่ใต้การปกครองของตระกูลเมดิชี (Medici) ซึ่งปกครองฟลอเรนซ์ถึง 300 ปี ตระกูลเมดิชีได้เป็นแกรนด์ดยุคของแคว้นทัสคานี (Tuscany) คอสิโม เดอเมดิชี เป็นนายธนาคารผู้ริเริ่มนำศิลปะมาปรับใช้กับศาสนา มีโครงการก่อสร้างโบสถ์วิหาร และศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่งในฟลอเรนซ์

ลอเรนโซ่ อิลมัคนิฟีโค่ เป็นผู้ปกครองเมืองฟลอเรนซ์เป็นคนต่อมา เป็นผู้นำความเจริญมาให้ฟลอเรนซ์มากที่สุดทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งต่อมาทัสคานีรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาณาจักรอิตาลี ฟลอเรนซ์จึงกลายเป็นเมืองหลวงของอิตาลี ในระหว่างปี ค.ศ. 1865-1871 และเมื่อโรมรวมเข้ากับอิตาลีในเวลาต่อมา โรมได้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แม้ฟลอเรนซ์จะลดฐานะลงแต่ก็ยังชื่อเสียงในฐานะเมืองศูนย์กลางศิลปะและวัฒนธรรมของอิตาลีมาโดยตลอด

ใจกลางเมืองเก่าของเมืองฟลอเรนซ์ได้รับเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย องค์การยูเนสโก (Unesco) เมื่อ ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของยุคเรอเนสซองส์ ที่เติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมภายใต้การปกครองของตระ กูลเมดิชี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 -16 รวมไปถึงมีกิจกรรมทางศิลปะที่พิเศษอันดำเนินไปในช่วง 600 ปี

สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน และอื่นๆ ในเขตเมืองเก่าฟลอเรนซ์ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่จะหยิบยกมากล่าวถึงในที่นี้มี 6 แห่ง ได้แก่

1. The Academia Gallery


ที่มา: https://www.expedia.com/

ประติมากรรมหินอ่อน เดวิด (David) ของ มิเกลันเจโล (Michelangelo Buonarroti) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวอิตาลี เปิดแสดงเป็นครั้งแรกที่กรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ประติมากรรมเดวิดเป็นหินอ่อนแกะสลักรูป พระเจ้าเดวิด (King David) ตามตำนานในคำภีร์ไบเบิล ลักษณะเป็นชายหนุ่มยืนเปลือยกาย แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงและความงดงามของร่างกายมนุษย์ มีความสูง 5.17 เมตร หนักราว 6 ตัน มิเคลันเจโล แกะสลักขึ้นระหว่างปี 2044-2047 โดยนำหินอ่อนสีขาวมาจากเมืองคาร์รารา (Carrara) แคว้นทัสคานีของอิตาลี ในคราวที่นำออกแสดงครั้งแรกเป็นที่ฮือฮาของชาวเมืองอย่างมาก ส่งผลให้ชื่อเสียงของมิเคลันเจโนโด่งดังไปทั่วอิตาลี ประติมากรรมเดวิดเป็นรูปปั้นนับเป็นผลงานชิ้นเอกที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางศิลปะในยุค "ฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ” (Renaissance) เป็นหนึ่งในประติมากรรมชิ้นเอกสองชิ้นของมิเคลันเจโล อีกชิ้นหนึ่งคือประติมากรรม "ปิเอตา" (Pieta) ปัจจุบันประติมากรรมเดวิดตั้งแสดงอยู่ที่ The Accademia Gallery กรุงฟลอเรนซ์ นอกจากนี้ยังมีรูปจำลองประติมากรรมเดวิดตั้งแสดงอยู่หลายประเทศ

2. เปียซซาเดลซิญญอเรีย (Piazza Della Signoria)



จัตุรัสที่คึกคักแห่งนี้คือบ้านของเดวิดของมิเกลันเจโล รวมถึงคาเฟ่มากมาย อุฟฟิซีที่มีชื่อเสียงระดับโลก และแกลเลอรีรูปสลักกลางแจ้ง การก่อสร้างปาลาซโซเวคคิโอในปี 1302 ทำให้เปียซซาแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตของชาวฟลอเรนซ์ เช่นเดียวกับในปัจจุบัน ปาลาซโซยังเป็นที่ว่าการเมืองหลักของฟลอเรนซ์ การเลือกตั้งสาธารณะ จลาจลและการประหารเกิดขึ้นที่นี่ ของรูปสลักเดวิดจำลองของมิเกลันเจโล ตั้งอยู่หน้าประตู รูปสลักดั้งเดิมถูกย้ายไปที่แกลเลอรีอัคคาเดเมีย (Galleria dell'Accademia) ในปี 1873 ที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมประติมากรรมชื่อดังหลายรูป

3. หอศิลป์อุฟฟิซิ (Galleria Degli Uffizi)


ที่มา: https://sites.google.com/

หอศิลป์อุฟฟิซิ (ภาษาอิตาลี: Galleria degli Uffizi) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาพิพิธภัณฑ์ศิลปะในโลก ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของ “พาลัซโซ เดกลิ อุฟฟิซิ” ซึ่งเป็นพาลัซโซ (Palazzo) ในเมืองฟลอเรนซ์ ตัวสิ่งก่อสร้างของวังเริ่มโดยจอร์โจ วาซารีในปี ค.ศ. 1560 สำหรับโคสิโมที่ 1 เดอเมดิชิ (Cosimo I de' Medici) เพื่อเป็นสำนักงานของผู้พิพากษาฟลอเรนซ์ - จึงได้ชื่อว่า “uffizi” หรือ “ออฟฟิส” การก่อสร้างทำตามแบบที่วางโดยวาซารีโดย อัลฟองโซ ปาริจิ (Alfonso Parigi) และ เบอร์นาร์โด บวนตาเล็นติ (Bernardo Buontalenti) และเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1581 “cortile” ยาวและแคบและเปิดไปทางแม่น้ำอาร์โนทางด้านหนึ่งเป็นแบบดอริคที่แสดงช่องว่างโดยไม่บังทิวทัศน์ที่นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมใช้เป็นตัวอย่างในการวางแบบถนนทัศน์ในยุโรป วาซารีผู้เป็นทั้งจิตรกรและสถาปนิกเน้นทัศนมิติของความยาวโดยการใช้บัวที่ต่อเนื่องตลอดแนวบนหลังคาของฟาซาด เช่นเดียวกับบัวต่อเนื่องที่ใช้ระหว่างชั้น และใช้บันไดสามชั้นที่ต่อเนื่องกันด้านหน้า

พาลัซโซ เดกลิ อุฟฟิซิใช้เป็นสำนักงานการบริหารทางการยุติธรรมและเป็นที่เก็บเอกสารสำคัญของรัฐ (Archivio di Stato) แผนที่โคสิโมที่ 1 เดอ เมดิชิวางไว้ในการจัดงานแสดงศิลปะที่เป็นของตระกูลเมดิชิมาถูกเปลี่ยนโดย ฟรานเชสโคที่ 1 เดอ เมดิชิ ที่รวมงานชิ้นเด่นๆ ในหอศิลป์ที่กลายมาเป็นจุดดึงดูดของ “Grand Tour” งานเขียนก็เพิ่มมากขึ้นตลอดมาจากการสะสมของตระกูลเมดิชิบ้าง หรืองานที่จ้างทำบ้าง หลังจากตระกูลเมดิชิสิ้นอำนาจ งานสะสมก็ยังเป็นของฟลอเรนซ์ภายใต้ข้อตกลง “Patto di famiglia” ที่ต่อรองกับแอนนา มาเรีย โลโดวิคาทายาทคนสุดท้ายของตระกูล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ หอศิลป์เปิดให้เข้าชมโดยการยื่นคำร้องตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 และในปี ค.ศ. 1765 ก็เริ่มเปิดให้สาธารณชนเข้าชม

4. สะพานเวคคิโอ (Ponte Vecchio)



ปอนเตเวคคิโอ (สะพานเก่า) คือสะพานที่เก่าแก่ที่สุดของฟลอเรนซ์ บันทึกของสะพานในสถานที่แห่งนี้ย้อนกลับไปในปี 1996 ถึงแม้ว่าสะพานที่คุณเห็นอยู่นี้จะถูกสร้างขึ้นในปี 1345 ก็ตาม สะพานนี้มีโค้งสามอันคร่อมแม่น้ำ ร้านรวงสีเหลืองสดใสและหน้าต่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ที่สะท้อนบนผิวน้ำเป็นหนึ่งในภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของฟลอเรนซ์ มีเพียงสะพานเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกเยอรมันระเบิดไปในสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากถอยทัพออกไปเสียก่อน ตำนานกล่าวว่า นั่นเป็นคำสั่งโดยตรงจากฮิตเลอร์

5. มหาวิหารซานตามาเรีย เดลฟิโอเร (Cathedral Of Santa Maria Del Fiore)



บาซิลิกาดิซานตามาเรียเดลฟิโอเร หรือ มหาวิหารฟีเรนเซ (อิตาลี: Basilica di Santa Maria del Fiore หรือ Duomo di Firenze; อังกฤษ: Florence Cathedral) เป็นมหาวิหาร ในเมืองฟีเรนเซ จังหวัดฟีเรนเซ แคว้นตอสกานา ประเทศอิตาลี สร้างขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ออกแบบโดย ฟีลิปโป บรูเนลเลสกี ด้านหน้าโบสถ์ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนสีขาว เขียว และชมพู  มหาวิหารแห่งนี้ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของทวีปยุโรป รองลงมาจาก มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ มหาวิหารเซนต์พอล และ มหาวิหารมิลาน มีความยาว 153 เมตร และฐานของโดมกว้างถึง 90 เมตร

6. โบสถ์ซานลอเรนโซ (Basilica di San Lorenzo)



ที่รูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นหินตัดหยาบๆ แต่กลับซ่อนความงดงามแห่งศิลปะและการออกแบบไว้ภายใน  ซึ่งเป็นผลงานของ มิเกลันเจโล โดนาเตลโล และบรูเนลเลสชีได้ทุ่มเทกับการออกแบบและการตกแต่งโบสถ์แห่งนี้ ซึ่งกลายเป็นที่พำนักชั่วนิรันดร์ของสมาชิกในตระกูลเมดิชีที่ครองฟลอเรนซ์มาเป็นเวลานาน ตระกูลผู้ปกครองที่ร่ำรวยนี้เป็นแหล่งเงินทุนของอาคารยุคเรอเนสซองส์ของฟลอเรนซ์หลายแห่ง

โบสถ์ซานลอเรนโซเป็นหนึ่งในสถานที่ว่ากันว่าเก่าแก่ที่สุดของเมือง ได้รับการเจิมในปี 1393 และถูกก่อสร้างต่อมาอีกหลายปี ตั้งแต่ปี 1419 บรูเนลเลสชีผู้เป็นสถาปนิกรับผิดชอบการออกแบบดั้งเดิม และโค้งสูง เสาโครินเธียน และใส่ใจกับความสมมาตร และเป็นตัวอย่างช่วงต้นๆ ของสิ่งที่กลายเป็นสไตล์เรอเนสซองส์คลาสสิกรวมทั้งธรรมาสน์สำริดที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของโดนาเตลโล รูปนูนต่ำบนธรรมาสน์แสดงฉากจากการคืนชีพและชีวิตของพระเยซู

หากต้องการดูผลงานของช่างฝีมือชั้นครูคนอื่นๆ ของอิตาลี ให้ไปที่ห้องสมุดลอเรนเทียน (Biblioteca Medicea Laurenziana) ในส่วนระเบียงของโบสถ์ มิเกลันเจโลออกแบบพื้นที่นี้ และมักได้รับการชื่นชมว่าเป็นความสำเร็จด้านสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดของเขา นอกจากนั้นมิเกลันเจโลยังรับผิดชอบผนังฉาบปูนและเพดานโดมของ New Sacristy (Sagrestia Nuova) อีกด้วย เขาออกแบบหลุมศพของเมดิชีที่อยู่ภายใน หลุมศพประกอบด้วยรูปสลักที่แสดงสี่เวลาของวัน สมาชิกของตระกูลเมดิชีมากกว่า 50 คนได้ถูกฝังอยู่ในหอสวดมนต์เมดิชีที่กว้างขวาง (Cappelle Medicee)

จะเห็นได้ว่าฟลอเรนซ์ยังคงเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมยุคเรอเนสซองส์ที่งดงามล้ำค่าที่มีมาแต่ดั้งเดิมและภาพวาดที่สะสมมาตามกาลเวลา ที่นักท่องเที่ยวผู้รักงานศิลปะและรักการท่องเที่ยวจะต้องไปเยือน รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมติดอันดับหนึ่งในสิบของโลกที่ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกต่างหลั่งใหลไปท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามของสถาปัตยกรรมเรเนสซองส์อันลือชื่อ อีกทั้งยังเป็นเมืองในฝันที่ต้องไปท่องเที่ยวสักครั้งในชีวิต อันเป็นการสืบต่อวัฒนธรรมความเป็นเรเนสซองส์ให้คงอยู่ประกอบกับการท่องเที่ยวที่เป็นการส่งเสริมให้มรดกเหล่านี้ยังคงสืบทอดต่อมา

ทั้งนี้ชาวโลกต้องขอบคุณอันนา มาเรีย ทายาทคนสุดท้ายของตระกูลเมดิชี ก่อนเสียชีวิตเธอได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติทั้งหลายของตระกูลเมดิชี ให้เป็นสมบัติของเมืองฟลอเรนซ์ โดยมีเงื่อนไขว่างานศิลปะทั้งหลายที่ตระกูลเมดิชีมอบให้จะต้องเก็บรักษาไว้ที่เมืองฟลอเรนซ์ตลอดไป

นอกจากงานศิลปะแล้วฟลอเรนส์ยังเป็นตลาดเครื่องหนังและเครื่องประดับสวย ๆ ของอิตาลีและยังเป็นเมืองที่ฝังศพบุคคลสำคัญๆของโลกอีกด้วย เช่น มิเกลันเจโล อัครมหาศิลปินผู้เป็นสัญลักษณ์ของเมือง กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง และมัคคิอาเวลลี่ รัฐบุรุษคนสำคัญของอิตาลี จึงอาจกล่าวได้ว่าฟลอเรนซ์เป็นเมืองเรเนสซองศ์ที่ไม่มีวันตายด้วยประการฉะนี้


อ้างอิง

ตระกูลเมดิชี. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561, จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/

ประวัติเมืองฟลอเรนซ์.สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 , จาก http://www.italysmile.com/florence/

สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของฟลอเรนซ์.สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561, จาก: https://www.thaipackagetour.net/information/

22 ธ.ค. 2561

ปารีสซินโดรม (Paris Syndrome) ภัยร้ายของคนญี่ปุ่น

โดย ทิวากร พรมธิดา

ประชากรของประเทศที่ขึ้นชื่อว่าประสบกับปัญหาความเครียดมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างญี่ปุ่น ต่างก็ต้องหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดและพักผ่อนสมอง หนึ่งกิจกรรมที่ชาวญี่ปุ่นนิยมมากก็คือ การท่องเที่ยวต่างประเทศ และหากนึกถึงเมืองท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยม ปารีส ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง หากแต่เมืองที่สวยงามในความคิดของคนทั้งโลก ในความจริงแล้วไม่ได้มีแค่ด้านเดียวอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ในหมู่นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปัจจุบัน



ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนทั่วโลกต่างก็รู้ดีว่าประชาชนใส่ใจเรื่องความสะอาด ใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผนตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่คนทั่วไปจะสังเกตเห็นได้คือความเป็นระเบียบ การกระทำเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่น่ายกย่องเป็นอย่างมาก แม้แต่การเรียนและการทำงาน คนญี่ปุ่นก็นับว่าเป็นคนขยัน ตรงต่อเวลา หากสิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ส่งเพียงผลดีต่อผู้คนในประเทศเท่านั้น แต่กลับยิ่งทำให้สังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยการแข่งขันและความเคร่งเครียดที่ก่อตัวขึ้นจากกรอบสังคม

ฉะนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และ ‘ปารีส’ ก็เป็นสถานที่ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น เนื่องจากสื่อโฆษณา รวมทั้งรูปถ่ายตามโซเชียลมีเดีย ได้แสดงให้ผู้คนเห็นถึงสวยงามของปารีส และคิดว่าควรค่าแก่การไปสัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นด้วยตนเอง

แต่แล้วเรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อความจริงกับสิ่งที่คิดไม่แม้แต่จะใกล้เคียงกัน นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ไปเที่ยวปารีสล้วนแต่ได้รับความผิดหวังกลับมาจนกระทั่งบางรายต้องได้รับการบำบัดจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพราะปารีสในความเป็นจริงกับปารีสที่เป็นสววรค์กลางยุโรป เมืองน้ำหอมที่สุดแสนจะโรแมนติก ไม่ได้มีความคล้ายคลึงกับที่วาดหวังไว้แม้แต่นิดเดียว


ที่มา: http://www.sickchirpse.com/

สังคมในเมืองปารีสในความเป็นจริงเต็มไปด้วยเศษขยะตามทางเดิน ผู้คนไม่ชอบทำตามกฎระเบียบ หากเดินเข้าร้านอาหาร พนักงานก็แทบจะไม่สนใจลูกค้า ซึ่งแตกต่างจากร้านอาหารในญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง อีกทั้งนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความปลอดภัย จนกระทั่งเกิดเป็นความวิตกกังวล

การใช้ชีวิตในปารีสไม่กี่วัน นับเป็นเรื่องลำบากสำหรับนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น พวกเขาประสบกับเรื่องที่ไม่คาดคิดอย่างการโดนล้วงกระเป๋าสตางค์ทั้งที่พกมันติดตัวตลอดเวลา การโดนคนไม่รู้จักเข้ามาขอเงิน และก่อกวนตามทางเดิน ไม่ใช่แค่ทางเดินเปลี่ยวๆ แม้แต่ที่ที่เต็มไปด้วยผู้คนอย่างในรถไฟฟ้า ยังมีการลักทรัพย์ ขู่กรรโชกเงิน และการโดนรบกวนรูปแบบต่างๆ ตลอดเวลา

อีกสาเหตุหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นเกิดความผิดหวังในการมาเที่ยวปารีสก็คือการถูกเหยียดเชื้อชาติ คนพื้นที่ในปารีส แสดงออกชัดเจนว่ารังเกียจคนเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน คนทำงาน หรือแม้แต่นักท่องเที่ยว ก็มักจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป แม้กระทั่งคนดำในปารีสก็ยังปฏิบัติกับชาวญี่ปุ่นเหมือนไม่เต็มใจ เพียงแค่มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินผ่าน ก็จะถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตร และหากต้องให้บริการนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น พวกเขาจะแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากให้บริการ หรือแม้กระทั่งถ้าหากชาวญี่ปุ่นต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาก็เลือกที่จะเมินเฉย ไม่สนใจ และไม่พยายามช่วยเหลือแต่อย่างใด

และหากชาวญี่ปุ่นจะหวาดกลัวจนไม่กล้าออกไปเที่ยวข้างนอก การอยู่แต่ในที่พักก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาจะปลอดภัย เนื่องจากบางพื้นที่มีกลุ่มวัยรุ่นหรือแก๊งคนดำที่จะเข้ามาขโมยของ หรือทำร้ายร่างกายพวกเขาได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการงัดแงะ ขโมยกุญแจ หรือฉวยโอกาสตอนที่เจ้าของห้องเปิดปิดประตูเพื่อบุกเข้าไป

จากสาเหตุเหล่านี้นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลายคนถึงกับรับไม่ได้จนกระทั่งล้มป่วย หลายคนกลายเป็นโรคที่เรียกว่า ปารีสซินโดรม โรคที่เกิดจากการตั้งความหวังกับปารีสได้มากเกินความเป็นจริง และผิดหวังจนเกินจะรับได้เมื่อมาเที่ยวที่ปารีสด้วยตนเอง

"คนไข้ 1 ใน 3 อาการดีขึ้นทันที อีก 2 ใน 3 มีอาการกำเริบ ส่วนที่เหลือเป็นโรคจิต" ยูเซฟ มะห์มูเดีย นักจิตวิทยาจากโรงพยาบาลโอเต็ลดิเออ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ชูร์นาลดูดิมองช์ และในปีนี้ (ค.ศ. 2004) สถานทูตญี่ปุ่นในปารีสต้องส่งนักท่องเที่ยวกลับประเทศไปแล้วอย่างน้อย 4 คน ซึ่งในจำนวนนั้น มีนักท่องเที่ยวหญิง 2 คนที่เชื่อว่าห้องพักของตนติดเครื่องดักฟัง และมีการวางแผนลอบทำร้ายพวกเธอ

นอกจากนี้ นักจิตวิทยา แอร์เว เบนฮามู ยังกล่าวกับชูร์นาลดูดิมองช์อีกว่า "นักท่องเที่ยวที่มีจิตใจอ่อนไหวอาจทนรับไม่ได้ เมื่อค้นพบว่าความจริงไม่เป็นไปตามความคิดที่มีต่อประเทศนั้น จึงสามารถทำให้เกิดอาการอันตรายได้" และ ไอมิ หญิงชาวญี่ปุ่นยังกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้อีกว่า "สำหรับเรา ปารีสเป็นเมืองในฝัน ชาวฝรั่งเศสนั้นสวยงามและสง่า...แต่พอชาวญี่ปุ่นมาถึง ก็ต้องพบว่าอุปนิสัยของชาวฝรั่งเศสนั้นตรงกันข้ามกับคนญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง"

จากสาเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น ปารีสซินโดรม จึงเป็นคำที่ใช้เรียกอาการผิดหวังอย่างรุนแรงของคนญี่ปุ่นซึ่งได้ไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบคนปารีส และพบว่าความจริงแล้ว ปารีสไม่ใช่สวรรค์กลางยุโรปแบบที่ใครหลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นเมืองเมืองหนึ่งซึ่งมีปัญหาหลากหลาย เต็มไปด้วยอาชญากร ไร้กฎระเบียบ และสกปรกเพราะเต็มไปด้วยขยะตามพื้นทั้งจากคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวซึ่งมีมากมาย ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับกรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่นที่มีการเคร่งครัดในกฎระเบียบ และความสะอาด อาการผิดหวังจากปารีสของชาวญี่ปุ่นนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ แต่ทว่ากลับส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนคนบางคนที่ไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกผิดหวังนี้ได้ ต้องเข้าคำปรึกษาและรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ จึงกล่าวได้ว่าโรคนี้เป็นโรคใกล้ตัวของบรรดานักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และอันตรายเป็นอย่างยิ่งต่อคนที่มีจิตใจอ่อนไหว


อ้างอิง

Jung explore. (2557). Paris Syndrome. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก: https://pantip.com/topic/32413988

MGR Online. (2549). "ปารีสซินโดรม" เล่นงาน 'ญี่ปุ่น' ท่องฝรั่งเศส. ค้นเมื่อ 27 กันยายน 2561, จาก: https://mgronline.com/around/detail/9490000131637

Wikipedia. (2017). Paris syndrome. Retrieved September 27, 2018, from: https://en.wikipedia.org/wiki/Paris_syndrome

Zeed2222. (2550). ด้านมืดของปารีส. ค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2561, จาก: http://zeed2222.thaimultiply.com/journal/22327/%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AA

หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ผู้คิดค้นอักษรเบรลล์ ผู้เปิดโลกอันมืดมิดของผู้พิการทางสายตา

โดย ชูติมา บัวสงเคราะห์

ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการรับรู้ของมนุษย์ การได้ใช้ดวงตามองสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว เป็นการใช้ประสาทสัมผัสอย่างหนึ่ง และเป็นความสุขที่ได้มองเห็นรูปร่าง สีสัน และความสวยงาม นอกจากนี้ มนุษย์ยังใช้ดวงตาในการเปิดโลก ทั้งโลกภายนอกและโลกแห่งการอ่าน หรือการหาความรู้จากหนังสือด้วย แต่สิ่งสวยงามเหล่านี้กลับเป็นเพียงแค่ความงามในความมืดในโลกของคนตาบอด แต่เขาผู้นี้ “หลุยส์ เบรลล์” คือผู้ให้แสงสว่างในความมืดมิดแก่ผู้พิการทางการมองเห็น


หลุยส์ เบรลล์  (Louis Braille) 

หลุยส์ เบรลล์  (Louis Braille) เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1809 ณ หมู่บ้านกูแวร ประเทศฝรั่งเศส บิดาของหลุยส์ เป็นช่างทำอานม้า หลุยส์ชอบเข้าไปดูในเวลาที่พ่อทำงาน และมักจะซักถามและหยิบจับอุปกรณ์ขึ้นมาเล่นตามประสาของเด็ก และพ่อก็คอยเตือนและห้ามหลุยส์เล่นอุปกรณ์เหล่านี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะของมีคม ในวันหนึ่งหลุยส์ได้ลองเล่นดอกสว่านของพ่อ

แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อดอกสว่านหักทิ่มดวงตาข้างซ้ายของหลุยส์ แม้จะได้รับการรักษาแต่อาการของหลุยส์ก็ไม่ดีขึ้น หลังจากนั้นไม่นานดวงตาข้างขวาของหลุยส์เกิดอการติดเชื้อ ทำให้โลกของหลุยส์มืดสนิท และกลายเป็นเด็กชายตาบอดด้วยวัยเพียง 4 ขวบ หลุยส์เสียใจมากที่เขาไม่สามารถมองเห็นได้อย่างเมื่อก่อน และเขาไม่ต้องการที่จะมีชีวิตที่ลำบาก เนื่องจากในสมัยนั้น คนตาบอดเป็นผู้ที่น่ารังเกียจของผู้คนในสังคม มีชีวิตเร่ร่อน และไม่ได้รับการเหลียวแลจากใคร แต่หลุยส์โชคดีที่ยังมีครอบครัวที่อบอุ่นและพร้อมช่วยเหลือเขาเสมอ ทุกคนพยายามช่วยให้หลุยส์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ ช่วยเหลือตัวเอง ช่วยงานในบ้านบางอย่างได้ และหลุยส์ก็พยายามที่จะเรียนรู้และอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้เช่นกัน

เมื่ออายุได้ 10 ปี หลุยส์ได้เข้าเรียนในสถาบันเพื่อเยาวชนตาบอดแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กรุงปารีส โดยเข้าเรียนตามคำแนะนำของบาทหลวงชาก ปาลลุย ผู้ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในหมู่บ้าน เขาได้ถ่ายทอดวิชาความรู้หลายๆด้านให้กับหลุยส์ และหวังให้หลุยส์ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เมื่อได้เข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ หลุยส์ต้องปรับตัวในหลายเรื่อง แต่หลุยส์ก็มีเพื่อนที่คอยแนะนำและสอนการใช้ชีวิตในโรงเรียน

ในสมัยอดีต คนตาบอดจะอ่านหนังสือจากการใช้นิ้วสัมผัสตัวอักษรนูน แต่ตัวอักษรนูนนี้กลับอ่านยากไปสำหรับคนตาบอด กว่าจะสัมผัสตัวอักษรแต่ละตัวได้นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ใช้เวลานานกว่าจะอ่านหนังสือหนึ่งเล่มจบ และหนังสือในห้องสมุดของคนตาบอดก็มีเพียง 14 เล่มเท่านั้น หลุยส์จึงพยายามหาวิธีที่จะอ่านหนังสือได้ง่ายและเร็วขึ้น

ในปี ค.ศ. 1821 ร้อยเอกชาร์ล บาร์บีเย นายทหารแห่งกองทัพฝรั่งเศส ผู้คิดค้นอักษรไนต์ไรติงที่ใช้ทางการทหาร โดยมีวิธีเจาะรูบนกระดาษตั้งเป็น 2 แถว แถวละ 6 จุด รวมเป็น 12 จุด นายทหารผู้นี้ได้เข้ามาสอนในโรงเรียนคนตาบอด เมื่อหลุยส์ได้เรียนและลองใช้อักษรนี้ พบว่ายากต่อการเข้าใจและใช้ได้แค่ในประโยคสั้นๆ และไม่สามารถเขียนเป็นประโยคยาวๆได้ หลุยส์จึงเริ่มศึกษาและคิดหาวิธีใหม่ที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและง่ายต่อการการประดิษฐ์อักษรเพื่อใช้ทำหนังสือ

หลุยส์ใช้ความพยายามอย่างมากในการคิดหาวิธีประดิษฐ์ตัวอักษรที่คนตาบอดสามาถรถเข้าใจง่ายกว่านี้ แม้ว่าเขาจะถูกบั่นทอนกำลังใจและเหลือความหวังอยู่เพียงน้อยนิด แต่เขาลองผิดลองถูกอยู่นานและก็ยังพยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1824 หลุยส์คิดค้นอักษรจุดที่ใช้แทนตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว ด้วยจุดเพียง 6 จุดได้สำเร็จด้วยวัยเพียง 15 ปี และในภายหลังได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อักษรเบรลล์ (Braille)


ตัวอย่างอักษรเบรลล์ คำว่า Premier
ที่มา: https://th.wikipedia.org/

หลุยส์ได้ให้เพื่อนในโรงเรียนลองใช้ตัวอักษรของเขา และมีการทำหนังสือขึ้นมา พบว่าอ่านได้ง่าย เข้าใจและรวดเร็ว หลังจากนั้นเมื่ออาจารย์ใหญ่ทราบเรื่องจึงได้ส่งหนังสือของหลุยส์ไปยังที่ต่างๆแต่ก็ถูกตีกลับ หลังจบการศึกษาหลุยส์ได้เข้าเป็นอาจารย์ในโรงเรียนสอนคนตาบอด และได้เขียนหนังสือ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ เพราะทุกคนไม่เชื่อว่าตัวอักษรนี้จะทำให้คนตาบอดอ่านหนังสือได้จริง
หลุยส์ในวัย 30 ปียังคงพยายามสอนอักษรเบรลล์ให้กับนักเรียนและพยายามทำให้ผู้คนยอมรับอักษรเบรลให้ได้ แต่ในระหว่างนั้น สุขภาพของหลุยส์กำลังย่ำแย่ลงด้วยวัณโรคปอด จึงทำให้เขาต้องกลับไปพักฟื้นที่บ้านเกิด

ในปี ค.ศ. 1844 วันแห่งความสำเร็จก็มาถึง เมื่อหลุยส์ได้เปิดตัวอักษเบรลล์ในพิธีเปิดสถาบันเพื่อเยาวชนตาบอดแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ หลุยส์ปลื้มปิติกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ทุกคนได้รู้จักตัวอักษรเบรลล์ อักษรเบรลล์เป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคม เขาได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก นับว่าความตั้งใจและความพยายามของเขาที่อยากให้คนตาบอดได้อ่านหนังสือออก ได้เปิดโลกที่มืดมิดให้กลับมาสว่างอีกครั้งประสบความสำเร็จแล้ว

แม้หลุยส์จะทำให้คนตาบอดได้มีอักษรไว้ใช้และทำให้ผู้คนรู้จักกับอักษรเบรลล์ แต่ในบั้นปลายชีวิตของหลุยส์นั้น กลับไม่ได้สวยงาม หลุยส์ยังคงทำหนังสือ ทำงานอย่างหนักและต่อสู้กับความลำบากมาโดยตลอด จึงทำให้สุขภาพของเขาย่ำแย่และมีอาการทรุดลงอย่างต่อเนื่อง โรคร้ายได้กล่ำกลายชีวิตของเขา จนมาถึงวันสุดท้ายของชีวิต ในวันที่ 6 มกราคม ปี ค.ศ. 1852 หลุยส์สิ้นลมหายใจอย่างสงบด้วยวัยเพียง 43 ปีจากอาการป่วยโรควัณโรคปอด การเสียชีวิตของหลุยส์เป็นเรื่องที่น่าเศร้า มีเพียงญาติและเพื่อนสนิทไม่กี่คนที่ไปเคารพหลุมศพ หรือแม้แต่สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังไม่มีการตีพิมพ์เรื่องการเสียชีวิตของหลุยส์

หลังจาก 100 ปีผ่านไป ในปี ค.ศ. 1952 มีหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับหลุยส์ และอักษร เบรลล์ของเขาก็กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก

ศพของหลุยส์ที่ฝังอยู่ในบ้านเกิด ถูกย้ายไปยังสุสานแห่งชาติปองเตอง สุสานสำหรับบุคคลสำคัญเท่านั้นที่จะได้รับการฝังศพ ณ ที่แห่งนี้ และในพีธีเคลื่อนย้ายศพในครั้งนั้น ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เข้าร่วมขบวน พร้อมกับคนตาบอดมากมายที่มาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

จากเรื่องราวชีวิตของหลุยส์ เบรลล์ ทำให้เห็นว่า เขาเป็นบุคคลที่มีความหวังในชีวิตเสมอ แม้จะเป็นความหวังอันริบหรี่ แต่เขาไม่เคยหมดหวัง เขามีความตั้งใจและมีความพยายามอย่างมากในการที่จะทำให้คนตาบอดได้มีตัวอักษรอ่านและเขียน เขาเข้าใจความรู้สึกที่โลกมืดสนิทไม่มีแม้แต่แสงสว่างนี้ดี หากได้อ่านออกเขียนได้ย่อมทำให้ชีวิตพบกับโลกที่สว่างและกว้างใหญ่ อีกสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้หลยุส์ประสบความสำเร็จนั้น มาจากกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้าง และอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของเขานั่นก็คือ คำพูดบั่นทอนจิตใจ แม้จะทำให้หลุยส์เสียใจและแทบหมดสิ้นหวัง แต่คำพูดเหล่านั้นกลับเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาประดิษฐ์อักษรเบรลล์จนประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่า ทุกความพยายามในทุกการกระทำมีความหมายเสมอ และผู้ชายตาบอดคนนี้ก็ได้กลายเป็นที่จดจำของคนตาบอดและผู้คนทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้


อ้างอิง

วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์. (2560). “หลุยส์ เบรลล์” เปลวไฟ…ในโลกมืด. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561, จาก : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/54731.html

สารคดีสุดยอด ผู้คิดค้นอักษรเบรลล์ Louis Braille หลุยส์ เบรลล์ [Video file]. สืบค้นเมื่วันที่ 27 กันยายน 2561, จาก :  https://www.youtube.com/watch?reload=9&v=XfPDII0kSjA

Kang Minhee. (2555). Who? หลุยส์ เบรล (สุรางคนา เก่งสาริกิจ). กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์.