หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

20 ธ.ค. 2561

พีธีสตี (Sati)

โดย อาภัสรา เมืองโคตร

ในหลายประเทศที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ หลากความคิดและความเชื่อ จึงมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแต่ ส่วนมากล้วนเกิดมาจาก ความเชื่อเป็นสำคัญ ดังที่จะกล่าวถึงพิธีกรรมหนึ่งที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานในประเทศอินเดีย คือ พิธีสตี

พิธีสตี เป็นพิธีการที่เผาหญิงหม้ายในกองฟืนพร้อมศพสามีที่เสียชีวิตถึงแม้จะมีหลักฐานที่บันทึกว่า ในสมัยโบราณ พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบูชายัญหญิงหม้ายด้วยไฟเกิดได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และในหลายกลุ่มชาติพันธุ์แต่พิธีที่สืบทอดมาจนเป็นเป็นที่รู้จักและรับรู้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันนั้น คือพิธีสตีในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพิธีกรรมของศาสนาฮินดูและอาจมีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อแต่โบราณ



โดยพิธีสตีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อชำระบาปให้แก่ทั้งสามีและภรรยาเพื่อความมั่นใจว่าคู่สามีและภรรยาจะได้อยู่ร่วมกันต่อไปในหลุมศพเดียวกัน ในบางครั้งหญิงหม้ายนั้นก็เต็มใจในการเข้าร่วมพิธีแต่บางครั้งก็ถูกคนอื่นบังคับหญิงหม้ายที่ทำพิธีนี้จะถูกยกย่องให้เป็นมหาเทวีสตีมาตา และเรียกพื้นที่ที่ประกอบพิธีว่า สตีสถล (สตีสะถะละ) แล้วสร้างโบสถ์หรือวัดเพื่อให้ประชาชนกราบไหว้บูชา

ชาวอินเดียเชื่อว่าพิธีนี้ได้เริ่มมาจาก รานีองค์หนึ่ง ชื่อนารยารานี เทวี ชายาของตันธัน ดัส ผู้เสียชีวิตเพราะสุลต่านแห่งแคว้นฮีสสา ซึ่งอยากได้ม้ามงคลเลยแย่งด้วยการสังหารสวามีของ นารยารานี นางเสียใจมากเลยยอมตายพร้อมสวามีด้วยการกระโดดเข้ากองเพลิงจากนั้นก็ได้มีประชาชนเลียนแบบทำตามมาเรื่อยๆและได้ตั้งชื่อนางว่า Rani Sati แต่จากการขุดค้นของนักโบราณคดี ที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณเมื่อปี 1978 ที่ตำบลหาดาห์  รัฐอุตตรประเทศ ทำให้รู้ว่าพิธีสตีมีมานานเป็นหมื่นปีแล้ว พิธีสตีเป็นพิธีใช้ป้องกันเวลาที่สามีตายอย่างปัจจุบันทันด่วนภรรยาก็ควรจะตายด้วยเพราะสมัยนั้นคิดว่าภรรยาชอบวางยาพิษสามีมากและทำให้พิธีสตีมารุ่งเรืองสุดขีดในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 ที่เมืองวิชัยนาก้า



พิธีสตีมี 2 ประเภทคือ

1.  สหมรณะ   ฆ่าตัวตายตามวันที่เผาศพสามี

2.  อนุมรณะ   ฆ่าตัวตายตามวันหลังในกรณีที่อยู่คนละเมืองไม่สะดวกแม่หรือพี่สาวน้องสาวก็ทำนิยมทำสตีตามลูกชายพี่ชายเหมือนกัน

การเผาตัวตายตามสามีของภรรยาผู้ซื่อสัตย์จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มหญิงที่มีฐานะต่ำต้อย

หญิงที่มีฐานะต่ำต้อยเมื่อศพของสามีนางจะถูกนำมาเผาที่กลางแจ้งนอกเมืองซึ่งมีกองไฟกองใหญ่ก่อไว้ ขณะที่ซากศพกำลังถูกเผาอยู่นั้นภรรยาของเขาจะกระโจนเข้าไปในกองไฟด้วยความเต็มใจและถูกเผาตายตามไปด้วย

กลุ่มหญิงผู้ทรงเกียรติและมีทรัพย์สินมากมาย

หญิงที่มีเกียรติและมีทรัพย์สินมากหญิงกลุ่มนี้จะมีพิธีที่แตกต่างออกไปเมื่อสามีของหญิงคนนั้นได้ตายไป ญาติพี่น้องของเธอจะไปยืนรอที่หลุมฝังศพที่มีความลึกเท่าความสูงของผู้ชายและใส่เครื่องหอมลงไปจากนั้นก็นำศพวางลงไปและจุดไฟเผาและถ้าภรรยาของผู้ตายที่ต้องการให้เกียรติผู้ตายจะถามกำหนดวันเวลาแน่นอนของวันที่ตนจะถูกนำไปเผาร่วมกับผู้ตาย

จากนั้นบรรดาญาติพี่น้องของหญิงหม้ายและสามีจะให้เกียรติแก่การกระทำของเธอและจัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างสนุกสนานเมื่อทุกคนมาพร้อมเพรียงกันจะร่วมสนุกกันและร่วมกันปลอบโยนหญิงหม้ายเธอจะมอบทรัพย์สินที่มีอยู่ให้แก่พี่น้องและเพื่อนฝูงที่มาร่วมงาน

เมื่อถึงวันเวลาที่กำหนดแล้วหญิงคนนั้นจะแต่งกายอย่างสวยงามและหรูหราที่สุดประดับอัญมณีล้ำค่า  ส่วนทรัพย์สินที่เหลือเธอจะแบ่งให้แก่ลูกหลานญาติพี่น้องและเพื่อนๆจากนั้นเธอก็จะขึ้นนั่งบนหลังม้า สำหรับม้าที่ใช้ในพิธีจะต้องเป็นม้าสีเทาหรือสีขาวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อจะทำให้หญิงหม้ายดูสง่างามที่สุด

จากนั้นจะพาเธอผ่านไปรอบเมือง ปลอบโยนเธอไปตลอดทาง จนกระทั่งถึงบริเวณที่สามีเธอจะถูกเผา  ณ หลุมศพเดียวกับสามีของเธอจะมีผู้นำเอาฟืนมาวางไว้เพื่อจุดไฟกองโตและรอบๆบริเวณจะตั้งห้างล้อมไว้มีบันไดทางขึ้น 3-4 ขั้น จากนั้นหญิงหม้ายจะเดินขึ้นไปบนห้างนั้นทั้งๆที่สวมอัญมณีและเสื้อผ้า เดินวนรอบห้าง 3 รอบ  และยกมือชูขึ้นไปบนท้องฟ้า ทำความเคารพไปทางทิศตะวันออก 3 ครั้ง เมื่อเสร็จแล้วเธอจะเรียกญาติพี่น้องและเพื่อนมาหา และแจกอัญมณีในตัวเธอให้พวกเขาระหว่างนั้นจะมีการแสดงความสนุกสนานเหมือนกับว่าหญิงคนนั้นไม่ใช่ผู้ที่จะเดินไปสู่ความตายหลังจากการแจกอัญมณีที่สวมใส่ทั้งหมดแล้วจะเหลือเพียงผ้าชิ้นเล็กๆปิดคลุมร่างกายท่อนล่างของหญิงหม้ายจากเอวลงมา

ต่อมาเธอจะกล่าวแก่บรรดาผู้ชายว่า “ ดูกรท่านชายทั้งหลาย พวกท่านเป็นหนี้บุญคุณภรรยาท่านมากเพียงใดภรรยาผู้เต็มใจที่จะเผาตนเองตายตามสามีไปด้วย  จากนั้นเธอจะกล่าวแก่บรรดาผู้หญิงว่า “ดูกรแม่หญิงทั้งหลายพวกท่านเป็นหนี้บุญคุณของสามีท่านมากเพียงใดด้วยเหตุนี้ขอจงได้ตามเขาไป แม้กระทั่งยามตายเถิด”                   

หลังจากนั้นบรรดาญาติมิตรจะมอบเหยือกสองหูที่บรรจุน้ำมันให้หญิงผู้นั้นและเธอจะนำเหยือกนั้นมาวางบนศีรษะของตนพร้อมกับสวดมนต์ไปด้วยและจากนั้นหญิงผู้นั้นก็เดินบนห้างวนรอบหลุมศพ 3 รอบ ทำความเคารพไปทางทิศตะวันออก เสร็จแล้วก็โยนเหยือกน้ำมันลงไปในหลุมไฟ พร้อมกับกระโจนตามเหยือกน้ำมันไปญาติพี่น้องของผู้หญิงคนนั้นซึ่งเตรียมเหยือกและหม้อบรรจุน้ำมัน เนยเหลวและฟืนไว้พร้อมแล้วก็จะโยนของเหล่านั้นตามไปทันทีเพื่อให้ไฟไหม้อย่างรุนแรงและร่างของผู้หญิงคนนั้นก็จะได้กลายเป็นเถ้าถ่านไปโดยเร็วหลังจากนั้นบรรดาญาติพี่น้องจะเก็บเถ้าถ่านที่เหลือโยนไปในน้ำ


An 18th-century painting depicting sati

พิธีสตีค่อย ๆ เสื่อมลง และถูกระงับโดยชาวอังกฤษที่มายึดครองอินเดีย ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่ประจำที่อินเดีย ชื่อนายพล ลอร์ด วิลเลียม เบนทิงค์ ซึ่งเป็นนักปฏิรูปด้านมนุษยธรรมได้ตรากฎข้อบังคับขึ้นว่า "การประกอบพิธีสตีหรือการเผาฝังสตรีม่ายชาวฮินดูทั้งเป็นนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย" แม้ว่าจะมีการออกกฎหมายและข้อห้ามในการทำพิธีสตีแต่ก็ยังคงมีการลักลอบประกอบพิธีสตีขึ้นตามชนบทที่ห่างไกลซึ่งมักจะเป็นการลักลอบประกอบพิธีของพวกราชบุตรซึ่งยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีแบบเก่านั่นเอง จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ตรากฎหมายเพื่อล้มเลิกพิธีสตีในอินเดียไปตั้งแต่ ค.ศ. 1829 แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่อาจล้มล้างพิธีนี้ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิงมีการบันทึกสถิติว่าในช่วงหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษจนกระทั่งถึงช่วงกลางทศวรรษ1980 มีการกระทำพิธีสตีประมาณ 40 ครั้ง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละภูมิประเทศและแต่ละพื้นที่ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไปจากความเชื่อได้กลายมาเป็นพิธีกรรมและได้มีการปฏิบัติตามความเชื่อนั้น ดังเช่นตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเรื่องของพิธีสตีที่หญิงม้ายต้องกระโดดลงในกองไฟตามสามีที่ตายไปนั้นเป็นความเชื่อและเราถ้ามองในมุมมองของกลุ่มคนที่เขาปฏิบัติก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ภรรยาได้แสดงความรักต่อสามีที่ตายก็ตายตาม ทำให้เราได้เห็นว่าในพื้นที่เขาอยู่นั้นผู้ชายจะเป็นใหญ่มากกว่าผู้หญิง หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่โหดร้ายและอาจรับไม่ได้ ในมุมมองของเรามองอาจเป็นเพราะเนื่องจากแต่ละการดำรงชีวิตนั้นไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นทางด้านศาสนา สังคม และสภาพแวดล้อมที่เรานั้นอยู่  ทุกอย่างล้วนมีปัจจัยในการหล่อหลอมความคิดของคน ความเชื่อและการปฏิบัติเป็นสิ่งที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากเราก็ไม่ควรไปว่าหรือกล่าวหาบอกว่าเป็นสิ่งไม่ดีเพราะเราไม่สามารถไปห้ามหรือเปลี่ยนความคิดความเชื่อของใครได้ เพราะขนาดมีกฎหมายที่ออกมาห้ามอย่างชัดเจนก็ยังมีการปฏิบัติอยู่ นั่นก็เพราะเนื่องมาจากความเชื่อที่เขาถูกปลูกฝังกันมานานถ้าเราไม่เห็นด้วยก็แค่ไม่ไปปฏิบัติตาม ดังนั้นเราควรต้องมีวิจารญาณในการศึกษาหรือการค้นคว้าในเรื่องต่างๆแสดงความคิดเห็นในสิงที่เป็นกลาง


อ้างอิง

จิตนภา ศาตะโยธิน(ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร).  (2553).  สตี : พิธีบูชายัญตนเองของหญิงหม้ายในอินเดีย.   สืบค้นเมื่อ 14กันยายน, 2561, จาก : http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2010/11/blog-post.html

Pestle.  (2551).  สตี พิธีสยองขวัญของอินเดีย. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน, 2561, จาก: https://talk.mthai.com/inbox/78929.html

วิสุทธ์ บุษยกุล. (ม.ป.ป.) วิสุทธนิพนธ์. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 2

สุนทร ณ รังสี. (2545). ปรัชญาอินเดียและลัทธิ.(พิมพ์ครั้งที่ 3).กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น