หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

20 ธ.ค. 2561

กองทัพมองโกลและกลศึกของเจงกีสข่าน

โดย พรพิตรา โสมี

ในบรรดายอดนักรบผู้เกรียงไกรในดินแดนเอเชีย เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่นึกถึง "เจงกีสข่าน" จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรมองโกล ผู้ที่รวบรวมและสถาปนาชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายโกบีให้กลายเป็นอาณาจักรที่โลกต้องจารึก กองทัพมองโกลภายใต้การนำของเจงกีสข่านสามารถพิชิตดินแดนเอเชียตะวันออกไปจนถึงยุโรปตะวันออกได้อย่างไร เจงกีสข่านผู้นี้ใช้กลการศึกใดจึงสามารถเข้ายึดดินแดนต่าง ๆ มาไว้ในปกครองได้ บทความนี้จะตอบคำถามเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน


อนุสาวรีย์ เจงกิสข่าน

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 กองทัพที่เกรียงไกรและถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็คือกองทัพของอาณาจักรมองโกล ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเจงกีสข่าน เดิมชาวมองโกลเป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อนที่อาศัยอยู่ในเขตทุ่งหญ้าและทะเลทรายโกบี จนถึงเขตตอนกลางของทวีปเอเชีย ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อน และอากาศเย็นจัดจนกลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว ชาวมองโกลมีรูปร่างอ้วนเตี้ย แก้มตอบสูง และผิวสีเหลืองออกคล้ำเนื่องจากตากแดดและลมเป็นเวลานาน มีความชำนาญในการขี่ม้า เพราะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนหลังอานม้า

หลังจากเจงกีสข่านได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองชนเผ่ามองโกลต่อจากบิดาของเขา "เยซูไก" เขาก็ได้นำพากองทัพบุกเขายึดดินแดนต่าง ๆ นับจากเอเชียตะวันออก ถึงเอเชียตะวันตก และดินแดนยุโรปตะวันออกได้บางส่วน กองทัพของเจงกีสข่านเคลื่อนพลโดยใช้ม้าเป็นพาหนะ มีความชำนาญในการใช้อาวุธสู้รบบนหลังม้า สามารถบุกเข้าโจมตีศัตรูและถอยกลับได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นกองทหารม้าที่เก่งกาจที่สุดในโลกในยุคสมัยนั้น


กองทัพมองโกล
ที่มา: http://topicstock.pantip.com/  

ม้ามองโกลเป็นม้าที่มีลักษณะตัวเล็ก เตี้ย ไม่สูงใหญ่ เมื่อม้าเดินหรือวิ่งจะไม่กระโดกกระเดก หลังม้าจะราบเรียบไปกับพื้น ทำให้สามารถทรงตัวได้ดี อีกทั้งทหารทุกคนต้องมีเสบียงที่เป็นอาหารแห้งติดตัวไว้ เช่นเนื้อรมควัน นมข้นที่ใช้ละลายในน้ำดื่ม ซึ่งเก็บรักษาได้ง่ายและสะดวกต่อการพกพา ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ประกอบกับทหารมองโกลมีร่างกายที่แข็งแรงและอดทนต่อความเลวร้ายของสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี พวกเขาถูกฝึกให้ขี่ม้า ล่าสัตว์ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก นอกจากนี้ทหารมองโกลยังมีระเบียบวินัยในตนเองสูง ทำให้ได้เปรียบศัตรูเป็นอย่างมาก

เมื่อกองทัพมองโกลเข้ายึดครองดินแดนใด ก็จะนำเอาความรู้วิทยาการในด้านต่าง ๆ ของดินแดนเหล่านั้นมาปรับและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับอาณาจักรของตน โดยเฉพาะด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เช่นเมื่อครั้งที่เจงกีสข่านกรีฑาทัพเข้ายึดอาณาจักรคาเธย์ หรือจีน ก็ได้นำวิธีผลิตดินปืนมาใช้ทำระเบิดเพื่อใช้ในการรบด้วย ดังนั้นกองทัพมองโกลจึงมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จึงส่งเสริมให้กองทัพมองโกลกลายเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กองทัพของชนชาติอื่น แต่ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กองทัพของมองโกลมีความแข็งแกร่ง จนสามารถบุกเข้ายึดดินแดนต่าง ๆ มาไว้ในปกครองได้ก็คือ มีผู้นำกองทัพที่เก่งกาจและมีความสามารถอย่างเจงกีสข่าน และมีกลการศึกที่ชาญฉลาดจนศัตรูไม่อาจต้านทานกองทัพของมองโกลได้


การโจมตีศัตรูของกองทัพมองโกล
ที่มา: http://www.komkid.com/

เจงกีสข่านได้วางแผนการรบอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยไม่ได้อาศัยความชำนาญเพียงอย่างเดียว แต่เขายังใช้ปัญญาในการออกกลอุบายต่าง ๆ เพื่อให้ศัตรูพลาดท่าเสียที และทำให้เขาประสบชัยชนะในการออกรบมาโดยตลอด กลการศึกของเจงกีสข่านตามที่มีผู้รวบรวมไว้ดังนี้

1. จู่โจมแบบสายฟ้าแลบ เจงกีสข่านจะอาศัยช่วงที่ศัตรูไม่ทันระวังตัวส่งกองกำลังที่เรียกว่า "คิยัติ" เข้าจู่โจมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากกองทัพมองโกลมีความชำนาญในการใช้อาวุธและรบบนหลังม้า จึงทำให้เคลื่อนที่ได้รวดเร็วและคล่องแคล่วกว่าศัตรูที่ใช้ทหารราบ นอกจากนี้ทหารมองโกลยังสามารถนอนหลับบนหลังม้าโดยไม่ต้องใช้เชือกหรือเข็มขัดรัดตัวกับม้า และอยู่บนหลังม้าเป็นเวลาหลายวันโดยไม่ต้องหยุดพัก

2. สร้างความสับสน หากเจงกีสข่านเห็นว่าศัตรูมีกำลังพลมากกว่า เขาจะใช้วิธีการสร้างความสับสนให้แก่ศัตรู โดยมอบหมายให้ทหารส่วนหนึ่งนำธงของมองโกลไปปักไว้ในชัยภูมิที่ศัตรูสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเพื่อให้ทหารของศัตรูที่กำลังสู้กับทหารมองโกลเกิดความสับสนและคิดว่าตนกำลังจะแพ้ทหารมองโกล จึงยอมให้ทหารมองโกลปลดอาวุธแต่โดยดี และหากกองทัพมองโกลกำลังเพลี่ยงพล้ำให้แก่ศัตรูจะใช้วิธีการให้ทหารม้าฝ่าเข้าไปในกองทัพของศัตรูแล้วโยนระเบิดควันเข้าไป พร้อมทั้งตะโกนเป็นภาษาของฝั่งศัตรูว่าถอย ทำให้ทหารของศัตรูเกิดความสับสนและพยายามถอนทัพกลับจนเสียรูปขบวนการรบ หลังจากนั้นทหารมองโกลก็เข้าโจมตีศัตรูด้วยความรวดเร็วทันที

3. หลอกล่อให้โจมตี เจงกีสข่านจะใช้วิธีการหลอกล่อศัตรูโดยทำทีว่ากองทัพมองโกลไม่สามารถต้านทานศัตรูได้ แล้วล่าถอยออกจากสมรภูมิรบ เมื่อศัตรูตายใจและตามรุกเข้าโจมตี ก็จะรีบสั่งให้กำลังทหารอีกกลุ่มที่รออยู่เข้าโอบล้อมศัตรูและจู่โจมอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า กลยุทธ์ตูลักกา

4. หลอกล่อให้ตายใจ วิธีการนี้จะใช้ในกรณีที่ศัตรูตั้งรับการโจมตีอยู่ภายในเมือง เมื่อศัตรูเริ่มทำการรบไปได้สักพัก กองทัพมองโกลจะแสร้งทำเป็นถอยหนีแล้วปล่อยควันดำกำบังจนศัตรูตายใจ และเชื่อว่าสามารถขับไล่ทหารมองโกลได้แล้ว เมื่อศัตรูไม่ทันระวังและเริ่มเฉลิมฉลองชัยชนะก็จะบุกเข้ายึดเมืองทันที

5. สร้างความหวาดกลัว ด้วยการแสดงให้เห็นว่ากองทัพมองโกลโหดร้ายและทารุณ วิธีนี้จะใช้เป็นบางครั้งเท่านั้น โดยเมื่อสามารถยึดครองเมืองได้แล้ว ก็เผาทำลายบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างให้สิ้นซาก พร้อมทั้งสังหารชาวเมืองจนหมดสิ้น เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ดินแดนอื่น ๆ ที่คิดจะเป็นปรปักษ์และแข็งข้อกับมองโกล กองทัพมองโกลเป็นหวาดหวั่นและน่าสะพรึ่งกลัวสำหรับดินแดนต่าง ๆ จนถูกเรียกว่า "กองทัพม้าปีศาจ"

จากดินแดนชนเผ่าเร่ร่อนกลายมาเป็นกองทัพม้าที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 20 ปี กองทัพมองโกลมีทั้งผู้นำที่เชี่ยวชาญการรบอย่างเจงกีสข่าน บรรดาแม่ทัพนายกองก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีความสามารถ และเหล่าทหารมองโกลเองก็ได้รับการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญทั้งในด้านการรบและความมีระเบียบวินัย ด้วยปัจจัยหลายประการที่ได้กล่าวมาในข้างต้น จึงทำให้กองทัพมองโกลภายใต้การปกครองของจักรพรรดิเจงกีสข่านมีความเข้มแข็งและเก่งกาจจนสามารถพิชิตดินแดนต่าง ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรปมาครอบครองไว้ได้เป็นจำนวนมาก

สำหรับชาวมองโกล เจงกีสข่านไม่ได้เป็นเพียงจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่เชี่ยวชาญในการทำศึกสงคราม แต่เป็นบิดาผู้ที่วางรากฐานทางการปกครองไว้ให้อาณาจักรมองโกล คำสั่ง กฎและข้อบังคับ รวมไปถึงกลการศึกของเขาได้กลายเป็นแม่แบบให้กับคนในยุคต่อ ๆ มา ได้นำมาพัฒนาอาณาจักรจนเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องจนกลายเป็นยุคทองภายใต้การปกครองของ "กุบไลข่าน" หลายชายคนโปรดของจักรพรรดิเจงกีสข่านในที่สุด


อ้างอิง

บรรยง บุญฤทธิ์. (2547). เจงกีสข่าน ทหารม้าปีศาจแห่งมองโกล. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์.

มณฑิรา. (2558). เจงกีสข่าน Genghis Khan. กรุงเทพฯ: แสงดาว.

ปิยะโชค ถาวรมาศ. (2556). เจงกีสข่าน จักรพรรดิผู้พิชิตโลก. กรุงเทพฯ: ก้าวแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น