หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

19 ธ.ค. 2561

ดร.ซุนยัตเซ็น บิดาแห่งการปฏิวัติจีน

โดย ณิชกุล  ศรีสวัสดิ์

ประเทศจีนปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลาหลายพันปี ในสมัยราชวงศ์ชิงเข้าปกครองแผ่นดินจีนยาวนานกว่า 200 ปี นับว่าเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนยาวนานและยิ่งใหญ่ที่สุดราชวงศ์หนึ่ง กลับเป็นยุคที่ราชสำนักอ่อนแอและตกเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยม แต่ผู้ที่ลุกขึ้นปกป้องประเทศกลับเป็นราษฎรข้าของแผ่นดิน การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ เป็นพลังที่แม้แต่รัฐบาลเผด็จการก็ไม่อาจต้านทาน ในยุคที่มืดมิดนี้เองก็มีแสงหนึ่งที่กำเนิดขึ้นในครอบครัวชาวนายากจน และซุนยัดเซ็นคือแสงสว่างนั้น

ชื่อเกิดของท่าน คือ “ซุนเหวิน” (孫文) และชื่อทางการ คือ “ซุนเต๋อหมิง” (孫德明) ต่อมาเปลี่ยนเป็น “ซุนอี้เทียน” (孫逸仙 ) ซึ่งออกสียงเป็น “ซุนยัตเซ็น”ในภาษาจีนกวางตุ้ง มีความหมายว่า เทพเจ้าอิสระ โดยชื่อซุนยัตเซ็นนั้นท่านได้เริ่มใช้เมื่ออายุ 33 ปี ชาวจีนจะเรียนท่านว่า “ซุนจงซาน” (孫中山 ) ซุนยัตเซ็นเกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1866 ที่อำเภอจงซาน มณฑลกวางตุ้ง กล่าวกันว่าท่านมีลักษณะนิสัยเหมือนมารดา คือเป็นคนค่อนข้างเงียบ ถึงอย่างนั้นท่านก็เป็นคนที่ฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญา อีกทั้งยังชอบอ่านแผนที่เป็นพิเศษ


ที่มา : https://th.wikipedia.org/

ซุนยัตเซ็น เริ่มเข้าเรียนเมื่ออายุ 7 ขวบ ท่านได้ศึกษาอักษรศาสตร์ของจีนตามแนวขงจื้อ และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรคัมภีร์โบราณของจีน เมื่ออายุ 12 ขวบ ซุนยัตเซ็นได้เดินทางไปยังฮาวายพร้อมมารดา การได้พำนักและศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ท่านได้เห็นความเจริญต่างๆ ได้ปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยและมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมสมัยใหม่และเมื่อได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในประเทศกับต่างประเทศที่ท่านได้เห็นมา ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความรู้สึกว่า ความไม่เป็นธรรมต่างๆในสังคมจีนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้ท่านเกิดความปรารถนาที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตน

เมื่อกลับมาสู่บ้านเกิด ท่านพยายามปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดความสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการโจมตีความเน่าเฟะของบ้านเมืองและขนบธรรมเนียมประเพณีอันล้าหลังของจีน อีกด้านหนึ่งท่านได้เริ่มลงมือพัฒนาการบริหารท้องถิ่น เช่น ติดตั้งไฟส่องถนน การทำความสะอาดถนนและการสาธารสุขป้องกันโรคติดต่อ เป็นต้น จากบันทึกความทรงจำเกี่ยวการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกของท่าน คือ การทำลายเทวรูป ท่านคิดว่าการกราบไหว้ต่อสิ่งเหล่านี้เป็นการเชื่อที่งมงาย จึงได้ทำลายเทวรูป พฤติการณ์การทำลายเทวรูปอันห้าวหาญของซุนยัตเซ็นได้สร้างความเดือดดาลให้แกชาวบ้านส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะถูกโจมตีจากพวกเจ้าที่ดินอย่างหนัก จนในที่สุดต้องเนรเทศตัวเองไปสู่ฮ่องกง

เมื่อไปถึงฮ่องกง ท่านได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมคริสตจักรอังกฤษ ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1883 และได้เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชน ถึงแม้ว่าท่านได้รับการศึกษาของอาณานิคมแต่ก็มิได้ทำให้ความรักชาติของท่านลบเลือน ในปีค.ศ. 1881-1885 การรุกรานของฝรั่งเศสทำให้สงครามจีน-ฝรั่งเศสระเบิดขึ้น ณ สมรภูมิชายแดนจีน-เวียดนาม กองทัพจีนได้ปราชัยให้แก่กองทัพฝรั่งเศส รัฐบาลจีนราชวงศ์ชิงกลับไปยุติสงครามด้วยการคุกเข่าขอยอมลงนามในสนธิสัญญายอมจำนนต่อข้าศึกที่เมืองเทียนสิน ทำให้ท่านเคียดแค้นอย่างยิ่ง

ซุนยัตเซ็นได้เข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ในวิทยาลัยแพทย์หัวหนาน และสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งของมหาลัยในปี ค.ศ.1892 ระหว่างที่ท่านได้ศึกษาการแพทย์อยู่นั้น ท่านสนใจปัญหาการเมืองอยู่ตลอด ท่านได้ยึดสถานศึกษาเป็นแหล่งโฆษณาชวนเชื่อในอุดมการณ์รักชาติ เพื่อปลุกเร้าให้มวลชนเกิดความตื่นตัว ท่านมักจะเอ่ยถึง “หงซิ่งฉวน”โดยยกย่องบุรุษผู้นี้เป็นวีรบุรุษแอนตี้ราชวงศ์ชิงคนแรกและตั้งตนเป็นหงซิ่งฉวนคนที่สอง


ภาพของซุน ยัตเซ็น (นั่งคนที่สองจากซ้าย) และสมาชิกปฏิวัติสี่สหาย ได้แก่ ยึงฮกลิง (ซ้าย), ชานซิวบาก (นั่งคนที่สองจากขวา), เยาลิต (ขวา) และ กวน จิงเลี่ยง (ยืน) ที่วิทยาลัยการแพทย์ในฮ่องกง
ที่มา : https://th.wikipedia.org/

จากอายุ 12 ขวบถึง 26 ปี ซุนยัตเซ็นรับการศึกษาจากลัทธิทุนนิยมตะวันตกเป็นเวลา 14 ปี ด้วยความเป็นชายหนุ่มที่พากเพียรหาความรู้ตะวันตกเพื่อแสวงหาสัจธรรมในการช่วยชาติ ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสในอารยธรรมของชนชั้นนายทุนตะวันตก ในขณะเดียวกันการต่อสู้แอนตี้ราชวงศ์จักรวรรดินิยมและศักดินาของประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความนึกคิดของท่าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลสำคัญต่อการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนของซุนยัตเซ็น

การก้าวสู่หนทางปฏิวัติประชาธิปไตยของซุนยัตเซ็นในปี ค.ศ. 1890 ท่านได้เขียนหนังสือถึงขุนนางเจิ้งหยู โดยแนะนำให้ปฏิรูป 3 ประการ คือ ส่งเสริมเกษตรกรรม ห้ามสูบฝิ่นและดำเนินการศึกษาภาคบังคับ แต่ก็ไม่มีใครสนับสนุนความคิดของท่าน วันที่ 24 พฤศจิกายน ซุนยัตเซ็นได้ก่อตั้งสมาคมซิงจงฮุ่ย(ฟื้นฟูจีน) การก่อตั้งสมาคมขึ้นเพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมือง ผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี เพื่อรวบรวมประชาชนจีนทั้งในและนอกประเทศ เผยแพร่อุดมการณ์กู้ชาติ และขับไล่พวกตาด(แมนจู) ที่ป่าเถื่อนออกไป ฟื้นฟูประเทศและจัดตั้งสาธารณรัฐ

จนกระทั่งในวันปีใหม่ ค.ศ. 1890 ซุนยัตเซ็นได้เดินทางจากเซี่ยงไฮ้ไปยังนานกิงเพื่อปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของจีน ท่านได้ประกาศ “คำปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว” พร้อมทั้งประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาราษฎร์จีน จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิงถูกบีบจนต้องประกาศสละราชสมบัติ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ดำรงมานานถึง 2,000 กว่าปีได้สิ้นสุดลง การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนปะทุขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 ตรงกับปีซินไฮ่ของศักราชเก่าของจีน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกการปฏิวัติโค่นราชวงศ์ชิงครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติซินไฮ่”

ภายหลังการปฏิวัติซินไฮ่ เนื่องจากความอ่อนแอของชนชั้นนายทุนจีนมิได้ปราบศัตรูของการปฏิวัติให้ราบคาบ ไม่กล้าคัดค้านจักรวรรดินิยม ดังรัฐบาลชั่วคราวนานกิง อันมีซุนยัตเซ็นเป็นผู้นำ ได้รับความกดดันอย่างหนักจากอิทธิพลจักรวรรดินิยมและศักดินานิยม ทำให้ซุนยัตเซ็นประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1912 และมอบอำนาจการปกครองให้แก่หยวนซื่อไข่ เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป



ดร.ซุนยัตเซ็น ตลอดชีวิตของท่านได้ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตยของประเทศจีน 2 ยุค ก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตยแผนเก่า คือ การปฏิวัติซินไฮ่ หลังจากการปฏิวัติซินไฮ่ล้มเหลว ซุนยัตเซ็นได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ท่านได้ประกาศลัทธิไตรรัตน์เป็นการปฏิวัติแผนใหม่ คือ ล้มแมนจู ตั้งสาธารณรัฐและช่วยเหลือคนจน บรรลุการร่วมมือระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นใหม่กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการต่อสู้ปฏิวัติคัดค้านจักรวรรดินิยมและศักดินานิยม ตลอดระยะเวลา 40 ปีในการต่อสู้ปฏิวัติมาอย่างยาวนาน ซุนยัตเซ็นมหาบุรุษผู้นำแห่งการปฏิวัติจีนได้ถึงอนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งตับ ในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1925 ณ นครปักกิ่ง ขณะอายุ 59 ปี

ชั่วชีวิตอันยิ่งใหญ่ของ ดร.ซุนยัดเซ็น คือชั่วชีวิตแห่งการปฏิวัติ คือชั่วชีวิตแห่งการต่อสู้ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ท่านยืนอยู่เบื้องหน้ากระแสธารแห่งยุคสมัย ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับประวัติศาสตร์ สร้างคุณูประการอันดีให้แก่การปฏิวัติของประชาชน ท่านได้อุทิศปัญญาตลอดชีวิตให้แก่การปฏิวัติจีน เป็นการทุ่มเทอย่างไม่คิดชีวิตที่แท้จริง จิตใจปฏิวัติเพื่อชาติ เพื่อประชาชนและก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งของ ดร. ซุนยัตเซ็น ควรที่คนทั่วไปถือเป็นแบบอย่าง “ถ้าเชื่อว่าได้ ต่อให้ต้องย้ายภูเขา ถมทะเลก็ทำได้


อ้างอิง

ซุน ยัด เซน บุรุษผู้มีคำว่า"ปฏิวัติ"อยู่ในสายเลือด บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2561, จาก : http://freedom-thing.blogspot.com/2012/02/blog-post_11.html

ซุน ยัตเซ็น. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2561, จาก :  https://th.wikipedia.org/wiki/

วัชระ  ชีวโกเศรษฐ. (2553). ชีวประวัติ ดร.ซุนยัดเซ็น นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.

วีรชัย  โชคมุดดา. (2557). ประวัติศาสตร์จีน มหาผู้อำนาจผู้กุมชะตาโลกจากโบราณถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : ยิปซี. 

หลิวเสี่ยวฮุ่ย. (2556). ซุนยัตเซ็น มหาบุรุษผู้พลิกแผ่นดินจีน. กรุงเทพฯ : มติชน.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น