หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

19 ธ.ค. 2561

พระศิวะ มหาเทพแห่งการทำลายล้าง

โดย  พีรณัฐ  เจริญพงศ์อนันต์

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งหากจะพูดกันถึงเรื่องเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น เทพเจ้าแต่ละองค์ก็มีภาระหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เทพผู้สร้าง เทพผู้ดูแลรักษา เทพผู้ทำลายล้าง เป็นต้น บทความนี้จะขอพูดในหัวข้อเรื่อง “เทพผู้ทำลายล้าง” ซึ่งเป็นเทพที่ถือว่ามีหน้าที่ที่สำคัญมากองค์หนึ่ง

เทพผู้ทำลายล้างหรือชื่อที่เราได้ยินกันบ่อยๆว่า “พระศิวะ” นั้นเป็นหนึ่งในตรีมูรติ หรือเทพเจ้าสูงสุดสามพระองค์ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งได้แก่ พระพรหม  เทพเจ้าผู้สร้างจักรวาลและโลก   พระวิษณุหรือพระนารายณ์  เทพผู้รักษาคุ้มครองโลก และพระศิวะหรือพระอิศวร  เทพผู้ทำลายล้าง

ที่มา: https://lord-shiva-wallpaper-landing-state.th.aptoide.com/

รูปลักษณ์ของพระศิวะนั้นมีปรากฏมากมายหลายลักษณะด้วยกัน แต่จุดเด่นที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของพระศิวะก็คือ รูปพระจันทร์เสี้ยวและดวงตาดวงที่ 3 บนพระนลาฏ สร้อยประคำที่เป็นหัวกะโหลกและงูที่คล้องพระศอของพระองค์อยู่นั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของพระศิวะที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย  พระศิวะนั้นเป็นเทพที่นิยมประพฤติองค์เป็นโยคีหรือผู้ถือศีล ดังนั้นรูปของพระองค์จึงมักปรากฏเป็นเทพที่ทรงเครื่องแบบที่ค่อนข้างติดดิน เป็นต้นว่า ทรงแต่งองค์คล้ายๆ พวกโยคะหรือพวกฤาษีสยายผมยาวแล้วม่นมวยผมเป็นชฎาบนศีรษะ ทรงนุ่งห่มด้วยหนังกวางบ้าง หนังเสือบ้าง

คัมภีร์โบราณหลายเล่ม กล่าวถึงสีพระวรกายของพระศิวะแตกต่างกันออกไป บางคัมภีร์ระบุว่าพระวรกายของพระศิวะนั้นเป็นสีแดงเข้มราวกับเปลวไฟหรือโลหิต บางคัมภีร์ว่าพระวรกายขององค์พระศิวะนั้นเป็นสีขาว นวล บริสุทธิ์ ดั่งสีของพระจันทร์ แต่หลายๆคัมภีร์กล่าวไว้ตรงกันว่า พระศิวะนั้นเป็นเทพที่มีพระเนตร 3 ดวง คือดวงที่ 3 นั้นจะปรากฏขึ้นอยู่บนพระนลาฏขององค์โดยปรากฏเป็นดวงตารูปแนวนอนบ้าง รูปตั้งทรงพุ่มช้างบิณฑ์บ้าง นอกจากนี้ดวงตาที่ 3 นี้สามารถมองเห็นอดีตและอนาคตได้อีกด้วย   

อาวุธในปางต่างๆของพระศิวะนั้น มักจะปรากฏพระกรแต่ละข้างของพระศิวะทรงถืออาวุธที่แตกต่างกันออกไปแต่ส่วนใหญ่อาวุธที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์นั้น คือ คทา – ที่ยอดเป็นรูปหัวกะโหลก ชื่อชัฏวางค์  ตรีศูล – ชื่อปีนาก  คันศร – ชื่ออชคพ นอกจากนั้นอาวุธของพระศิวะที่ปรากฏว่าทรงถืออยู่ในหลาย ๆ ปางหลาย ๆ รูปลักษณ์ก็คือ บัณเฑาะว์ พระสังข์ บ่วงบาศ เปลวเพลิง พระขรรค์

พาหนะประจำของพระศิวะ คือ โคที่มีชื่อว่า “ อุศุภราช ” บ้างก็มีชื่อเรียกที่ต่างกันไป ว่า โคนนทิราช ซึ่งมีการเกิดที่ไม่ธรรมดา คือโคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากพ่อโค แม่โคเหมือนกับโคอื่นๆ แต่เกิดมาจากมหาเทพ ซึ่งในบางคัมภีร์นั้นก็กล่าวถึงประวัติการเกิดของโคนนทิราชที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการที่ชาวฮินดูไม่นิยมฆ่าวัวก็เป็นเพราะเคารพและบูชาโคนนทิราช ซึ่งถือเป็นโคศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ที่ประทับพระศิวะนั้น ทรงประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาส ตามคัมภีร์นั้นได้บันทึกไว้ว่า พระศิวะเสด็จมาเยือนมนุษย์โลกหนึ่งครั้งเท่านั้นในแต่ละปี วันที่จะเสด็จลงมาจากยอดเขาไกรลาสนั้น คือวันขึ้น 7 ค่ำ เดือนยี่ และพอถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ ก็จะเสด็จกลับสู่ยอดเขาไกรลาสซึ่งเป็นที่ประทับของพระองค์

พระศิวะทรงมีเอกอัครมเหสีคือ “ พระแม่อุมามหาเทวี ” หรือที่ชาวฮินดูนิยมเรียกกันว่าพระนางปาราวตี ซึ่งเป็นอิตถีเทพ ที่งดงามเป็นยิ่งนัก และยังเป็นเทพเทวีที่มีผู้คนนิยมบวงสรวงบูชามากมายกว่าเทพนารีองค์อื่นองค์ใด นอกจากนั้นพระศิวะยังทรงเป็นพระบิดาของ “ พระพิฆเนศวรและพระขันธ์กุมาร ”  พระโอรส 2 พระองค์นี้ประสูติจากพระนางปาราวตี หรือพระแม่อุมาอัครมเหสีคู่บารมี ซึ่งพระขันธ์กุมารนั้นเป็น เทพแห่งนักรบ และ พระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งความสำเร็จ

พระองค์มักจะทรงประทานพรวิเศษให้แก่ผู้หมั่นกระทำความดี และยึดมั่นในศีลธรรม หากผู้ใดประพฤติดีเพื่ออุทิศถวายแก่พระองค์แล้วปรารถนาสิ่งวิเศษใดๆ พระองค์ก็จะประทานพรนั้นๆให้ แต่ถ้าได้พรสมปรารถนาแล้ว วันหน้ากระทำเรื่องไม่ดี ผู้นั้นจะถูกพระองค์ลงโทษ  มีความเชื่อกันว่าพระศิวะนั้นสามารถรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆได้อย่างมหัศจรรย์ หากผู้ใดที่เจ็บป่วยหรือต้องการขอพรให้คนในครอบครัวหายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ากระทำการบวงสรวงบูชาและขอพรจากพระศิวะ ความเจ็บป่วยนั้นก็จะถูกปัดเป่าให้หายไปได้ในเร็ววัน

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นเทพที่จะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ห่างไกล และทำให้เกิดความดีงามเป็นศิริมงคลเกิดขึ้น ผู้ที่มีความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หากบวงสรวงบูชา ขอพรให้พ้นทุกข์ พระศิวะก็จะประทานพรให้ผู้นั้นได้พ้นจากความทุกข์ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ เรื่องที่อยากจะฝากกับทุกๆคนก็คือ มิควรที่จะลบหลู่การบูชาสักการะหรือพิธีกรรมต่างๆของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาที่ตนนับถือหรือไม่ก็ตาม  เนื่องจาก การบูชาสักการะเรื่องเทพเจ้านั้นถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคลซึ่งถือเป็นเรื่องที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก ซึ่งหากกระทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือการทะเลาะวิวาทต่างๆตามมาได้ในภายหลัง


อ้างอิง

ตำนานพระศิวะ มหาเทพผู้ยิ่งใหญ่. (2558). สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561,จาก http://www.siamganesh.com/ongtep/?p=15

พระศิวะ. (2561). สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2561,จาก https://th.wikipedia.org/wiki/พระศิวะ

ตำนานเทพ พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ พระพิฆเนศวร พระราหู. สืบค้นเมื่อเมื่อ 11 กันยายน 2561,จาก http://www.oceansmile.com/KHM/Tamnanthep.htm


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น