หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

29 พ.ค. 2561

คัมภีร์ “พระเวท” มหาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งฮินดู

โดย  วิรุฬห์ นาทะยัพ

ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นศาสนาที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเหล่าเทพเจ้าทั้งหลาย มีพิธีกรรมมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ประกอบกับหลักประพฤติตนเพื่อให้บรรลุจุดสูงสุดของศาสนานั้นก็คือ “โมกษะ” ซึ่งสิ่งชี้แนะที่จะทำให้ถึงจุดนั้นก็คือ “พระเวท”

คัมภีร์พระเวทเป็นแหล่งกำเนิดของปรัชญาอินเดียทุกแขนง พระเวทแบ่งออกเป็น 3 ได้แก่ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท ในเวลาต่อมาก็เกิดอถรวเวท หรืออถรรพเวทเพิ่มเข้ามา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า ไตรเพท หรือพระเวท 3 ตามเดิม ชาวฮินดูถือว่าพระเวทเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่มีข้อผิดพลาดเพราะว่าพระเจ้าได้ประทานให้มนุษย์โดยตรง



ต้นกำเนิดนั้นเชื่อกันว่าพวกฤาษีได้ไปบำเพ็ญเพียรในป่า แล้วได้ยินเสียงซึ่งเชื่อว่าเป็นพระสุรเสียงของพระพรหมธาดาได้ถ่ายทอดพระเวทแก่เหล่าฤาษีนั้น จึงได้มีการเล่าต่อกันมาเรียกว่า ศรุติ แปลว่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันมา ศาสตราจารย์ ดร.ราธกฤษณัน อดีตประธานาธิบดีอินเดีย สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดช่วง 1,000 - 100 ปี ก่อน พ.ศ. เพราะในคัมภีร์พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลมีกล่าวถึงไตรเพท แต่ยังไม่ปรากฏอถรวเวทซึ่งน่าจะเกิดขึ้นภายหลังนั้น เนื้อหาของพระเวททั้ง 4 มีดังนี้

ฤคเวท ประกอบด้วยมันตระหรือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย ว่าแต่ละพระองค์มีความสำคัญอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร และในบรรดาเทพเจ้าทั้งหลาย พระสาวิตรี พระวรุณะ พระอินทร์ และพระยม เป็นเทพเจ้ารุ่นแรกสุดในสมัยพระเวท เมื่อสวดสรรเสริญเหล่าเทพเจ้าจบ ก็อัญเชิญให้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีกรรมบูชายัญ ฤคเวท เป็นบทร้อยกรอง เป็นคำฉันท์ มีถึง 1,017 โศลก

สามเวท ว่าด้วยบทสวดทำนองเสนาะเพื่อขับกล่อมเทพเจ้าที่เสด็จมาถึงมณฑลพิธีบูชายัญ คำว่า สามะ แปลว่า เพลง หรือขับร้องทำนองเสนาะ ซึ่งมาจากฤคเวทแต่ตัดเอามาเป็นบทสั้นๆเพื่อให้เทพเจ้าพอพระทัย ควบคู่ไปกับการถวายน้ำโสมให้ทรงดื่ม

ยชุรเวท กล่าวถึงขั้นตอนพิธีกรรมในการบูชายัญบวงสรวงสังเวย ซึ่งก็นำมาจากฤคเวทอีกเช่นกัน เพียงแต่นำมาบางตอนดัดแปลงให้เป็นบทร้อยแก้ว เพื่อให้เหมาะกับการกล่าวเซ่นสังเวย และยชุร นั้นแปลว่าร้อยแก้ว

อถรวเวท หรือ อถรรพเวท ว่าด้วยเวทมนตร์ที่นำไปใช้ตามจุดประสงค์ต่างๆ เช่น ทำลายศัตรูให้ย่อยยับ แก้เสนียดจัญไร หรือนำโชคดีมีชัยมาให้แก่ตน เป็นต้น

และนอกจากจะแบ่งพระเวทออกเป็น 4 ดังข้างต้นแล้ว แต่ละพระเวทก็ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่จะประกอบไปด้วยอีก 4 เรื่อง ได้แก่

มันตระ  บทสำหรับสรรเสริญเทพเจ้า คัมภีร์ที่รวบรวมมันตระเข้าด้วยกันเรียกว่า สัมหิตา ดังนั้นในคัมภีร์ฤคเวทเรียกว่า ฤคสัมหิตา ในคัมภีร์สามเวทเรียกว่า สามสัมหิตา ในคัมภีร์ยชุรเวทเรียกว่า ยชุรสัมหิตา และในคัมภีร์อถรรพเวทก็เรียกว่า อถรรพสัมหิตา

พราหมณะ ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมบูชายัญ เป็นคำอธิบายมันตระอีกทีหนึ่งว่า บทสวดสดุดีใด ควรใช้ในที่ใด เมื่อใด มีระเบียบทำอย่างไร เป็นต้น

อารัณยกะ เรื่องละเอียดนุ่มลึก ควรที่จะไปใช้ความคิดเพื่อวิเคราะห์พิจารณาในที่สงบ เช่น ในป่า เป็นต้น เช่น เรื่องปรมาตมัน อาตมัน มายา อวิชชา สังสารวัฏ และโมกษะเป็นต้น
อุปนิษัท ปรัชญาที่ได้จากการขบคิดในป่า

นอกจากพระเวทที่เกิดจากศรุติหรือได้ยินได้ฟังมาแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งนั้นก็คือสมฤติ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งเพิ่มเข้ามาในภายหลังเพื่ออธิบายความ หรือประกอบพระเวท ซึ่งได้แก่
มหากาพย์ ซึ่งมี 2 เล่ม คือ รามายณะ และมหาภารตะ                                                                         

รามายณะ เป็นเรื่องราวการทำสงครามระหว่างพระรามซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ กับทศกัณฐ์ เพื่อตามนางสีดา พระชายาของพระรามที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวมา แต่งโดย ฤาษีวัลมีกิ


พระราม นางสีดา พระลักษณ์ และหนุมานในรามายณะของอินเดีย
ที่มา : http://www.findmessages.com/l          

มหาภารตะ เชื่อว่าเป็นเรื่องราวสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของอินเดีย ณ ทุ่งกุรุเกษตร ระหว่างพี่น้องตระกูลเการพกับตระกูลปาณฑพ แต่งโดย ฤาษีเวทวยาส หรือพระกฤษณะ


สงคราม ณ ทุ่งกุรุเกษตร

คัมภีร์ปุราณะ เรื่องราวตำนานเทพเจ้า การบูชาเทพเจ้าต่างๆที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเวท

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ว่าด้วยกฎหมาย ระเบียบแบบแผนการปฏิบัติของชาวฮินดู ตลอดจนแนวในการครองชีวิต อาทิ ระบบวรรณะ หลักธรรม 10 ประการ เป็นต้น

คัมภีร์ตันตระ เน้นหนักไปในด้านของไสยศาสตร์และเวทย์มนต์คาถา เป็นการสนทนาระหว่างพระศิวะเจ้า กับพระนางทุรคาเทวี ซึ่งคัมภีร์นี้ก่อให้เกิดลัทธิศักติ หรือการบูชาเทพฝ่ายสตรีบรรดาชายาของเหล่าเทพเจ้า เช่น พระอุมา พระลักษมี พระสุรัสวดี เป็นต้น


พระศักติ ซึ่งเป็นการรวมภาคของพระอุมา พระลักษมี และพระสุรัสวดี
ที่มา : http://baanjompra.com/

คัมภีร์อุปเวท ศึกษาทำหน้าที่เป็นนักรบ แพทย์ และนักแสดง

คัมภีร์ภควัทคีตา เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะในตอนที่พระกฤษณะปลุกใจอรชุนให้มีกำลังใจในการรบกล่าวถึงปรัชญา ศาสนา และจริยศาสตร์  เป็นปรัชญาที่ประสานความรู้ กรรม และความภักดีต่อพระเจ้าเข้าด้วยกัน กล่าวถึงการเข้าถึงโมกษะ

คัมภีร์พระเวทถือเป็นจุดกำเนิดของบรรดาปรัชญาทั้งหมดของอินเดีย ซึ่งได้เผยแพร่ไปทั่วทั้งเอเชียรวมถึงประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลมาเป็นอันมาก ดังนั้นการศึกษาพระเวทจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทสังคมของคนฮินดูหรือของคนไทยเองในยุคสมัยปัจจุบันที่ได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่อดีตกาลจนฝังลึกเป็นรากเหง้า อีกทั้งความลึกลับน่าค้นหายังเป็นเสน่ห์ของคัมภีร์พระเวทก็ยังคงความท้าทายสำหรับผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาดินแดนภารตะเป็นอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกที่คนฮินดูจะยังให้ความเคารพและนับถือพระเวทว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2537). ภารตวิทยา. พระนคร: ศยาม.

ฟื้น ดอกบัว. (2555). ปวงปรัชญาอินเดีย. พระนคร: ศยาม.

สุนทร ณ รังษี. (2530). ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ.  พระนคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น