หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

14 มี.ค. 2561

คาซัคสถาน (Kazakhstan) ประเทศหลังม่านเหล็ก

โดย กนกวรรณ ทองเกษม

มิคาอิล กอร์บาชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตในปีค.ศ. 1985 เขาได้ประกาศนโยบายปฏิรูป “กลาสนอสต์ และเปเรสตรอยก้า” ซึ่งทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 26 ธันวาคมปี ค.ศ. 1991 หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไป มีประเทศเกิดใหม่ 15 สาธารณรัฐ และ คาซัคสถาน (Kazakhstan) เป็น 1 ใน 5 ประเทศในกลุ่ม “สถาน” ที่แยกตัวออกมา

ที่มา: http://adevarul2012.blogspot.com/
คำว่า “สถาน” ในรากศัพท์ภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน และภาษาเปอร์เชียน หมายถึง ค่าย หรือปัจจุบันก็คือ หมู่บ้านหรือประเทศ ส่วนภาษาในตระกูลสลาวิก (Slavic) คำว่า สถาน หรือ สตาน (Ctan/ CTAH) ได้ให้ความหมายอย่างเดียวกัน หมายถึง หน่วยการปกครองดินแดนของแต่ละท้องที่ในสมัยจักรวรรดิรัสเซียเรืองอำนาจ

คาซัคสถานในอดีต คือ ดินแดนที่เต็มไปด้วยชนเผ่า นอร์มาดิค ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Steppe) อันกว้างใหญ่ควบคู่ไปกับการล่าสัตว์ แต่ละเผ่าจะคงความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับเผ่าอื่นๆ โดยในช่วงประมาณศตวรรษที่ 13 ดินแดนทั้งหมดในบริเวณดังกล่าวถูกปกครองโดยเจงกีสข่าน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิรัสเซียเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 18 และตามมาด้วยอิทธิพลของสหภาพโซเวียต คาซัคสถานจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัคสถาน (The Kazakh Soviet Socialist Republic – Kazakh SSR) นับแต่ปี 1936 เป็นต้นมา

ทุ่งหญ้าสเตปป์ในคาซัคสถาน
ที่มา : https://th.wikipedia.org/
สภาพความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมของคนท้องถิ่นได้ถูกแทนที่ด้วยการก้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะที่อำนาจการปกครองของแต่ละเผ่าพันธุ์ถูกตัดทอนลงให้ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละเผ่าจึงถูกแทนที่ด้วยอุดมคติความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายใต้นโยบาย Virgin Lands Campaign ของสหภาพโซเวียตที่พยายามสร้างความเป็นรัสเซียให้กับคนคาซัค

นับจากช่วงปี 1954 คาซัคสถานจึงเริ่มปะปนไปด้วยคนโซเวียตหลายชาติพันธุ์ เช่น เยอรมัน เชชเชน ตาต้าร์ คาลมิค เป็นต้น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ถูกเนรเทศเข้ามาในค่ายกักกันแรงงานในหลายเมือง ส่วนคนรัสเซียได้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มีอิทธิพลในทุกด้านของประเทศ ปัจจุบันสาธารณรัฐคาซัคสถานมีประชากรจำนวน 17.7 ล้านคน (ข้อมูลปีค.ศ. 2015) โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นประชากรเชื้อสายคาซัค

ที่มา: https://sites.google.com/
ในปัจจุบันสาธารณรัฐคาซัคสถานตั้งอยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบยูเรเซีย ระหว่างประเทศรัสเซียและอุซเบกิสถาน โดยทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดสาธารณรัฐคีร์กีซ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเติร์กเมนิสถาน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่ 2,717,300 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1998 รัฐบาลคาซัคสถานได้ทำการย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีไปยังกรุงอัสตานา เนื่องจากประธานาธิบดี นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ เห็นว่าที่ตั้งของอัลมาตีอยู่ติดชายแดนทางใต้มากเกินไป และอยู่ในแนวแผ่นดินไหว ต่างกับอัสตานาที่เป็นที่ราบ สามารถขยายเมืองออกไปได้เรื่อย ๆ อีกทั้งอัลมาตีเป็นเมืองที่เกิดในยุคพระเจ้าซาร์ของรัสเซีย ยังมีกลิ่นอายความเป็นรัสเซียสูง การจะสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของประเทศจำเป็นต้องหลุดพ้นออกจากความเป็นรัสเซียให้ได้ ส่วนคำว่า “อัสตานา” เป็นภาษาคาซัค แปลว่า “เมืองหลวง”

สาธารณรัฐคาซัคสถานมีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข (Presidential Republic) ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะรัฐมนตรี และหัวหน้ารัฐบาล คาซัคสถานแบ่งออกเป็น 14 จังหวัด และ 3 เทศบาลนคร โดยทุกจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

อัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน
ที่มา : http://2g.pantip.com/cafe/
คาซัคสถานมีภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำชาติ (state language) ตามนโยบายการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐบาลนายนาซาร์บาเยฟ คือ การส่งเสริมการใช้ภาษาคาซัค ซึ่งเป็นภาษาตระกูล            เตอร์กิค (Turkic) โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถานปี 1993 ระบุให้ภาษาคาซัคเป็นภาษาประจำรัฐ (State Language) ขณะที่ภาษารัสเซียยังคงเป็นภาษาทางการที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ (Inter-Ethnic Communication) ส่วนศาสนา ประชากรชาวคาซัคสถานนับถือศาสนาอิสลามมากถึง 70.2% ส่วนใหญ่นับถือนิกายสุหนี่ รองลงมานับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ 26.2% และศาสนาอื่น ๆ

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคาซัคสถาน รายได้หลักของประเทศมาจากการส่งออกน้ำมัน อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยูเรเนียม โครเมียม เหล็ก ทองแดง ทองคำ และเงิน มีขีดความสามารถทางการเกษตรเนื่องจากมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ที่กว้างขวาง ส่วนหน่วยเงินตราใช้เป็นเทงกี้ หรือ เต็งเง (Kazakhstan Tenge) ทั้งนี้แม้ว่าคาซัคสถานจะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่ก็ยังประสบปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ ประเทศ

คาซัคสถานเป็นประเทศเกิดใหม่ได้ไม่นานหลังจากโซเวียตล่มสลายในปีค.ศ. 1991 อดีตก่อนที่คาซัคสถานจะถูกโซเวียตเข้าปกครองมีวิถีชีวิตแบบชนเผ่าเร่ร่อนควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าสเตปป์ภายหลังเมื่อแยกตัวออกมาเป็นประเทศจึงพยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคาซัคออกมา และหนึ่งใน อัตลักษณ์ที่สำคัญ คือ ภาษาคาซัคที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ขึ้นมาเป็นภาษาประจำชาติแทนที่ภาษารัสเซีย ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจสืบเนื่องมาจากการค้นพบทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญมากมายทำให้เศรษฐกิจของคาซัคสถานเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนในการสร้างสิ่งปลูกสร้างมากมายทั้งที่ทำการรัฐบาล กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ทำเนียบประธานาธิบดี หอประชุม โรงละคร อาคารธุรกิจพาณิชย์ และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ซึ่งถูกออกแบบโดยดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง และมีลักษณะแปลกตาจนเป็น ที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว แม้ว่าคาซัคสถานจะจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐ มีเอกราชเป็นของตนได้ไม่นาน  แต่ก็สามารถสร้างอัตลักษณ์ความเป็นคาซัคสถาน และพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก


อ้างอิง

กุลจิรา ฟองเหม. 2557. คาซัคสถาน : อัตลักษณ์และวัฒนธรรมแห่งชาติ. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1331

กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา. 2559. สาธารณรัฐคาซัคสถาน. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://www.thaiembassy.org/astana/th/thai-people

Cherokee1 (นามแฝง). 2554. คาซัคสถาน ตอนที่ 2 อัสตานา (Astana) นี่มันดาวดวงไหนกันเนี่ย. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E10138761/E10138761.html

Wikitravel. 2017. Kazakhstan. สืบค้น 9 กันยายน 2560, จาก http://wikitravel.org/en/Kazakhstan

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น