หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

3 มิ.ย. 2560

เทพี เฮรา (Hera)

โดย นายกรวิชญ์   เจริญ

อารยธรรมกรีกสมัยโบราณ มีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งเชื่อว่าเทพเจ้า
เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ มีชีวิตเป็นอมตะ ไม่มีวันตาย และเชื่อว่าเทพเจ้านั้นมีหน้าตา มีอารมณ์ ความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่มีพลังอำนาจเหนือกว่า  และจะสถิตอยู่ ณ เทือกเขาโอลิมปัส ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 12 องค์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ เทพีเฮรา

เทพีฮีรา หรือ เฮรา พระนางเป็นเทพีแห่งหญิงสาวและชีวิตสมรส เป็นผู้ปกป้องสตรีที่แต่งงานแล้วในตำนานโบราณสัตว์ประจำองค์ของเทพีเฮราคือวัว แต่ในตำนานยุคใหม่คือ นกยูง ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระองค์ และจะตามเสด็จอยู่ไม่ห่าง และพฤกษาประจำตัวของพระนางคือผลทับทิม กับนกแขกเต้า


เทพีเฮรากับสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำพระองค์

เทพีเฮราเป็นบุตรองค์ที่ 3 เป็นมเหสีและเชษฐภคินี (พี่สาว)ของซูส เป็นธิดาของโครนัส และเรีย
พระนางถูกโครนัสกลืนลงท้องไปตั้งแต่เพิ่งถือกำเนิดเนื่องจากคำสาปของไกอาที่ว่าบุตรของโครนัส
จะโค่นอำนาจของโครนัสเหมือนกับที่โครนัสได้โค่นอำนาจของยูเรนัส แต่ต่อมาเทพีเรียได้ซ่อนซูส
ผู้เป็นบุตรองค์สุดท้องไว้และนำซูสกลับมาเพื่อแก้แค้นโครนัส และนำพี่ ๆ ที่ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในท้อง
ของโครนัสออกมา เทพีเฮราจึงปรากฏกายขึ้น

ซูสคลั่งไคล้เทพีเฮรา ต้องการได้นางเป็นภรรยา แต่ทว่าเทพีเฮร่าไม่ต้องการเช่นนั้น เนื่องจาก
ต้องติดอยู่ในท้องของบิดามาตลอดชีวิตวัยเยาว์ เฮร่าจึงต้องการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ไม่รีบร้อนที่จะคิดมีพันธะใดๆเมื่อแรกที่ซูสขอแต่งงาน เฮร่าปฏิเสธ และ ปฏิเสธเรื่อยมาจนถึง 300 ปี วันหนึ่งซูสคิดทำอุบายปลอมตัวเป็น นกกาเหว่า เปียกพายุฝน ไปเกาะที่หน้าต่าง เทพีเฮราสงสารก็เลยจับนกมาลูบขน
พร้อมกับพูดว่า “ฉันรักเธอ” ทันใดนั้นซูสก็กลายร่างกลับคืน และบอกว่า เทพีเฮราต้องแต่งงานกับพระองค์ แต่ทว่าชีวิตการครองคู่ ของเทวีเฮรากับเทพซูส ไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก มักจะทะเลาะเบาะแว้งมีปากเสียงกันตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า ในเวลาที่เกิดฟ้าคะนองดุเดือดขึ้นเมื่อใด นั่นคือ สัญญาณว่า ซูสกับเฮรา ต้องทะเลาะกัน เพราะเทพทั้งสองเป็นสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์


ซูส และเทพีเฮรา

แม้ว่าเทพีเฮรามีศักดิ์เป็นถึงราชินีแห่งสวรรค์ หรือเทพมารดาแทนรีอา แต่ความประพฤติ และอุปนิสัย ของเทพีเฮราก็ไม่อ่อนหวานมีเมตตาสมกับเป็นเทพมารดาเลย โดยประวัติของเทพีเฮรานั้นมีทั้งโหดร้าย
ไร้เหตุผล เจ้าคิดเจ้าแค้น และอาฆาตพยาบาท เทพีเฮราเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของอารมณ์ดุร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชายาองค์อื่นๆของซูส และบุตรที่เกิดจากชายาเหล่านั้น ไม่ว่าพวกนางจะเป็นเทพี หรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ตัวอย่างของผู้ที่ถูกเทพีเฮราปองร้ายมีมากมาย เช่น เทพีลีโต มารดาของเทพอพอลโล่ และเทพีอาร์ทีมิส เฮอร์คิวลิส ไอโอ ลามิอา เกรานา ซิมิลี มารดาของเทพไดโอนิซัส ยูโรปา เป็นต้น ก็จะเจอจุดจบแบบไม่สวยงาม

แต่อย่างไรก็ตามองค์เทพซูสเองก็เคยร้ายกาจกับเทพีเฮราเหมือนกัน โดยลงโทษทัณฑ์แก่เทพีเฮราอย่างไม่ไว้หน้าอยู่บ่อยๆ นอกจากทุบตีอย่างรุนแรงแล้ว ยังใส่โซ่ตรวนที่เท้าของเทพีเฮรากับผูกข้อมือ
มัดโยงอยู่บนท้องฟ้า

เทพีเฮรา นอกจากขี้หึงแล้ว ยังช่างริษยามากอีกด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อซูสทรงมีราชธิดานามว่า เอเธน่า ออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร ซึ่งกระโดดออกมาจากเศียรของซูสเอง เทพีเฮราก็ริษยา ทรงตรัสว่าเมื่อซูส
ทรงมีกุมารีด้วยตัวเองได้ นางเองก็มีได้ เช่นกัน ทว่าบุตรที่เกิดจากตัวเทพีเฮรานั้น กลับมิได้สะสวย เรืองฤทธิ์เช่นเอเธน่า แต่เป็นอสูรร้าย น่าเกลียดน่ากลัวยิ่ง คืออสูรร้าย ไทฟีอัส (Typheus) ซึ่งผู้ใดเห็นก็หวาดกลัว เลยทำให้เทพซูสโกรธเป็นอย่างมาก และเกิดการทะเลาะบาดหมางกันอีก

ชีวิตของเทพีเฮรา ถึงแม้จะเป็นเทพเจ้า มีอำนาจเหนือมนุษย์ แต่ในชีวิตก็ยังประสบปัญหา อุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปัญหาการใช้ชีวิตกับซูส ปัญหาความเจ้าชู้ของซูส เป็นต้น ดังนั้นการที่เราเจอปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในชีวิตก็จงคิดว่าปัญหา และอุปสรรคนั้นคือบททดสอบหนึ่ง ที่ทุกคนต่างก็ต้องเผชิญ
และต้องผ่านพ้นปัญหานั้นไปให้ได้ ซึ่งเมื่อเราสามารถผ่านปัญหานั้นไปได้ ก็จะทำให้เราสามารถมีภูมิคุ้มกันที่พร้อมจะรับมือปัญหาต่างๆได้ดี


อ้างอิง

ณัฐรัตน์ เสนชัย. (ม.ป.ป.). เทพนิยายกรีก. ค้นข้อมูล 26 กุมภาพันธ์ 2560, จาก
https://etcphotoploi.wikispaces.com

พรพิมล พรมทา. (2556). เจาะลึกอารยธรรมกรีก-โรมัน. ค้นข้อมูล 25 กุมภาพันธ์  2560, จาก
https://pornpimolpromta.wordpress.com/about/

มาลัย (จุฑารัตน์). (2547). ตำนานกรีก-โรมัน (ฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดี จำกัด.

อังสุมารินทร์ ศรีกลชาญ. (2556). จุดกำเนิดเทพเจ้าปกรณัมกรีก และเทพเจ้ากรีกโรมันแห่งยอดเขาโอลิมปัส. ค้นข้อมูล 25 กุมภาพันธ์ 2560, จาก https://angsumarin.wordpress.com

แอนโธนี ฮอโรวิทซ์. (2546). ตำนานเทพ และปรัชญากรีก. กรุงเทพฯ : Good morning

Phuketindex. (ม.ป.ป.). เฮร่า (Hera) หรือจูโน่ (Juno) ราชินีของเทพธิดา. ค้นข้อมูล 25 กุมภาพันธ์ 2560, จาก http://variety.phuketindex.com/faith/-juno-393.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น