หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

3 มิ.ย. 2560

"เพตรา" นครหินโบราณแห่งจอร์แดน

โดย ยุทธนา มังสุไร

ท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้งที่มนุษย์ไม่น่าจะอาศัยอยู่ได้ ทะเลทรายแห่งนี้กลับกลายเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญของผู้คนในสมัยโบราณได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง สิ่งมหัศจรรย์ที่ว่านั้นก็คือ “นครเพตรา” เมืองโบราณกลางทะเลทราย ที่มีความสำคัญและประวัติความเป็นมาอันยาวนานถึงการสรรค์สร้าง การแสดงฝีมือและ ศิลปะในการสลักหินได้อย่างยอดเยี่ยมของมนุษย์ในยุคโบราณ




นครเพตรา หรือ เปตรา (Petra) ตั้งอยู่ในหุบเขาวาดี มูซา (Wadi Musa) ทางตอนใต้ของทะเลเดดซีประเทศจอร์แดนในปัจจุบัน มีอายุยาวนานกว่า 2,000 ปี สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล โดยชาวบานาเทียน (Nabataean) ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายอาหรับ เป็นกลุ่มคนแรกที่ตั้งรกรากและสร้างบ้านเรือนโดยการการสลักหน้าผาเข้าไปในหินเกือบทั้งหมด รอบบริเวณ ไม่ว่าจะเป็น วิหารเอล เดียร์ ซึ่งสูง 42 เมตร และส่วนอื่นๆเช่น หลุมศพ บันได โรงละคร ซึ่งขุดสลักมาแต่ยอดเขาลดหลั่นเป็นช่อชั้นงดงาม สีของหินก็กลมกลืนกันดี ตัวตึกสี เลือดนก สีกุหลาบและสีม่วงเป็นลำดับ



นครเพตราเจริญสูงสุดในช่วง 50 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงคริสต์ศักราชที่ 70 ในช่วงเวลาที่เปตราถูกปกครองด้วยกษัตริย์นาม อารีตัสที่ 4 (Aretas IV) ด้วยความมั่งคั่ง ความเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกล และชัยภูมิอันยากแก่การพิชิต จึงทำให้เมืองเจริญเติบโต เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดตั้งอยู่เส้นทางการค้าสำคัญที่สุดของโลกในขณะนั้น 2 สาย ได้แก่เส้นทางสายสายตะวันออก - สายตะวันตก คาบสมุทรอาหรับกับอ่าวเปอร์เซียจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และสายสายเหนือ - ใต้ ที่เชื่อมทะเลแดงกับ กรุงดามัสกัส ซีเรีย นอกจากนั้นเมืองนี้ยังมีแหล่งน้ำจืดสำคัญชื่อว่า วาดี มูซา หรือ หุบเขาโมเสส เพื่อให้ชาวยิวเหล่าพ่อค้าหรือนักเดินทางที่เดินทางผ่านทะเลทรายแห้งแล้งได้กินแก้กระหาย
การมียุทธศาสตร์ที่ดีจึงทำให้นครเพตราเป็นศูนย์กลางค้าขนาดใหญ่มั่งคั่ง เป็นตลาดซื้อสินค้าสำคัญที่สุดของโลกตะวันออก เช่น ยางไม้หอม กำยาน เครื่องเทศของชาวอาหรับ ทองแดง เหล็ก เครื่องปั้นดินเผา รูปปั้น ผ้าย้อมของชาวฟินิเซียนล้วนถูกลำเลียงผ่านเมืองเพตราไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และชาวเปอร์เซีย





ความยิ่งใหญ่ของเพตรามาถึงจุดเสื่อมลงเมื่อมีเส้นทางการค้าอื่นที่สะดวกและปลอดภัยกว่าเกิดขึ้นทำให้พ่อค้าเลิกสนใจในเมืองเพตรา กระทั่งในปี 106 เมืองเพตราถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรโรมัน ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 เพตรากลายเป็นที่ตั้งคริสต์ศาสนามณฑลของบิซอฟ จนถึงในช่วงศตวรรษที่ 7 มุสลิมได้เข้ายึดครอง จากนั้นเพตราแล้วก็เสื่อมถอยเรื่อยๆและกลายเป็นเมืองที่ผู้คนหลงลืมและหายสาบสูญไปเป็นเวลานานกว่า 700 ปี

นครเพตราเผยโฉมให้โลกได้รู้อีกครั้งในปี 1812 เมื่อโจฮันน์ ลุควิก เบิร์กฮาร์ท (Johann Ludwig Burckhardt) นักสำรวจชาวสวิสเซอร์แลนด์ได้ค้นพบเมืองเพตราโดยบังเอิญขณะเดินทางจากจอร์แดนไปยังอียิปต์ ในเวลาต่อมาเพตราก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 1985 จากองค์การยูเนสโกโดยอธิบายว่า “เป็นหนึ่งในสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุดของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งมวลมนุษยชาติ” (One of the Most Precious Cultural Properties of man's Cultural Heritage) และถูกยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน

สิ่งก่อสร้างของมนุษย์ในยุคโบราณที่หลงเหลือในปัจจุบันนับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายและช่วยให้เราเข้าใจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ของผู้คนในอดีตได้เป็นอย่างดี การรังสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นมาเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ดังเช่น “นครเพตรา” ที่เป็นบ่อเกิดของอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่งทางการค้าที่สำคัญของโลก และเมื่อถึงจุดสูงที่สุดย่อมมีการเสื่อมลงเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ดังคำกล่าวที่ว่า “มีขึ้นย่อมมีลง” แต่สิ่งที่สำคัญคือการสร้างคุณค่าและภูมิปัญญาประดับไว้แก่โลกเป็นสิ่งที่มั่นคงและยั่งยืนตราบนิจนิรันดร

อ้างอิง

สมเจตน์ เจตนสุนทรเวทิน. (2553).นครเปตรา 1ใน7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่.ค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2560, จาก http://www.sahavicha.com/

เอิงเอย. (2559). 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ยุคใหม่ ยุคกลาง ยุคเก่า มรดกโลกที่ต้องไปเยือนสักครั้ง.ค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2560, จาก http://travel.trueid.net/detail/42479

Worldnew7wonders. (2017). PETRA, ARABIAN HISTORICAL AND ARCHAEOLOGICAL CITY, JORDAN. From https://world.new7wonders.com/wonders/petra-9-b-c-40-a-d-jordan/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น