หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

22 ธ.ค. 2559

Ice Houses: การกักเก็บน้ำแข็งในยุคก่อนที่จะมีตู้เย็น

โดย ณัฐรีย์ ยุ่นฉลาด

สมัยนี้จะหาน้ำแข็งที่ไหนก็หาได้ทั่วโลก ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขั้วโลกเหนือ แค่เดินไปร้านอาหารหน้าปากซอยแถวบ้านคุณ  แล้วสั่งน้ำแข็งเปล่าสักแก้วก็ได้แล้ว หรือหากไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องออกไปซื้อให้เปลืองเงิน คุณก็แช่น้ำในตู้แช่แข็งที่บ้านแล้วรอสักพัก คุณก็จะได้น้ำแข็งก้อนมาใช้ แล้วเคยสงสัยไหมว่าสมัยก่อนเขาทำกันได้อย่างไร? แน่นอนว่าเขาก็ต้องมีวิธีของเขา คนสมัยก่อนจะไปสรรหาน้ำแข็งมาจากแม่น้ำลำธารในพื้นที่อากาศหนาวเย็น แล้วทำการขนย้ายก้อนน้ำแข็งเหล่านั้นไปเก็บไว้ในโรงกักเก็บน้ำแข็งหรือ Ice house นั่นเอง

ก่อนหน้าที่จะออกแบบสร้าง Ice house ขึ้นมาอย่างแพร่หลายในช่วงยุคปี คศ. 1800 มนุษย์รู้จักการกักเก็บน้ำแข็งที่ไปหามาไว้ใน Ice Pit หรือ Ice Cave ซึ่งอยู่ในลักษณะของถ้ำ หรือบ่อที่ขุดไว้เพื่อกักเก็บน้ำแข็งโดยเฉพาะ แต่การก่อสร้าง ice house ที่เก่าแก่ที่สุดนั้น เกิดขึ้นที่เมือง Terqa ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย ในจารึกอักษรคูนิฟอร์มโบราณของปี 1780 BC บันทึกไว้ว่า กษัตริย์แห่ง Mari พระองค์หนึ่งพระนามว่า Zimri-Lim ได้ออกคำสั่งให้ก่อสร้าง ice house เพื่อกักเก็บน้ำแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับสมัยนั้น และไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดมีหมายสั่งให้ก่อสร้างมาก่อนเลย นอกจากนี้ ได้ค้นพบร่องรอยซากปรักหักพังของ ice pit หรือ บ่อกักเก็บน้ำแข็งที่ประเทศจีนซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี 700 AD แล้วยังมีหลักฐานการกักเก็บน้ำแข็งใน ice pitในยุคของพระเจ้า Alexander มหาราช แห่งกรีกโบราณ

ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างสถานที่และวิธีการกักเก็บน้ำแข็งในอดีต ซึ่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสมัยเก่าแก่ที่สุดมาจนถึงยุคล่าสุดก่อนการใช้ตู้เย็น

1. Yakhchal แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย (400 BC)
 
เป็น Ice House รุ่นแรกๆที่สร้างขึ้นราวปี 400 BC ใช้อย่างแพร่หลายในจักรวรรดิเปอร์เซีย หรือในประเทศอิหร่านในปัจจุบัน Yakhchal มีกลไกในการผลิตน้ำแข็งเองในช่วงหน้าหนาว คือ น้ำจะไหลตามท่อระบายที่เรียกว่า qanat (หรือ aqueduct) ไปยัง Yakhchal แล้วจะแข็งตัวจากความเย็นในอากาศกลายเป็นน้ำแข็งเกาะตามโครงสร้าง หรือซอกต่างๆภายใน Yakhchal ที่มีผนังหนาทึบซึ่งสามารถรักษาอุณหภูมิเย็นๆไว้ให้น้ำแข็งคงสภาพได้นาน จะเห็นได้ชัดว่าโครงสร้างส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นดิน แต่ยังมีพื้นที่กักเก็บน้ำแข็งและอาหารไว้ใต้ดินอีกด้วย การกักเก็บอาหารไว้ใน Yakhchal ก็เหมือนกับที่สมัยนี้เราเก็บอาหารแช่ไว้ในตู้เย็นเพื่อถนอมอาหารกันไม่ให้บูดนั่นเอง น้ำแข็งที่ถูกผลิตขึ้นจะใช้ได้ตลอดทั้งปี


Yakhchal 
ที่มา: http://www.tishineh.com/

2. การกักเก็บน้ำแข็งในประเทศอังกฤษ (คศ.1660)

Ice Cutting หรือการตัดน้ำแข็งเป็นก้อนๆเพื่อขนย้ายไปยังเมืองต่างๆเพื่อกักก็บไว้ใช้ จำเป็นที่จะต้องรอให้ถึงฤดูหนาวเมื่อน้ำในแม่ลำธารแข็งตัวแล้วกลายเป็นน้ำแข็ง ชาวอังกฤษสมัยกลาง (Medieval Age) ต้องนำเข้าน้ำแข้งจากประเทศแถบ Scandinavia เพื่อนำมาใช้สอยในประเทศตนเอง โดยนำน้ำแข็งที่นำเข้าไปกักเก็บไว้ใน Ice House ที่มีอยู่บนพื้นที่ของ Manor แต่ละแห่งทั่วประเทศ (Manor คือที่ดินที่มอบให้กับขุนนางในสมัยกลาง เป็นระบบการปกครองในฟิวดัลเจ้าหน้าที่ในเขตปกครอง “คฤหาสน์”)

Ice House ของอังกฤษส่วนใหญ่มีลักษณะเดียวกันคือ ก่อสร้างด้วยอิฐหนา โครงสร้างเป็นโดม และมีทางเข้าอยู่บนดินแต่พื้นที่กักเก็บน้ำแข็งและอาหารแช่แข็งอยู่ลึกลงไปอีก เป็นลักษณะของอุโมงค์ใต้ดิน โดยสันนิษฐานว่าชาวอังกฤษได้รับแรงบันดาลใจจากการกักเก็บน้ำแข็งในถ้ำเก็บน้ำแข็งของชาวอิตาลี สันนิษฐานว่า ภายใน ice house สามารถบรรจุ หรือกักเก็บน้ำแข็งกว่า 20 ตัน
 

Ice House ที่มีทางเข้าแบบโดมที่ชัดเจน ที่เมือง Florence, Italy
ที่มา: https://en.wikipedia.org/

3. Ardgillan Castle, Ireland (คศ.1738)

ปราสาทแห่งนี้ ที่ตั้งอยู่ที่เมือง Balbriggan, Fingal ประเทศไอร์แลนด์ มีทางเดินใต้ดินที่สมัยก่อนสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่กักเก็บน้ำแข็งหรือ Ice House ใต้ดินประจำคฤหาสถ์นั่นเอง ซึ่งสมัยก่อนคนมีฐานะร่ำรวยเท่านั้นถึงจะมี ice house ส่วนตัวใช้เองที่บ้าน ซึ่งที่แห่งนี้มีโครงสร้างคล้ายคลึงกันกับ ice house ของอังกฤษ


ทางเข้า Ice House ที่ปราสาท Ardgillan ประเทศไอร์แลนด์ 

4. Ice House ส่วนตัวแห่งคฤหาสน์ Hampton Mansion ในประเทศสหรัฐอเมริกา (ปี คศ. 1790)

คฤหาสน์หลังโตที่เมือง Baltimore รัฐ Maryland, ประเทศสหรัฐอเมริกา มี Ice House ส่วนตัว สมัยก่อนทาสประจำคฤหาสน์หรือคนงานรับจ้างจะทำการขุดเจาะและตัดก้อนน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆจากลำธารที่อยู่ในเขตที่ดินแห่งนี้ในฤดูหนาว ขนย้ายขึ้นเนินเขาบนเลื่อนหิมะขนาดใหญ่ เพื่อนำไปกักเก็บไว้ใต้ดินภายใน Ice house
 

ทางเข้าของ Ice House ที่ Hampton Mansion USA และ ภาพใต้ดิน

5. ธุรกิจโรงน้ำแข็งในประเทศสหรัฐอเมริกา (คศ. 1805-1950s)

Frederic Tudor เป็นเจ้าของฉายา Boston’s Ice King หรือ ราชาน้ำแข็งแห่งบอสตัน เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Tudor Ice Company ที่ทำการขนส่งน้ำแข็งไปยังที่ต่างๆทั่วโลกในช่วงปี คศ. 1826-1892 ทั้งในแถบทะเล Caribbean และทั่วทวีป Europe โดยทำการตัดก้อนน้ำแข็งจากแอ่ง Walden Pond ที่เมือง Concord, แอ่ง Fresh Pond ที่ Cambridge, แอ่ง Spy Pond ที่เมือง Ayer, แอ่ง Horn Pond ที่ Woburn, ทะเลสาป Lake Quannapowitt ที่ Wakefield, แอ่ง Haggett’s Pond ที่ Andover, ทะเลสาป Suntaug Lake ที่ Lynnfield, แอ่ง Spot Pond และแอ่ง Doleful Pond ที่เมือง Stoneham, และสุดท้ายที่ทะเลสาป Wenham Lake ที่เมือง Wenham (หรือทุกๆพื้นที่ในรัฐ Massachusetts) ช่วงที่บริษัทนี้รุ่งเรืองมากๆได้แก่ปี คศ.1880 Tudor ที Ice House ถึง 22 แห่งที่กักเก็บน้ำแข็งถึง 30,000 ตัน โดยช่วงนี้และช่วงหลังจากนั้นก็มีบริษัทอื่นก่อตั้งขึ้นมากมายหลายแห่งที่ทำเกี่ยวกับน้ำแข็งเช่นกัน เมื่อถึงช่วงฤดูร้อนในสหรัฐอเมริกา เหล่า Icemen หรือคนส่งน้ำแข็ง จะเริ่มหน้าที่ในการที่จะขนส่งน้ำแข็งจาก ice house ของบริษัทไปถึงบ้านของลูกค้า เพื่อที่จะใส่เข้าไปใน ice box ที่มีลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกับตู้เย็นในปัจจุบัน


ภายในโรงกักเก็บน้ำแข็ง Tudor Ice Company (ก่อตั้งเมื่อปี คศ.1805)

เห็นหรือยัง ว่าคนสมัยก่อนเขาจะหาน้ำแข็งกินง่ายๆเหมือนสมัยนี้ไม่ได้ อากาศร้อนๆก็ต้องทนร้อนไป ไม่มีแม้กระทั่งน้ำเย็นๆสักแก้วไว้ดื่มคลายร้อน ดีแค่ไหนที่เกิดมายุคที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การที่ได้ศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างเราต้องทึ่งและนับถือความสามารถของคนยุคก่อนๆ และที่สำคัญต้องขอบคุณคนรุ่นนั้นที่ทำให้พวกเรามีวันนี้ได้


อ้างอิง

History of Refrigeration. (2559). Facts and History of Ice Houses. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2559, จาก http://www.historyofrefrigeration.com/refrigeration-history/history-of-ice-houses/

Kaushik. (2556). Ancient Ice Houses of Iran. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2559, จาก http://www.amusingplanet.com/2013/01/ancient-ice-houses-of-iran.html

Orville R. Butler. (2559). From Ice House to Refrigerator. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2559, จาก http://www.ultimatehistoryproject.com/ice-house.html

Revolvy. (2559). Ice house (building). สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2559, จาก https://www.revolvy.com/main/index.php?s=Ice%20house%20(building)

Revolvy. (2559). Frederic Tudor. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2559, จาก https://www.revolvy.com/topic/Frederic%20Tudor&item_type=topic

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น