หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

25 ธ.ค. 2559

หลักคำสอนเรื่องจริยธรรมของขงจื้อ

โดย ภาณุพงษ์ ต่อสกุล

ในบรรดาบุคคลสำคัญของดินแดนมังกร บุคคลที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากในด้านลัทธิปรัชญาจีนมาแต่โบราณ โดยเฉพาะหลักจริยธรรมของท่านนั้น แม้จะผ่านมาเนิ่นนานปีก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับยุคปัจจุบันได้เสมอ บุคคลท่านนั้นก็คือ “ขงจื้อ” นั่นเอง

ขงจื้อ มีชื่อแบบสามัญว่า ข่งชิว บรรพบุรุษของ ขงจื๊อ เดิมเป็นชนชั้นสูงใน ประเทศซ่ง ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดเหอหนาน ภายหลังพวกเขาได้อพยพไปอยู่ในประเทศหลู่ (ปัจจุบันคือซานตง) ภายหลังที่พ่อของขงจื๊อ ถึงแก่กรรม แม่ผู้ยังเยาว์วัยได้หอบหิ้วขงจื๊อเข้าไปอยู่ในเมือง ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศหลู่ ผู้เป็นแม่เป็นห่วงเรื่องการศึกษาของขงจื๊อเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการจะมีชีวิตที่มีอนาคตนั้น ขงจื๊อต้องเป็นขุนนาง และมีวิธีเดียวที่จะบรรลุได้ คือการเรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นหนทางของการมีความรู้


ภาพวาดขงจื๊อ
ที่มา   http://thai.cri.cn

ขงจื้อ (Confucius) เป็นชาวจีนคนหนึ่งที่มีความสามารถเป็นนักปราชญ์ อาจารย์และรวมถึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องของปรัชญา ศีลธรรมและการเมือง ขงจื๊อนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของคำสอนที่ให้แง่คิดในด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น จารีต ประเพณี วัฒนธรรม และท่านได้มีการนำคำสอนมาให้ความหมายพร้อมทั้งจัดทำเป็นหมวดหมู่และมีการอธิบายเพิ่มเติมเสริมความเข้าใจในเรื่องของจริยธรรมเพื่อทำให้เกิดการเข้าใจในหลักคำสอนที่ถูกต้อง ในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรมนั้น ขงจื้อได้แบ่งจริยธรรมออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับปัจเจกบุคคลกับระดับสังคม


ตัวอย่างคำคมของขงจื๊อ

จริยธรรมระดับปัจเจกบุคคล มี 5 ประการ ได้แก่

ความชอบธรรม (อี๋) จัดเป็นความดีสูงสุด หมายถึง ความถูกต้องเหมาะสม, การวางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ เข้ากับทำนองที่ว่า “รู้กาลเทศะ” หากเราเกิดความสงสัยว่า เราจะรู้ได้อย่างไรและอะไรจะเป็นตัวบ่งบอกให้เราวางตัวได้เหมาะสม ขงจื้ออธิบายว่า “ก็คือหน้าที่” ซึ่งจะเป็นตัวบอกเราว่า ฐานะของเราในปัจจุบันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรในขอบเขตแค่ไหน เช่น พ่อแม่จะปฏิบัติต่อบุตรหลานอย่างไร ยอมรับว่าเป็นลูกของตนหรือไม่ อย่างนี้แหละเรียกว่า “ความชอบธรรม” คนฉลาดและมีปัญญาจะมีลักษณะเช่นนี้

มนุษยธรรม (เหริน) คือ “รักผู้อื่น” เราอยู่ในสังคมและมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกันมากมาย แต่มีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งที่สำคัญมากซึ่งคนทั่ว ๆ ไปมักจะมองข้าม นั่นก็คือในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรามีหน้าที่ต้อง “รักผู้อื่น” และต้องรักจริง ๆ ปัญหาก็คือว่า เราจะรักผู้อื่นจริง ๆ ได้ไหม หรือรักอย่างไร ขงจื้อแสดงทัศนะว่า ถ้าพิจารณาจากคนใกล้ตัว ให้เอาใจใส่คนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ลูก ถ้าไกลตัวออกไป ก็รักคนทั้งโลก เหมือนกับพระพุทธศาสนาที่สอนเราว่าให้มีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ อย่าตกเป็นทาสของความรักแบบเสน่หาซึ่งไม่จีรังยั่งยืน หรือที่ศาสนาคริสต์บอกว่า “คนทั้งโลกเป็นครอบครัวเดียวกัน” เพราะเกิดมาจากการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ความรู้สึกผิดชอบ (จง) “อยากให้เขาปฏิบัติกับเราอย่างไร เราก็ปฏิบัติอย่างนั้นกับเขา” หรือพูดตามสำนวนไทยว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ปกติแล้วเราปรารถนาจะให้ผู้อื่นเข้าใจเรามากกว่าเลยลืมนึกถึงหัวอกของผู้อื่น ถ้าเราอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้อื่น เราจะซึ้งใจดีว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเกลียดความทุกข์ มุ่งหวังปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น วิธีคิดแบบนี้ขงจื้อมองว่า เมื่อเราพัฒนาตัวเองให้ดีแล้ว สังคมก็จะดีตาม ความรู้สึกผิดชอบเป็นกลไกของความเอื้ออาทร ดูแลห่วงใยซึ่งกันและกัน เพราะเราอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้

เห็นแก่ผู้อื่น (ซู่) “อย่าปฏิบัติต่อเขาในสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เขาปฏิบัติต่อเรา” จริยธรรมข้อนี้จะเน้นพฤติกรรมของคนที่เราไม่ชอบ แต่เราเอาพฤติกรรมนั้นไปใช้กับผู้อื่น เข้าทำนอง “นินทากาเล” ใส่ร้ายป้ายสีก่อให้เกิดความแตกแยก แตกร้าว เป็นการสร้างศัตรู บ่มเพาะความอาฆาตมาดร้าย ชิงชัง รังเกียจกันไม่มีที่สิ้นสุด

ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ (หมิ่น) ก็คือการทำหน้าที่ของตนเต็มกำลังความสามารถ โดยไม่ต้องกังวลถึงผลที่จะได้รับจากงานนั้น ทำงานด้วยเหตุว่า เป็นสิ่งที่ดีงามและสมควรทำ งานเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง ไม่ว่าผลของงานจะออกมาในรูปแบบไหนก็ไม่ยึดติดกับงานนั้น เหมือนกับที่ท่านพุทธทาสบอกว่า “ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่” เป้าหมายมิใช่หวังอามิสสินจ้างรางวัลใด ๆ แต่ทำงานเพราะเป็นสิ่งมีคุณค่าที่มนุษย์พึงกระทำ

จริยธรรมระดับสังคม มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่

ความสัมพันธ์ทางสังคม สังคมที่ดีที่สุดคือสังคมที่มีความชอบธรรม ความชอบธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขงจื้ออธิบายว่า เกิดจากครอบครัวเพราะครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม และรากฐานของครอบครัวอยู่ที่ความสุข ความมั่นคง ความสุขในครอบครัวจะเกิดจากความสัมพันธ์ของคนเหล่านี้คือ
  • พ่อแม่กับลูก  หน้าที่ของพ่อแม่คือให้ความรักความเมตตาต่อลูก ส่วนลูกต้องมีความกตัญญู รู้คุณ
  • พี่กับน้อง หน้าที่ของพี่คือให้ความสุภาพอ่อนโยนกับน้อง ส่วนน้องก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตน และเคารพนับถือพี่
  • สามีกับภรรยา   หน้าที่ของภรรยาสามีคือความซื่อสัตย์ ไม่นอกใจกัน
  • เพื่อนกับเพื่อน   มีหน้าที่ที่สำคัญคือมีความจริงใจ และซื่อสัตย์ต่อกัน
  • นายกับบ่าว หน้าที่ของนายหรือผู้บังคับบัญชาคือมีความเมตตากรุณา ไม่อคติต่อบ่าวหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ส่วนบ่าวก็มีหน้าที่คือ เชื่อฟัง
การกำหนดตำแหน่งและขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนวุ่นวายเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของตนเอง และเป็นสิ่งกำกับหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตัวเอง

จริยธรรมของขงจื้อจะเริ่มจากตัวเองเสียก่อนแล้วค่อยขยายวงกว้างออกไปสู่สังคม เข้ากับทำนองที่ว่า “ก่อนจะสอนคนอื่น ต้องสอนตัวเองให้ได้เสียก่อน” พูดได้ทำได้ ปากกับใจต้องตรงกัน

จริยธรรมของขงจื้อที่ได้กล่าวมาดังข้างต้นนั้นล้วนเป็นสิ่งที่ดีงามควรค่าแก่การนำไปปฏิบัติตามและที่สำคัญเลยสิ่งดีๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหาก เราไม่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะจริยธรรมดีๆที่เกิดจากตัวเราเองนั้นเราเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเอง ถ้าเราทำได้ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนใกล้ตัวหรือแม้แต่คนในสังคมซึ่งนั่นเองทำให้จริยธรรมที่ดีงามเช่นนี้แผ่ขยายไปสู่สังคมที่กว้างต่อไปได้ในอนาคต


อ้างอิง

ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, ดร. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2545.

ศาสนาขงจื๊อ.ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2559 จาก hselearning.kku.ac.th/UserFiles/chapter7(3).pdf

การศึกษาหลักจริยศาสตร์ของขงจื๊อ (A Study of the Ethical Principles). ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2559 จาก center.bkkthon.ac.th/journal/upload/doc/spit/6/files/2.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น