หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

23 ธ.ค. 2559

แมว สัตว์เทพเจ้าแห่งไอยคุปต์

โดย  กิตติทัศน์  วงค์ศรีดา

หากจะกล่าวถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนานนั้น คงจะหนีไม่พ้นสุนัขและแมวที่มีความนิยมสูสีกินกันไม่ลงมาอย่างต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะแมวที่มีทั้งความน่ารัก เฉลียวฉลาด ช่างอ้อนช่างประจบแต่ก็แสนจะเย่อหยิ่งทระนงที่เห็นแล้วช่างดูลึกลับและน่าหลงใหล ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้ปรากฏว่ามีการนำแมวมาเป็นสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ในยุคสมัยอียิปต์โบราณ (ไอยคุปต์) เพื่อช่วยจับหนูภายในบ้าน ต่อมาแมวก็ได้แพร่พันธุ์ไปทั่วโลกโดยมีผู้สันนิษฐานไว้ว่าน่าจะมาจากสาเหตุของเรือสินค้าที่นำแมวไปจับหนูบนเรือและท่องไปตามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและหลายทวีปแวะพักที่ไหนแมวก็ขึ้นฝั่งที่นั่นด้วย ชาวอียิปต์โบราณเรียกแมวว่า “เมียว” “มิว” (Mau) ซึ่งเป็นการพยายามเลียนเสียงของแมว



ในสมัยไอยคุปต์มีกฎหมายห้ามนำแมวออกนอกประเทศ และถ้าพบแมวที่ใดก็ให้นำกลับมาด้วย ผู้ใดจะทำร้ายหรือฆ่าแมวไม่ได้เด็ดขาด มีบทลงโทษถึงขั้นประหาร และเมื่อแมวของบ้านไหนตายคนในบ้านนั้นก็ต้องไว้ทุกข์ โกนคิ้ว และทำมัมมี่ให้แมวตัวนั้นอีกด้วย เนื่องจากชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทพเจ้าและมีส่วนสำคัญช่วยทำให้อียิปต์โบราณเจริญรุ่งเรือง เพราะแมวช่วยควบคุมจำนวนของหนูในอียิปต์ที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตรและเป็นตัวแพร่เชื้อโรคระบาดของหลายอาณาจักรในสมัยโบราณอย่างกาฬโรค (Plague) เมื่อมีแมวมาควบคุมจำนวนของหนูก็ทำให้พืชพรรณธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ชาวอียิปต์ไม่ตายจากกาฬโรคทำให้มีจำนวนคนมากสามารถแผ่ขยายอาณาจักรออกไปได้กว้างใหญ่ไพศาลเป็นเวลาหลายพันปี

มีตำนานเทพเจ้าของชาวอียิปต์ กล่าวว่า เทพรา (Ra) เคยจำแลงพระองค์เป็นแมวต่อสู้กับงูยักษ์อะโปพิส (Apophis or Apep) จนราบคาบซึ่งชาวไอยคุปต์ถือว่างูเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจและแมวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของสุริยเทพ ช่วงสมัยอาณาจักรใหม่ได้ถือว่าแมวตัวผู้เป็นร่างจำแลงของเทพรา (Ra) แมวตัวเมียคือพระเนตรของเทพรา (Ra) และตำแหน่งเทวีแมวเป็นสัญลักษณ์ของเทวีเซ็คเม็ต (Sekhmet) เทวีที่มีพระเศียรเป็นสิงโตแห่งเมืองเมมฟิส (Memphis)


The god Ra, in a cat form, fight with Apep who is in a snake form.

แมวยังถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเทวีไอซิส (Isis) อีกด้วย กล่าวกันว่าหากบ้านไฟไหม้ต้องนำแมวออกจากบ้านให้ปลอดภัยก่อนจะหาทางดับไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้แมวเข้าไปภายในบ้านเพราะไฟเป็นสัญลักษณ์ของสุริยเทพ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าที่ตาของแมวเปลี่ยนสีนั้นเป็นไปตามการโคจรของดวงอาทิตย์ คือเมื่อที่แสงแดดกล้าที่สุดตาของแมวจะหรี่เล็กเปลี่ยนไปคล้ายสีทองคำ แต่เมื่อใกล้ช่วงดวงอาทิตย์ตกดินและมืดลง ตาของแมวจะเปิดกว้างและเป็นสีดำสนิท

แมวมีความเกี่ยวข้องกับเทพสำคัญอีกพระองค์หนึ่งคือ เทวีบาสเต็ต (Bastet) or พาชต์ (Pasht) เทวีแห่งความสุข ความสนุกสนาน และการเฉลิมฉลอง รูปลักษณ์เป็นสตรีเพศที่มีศรีษะเป็นแมวหรือเทวรูปแมว พระหัตถ์ถือซิสทรัม (Sistrum) เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ นิยายของอียิปต์โบราณยังกล่าวว่า พาชต์ (Pasht) หรือ จันทราเทวี คนพื้นเมืองเรียกว่า “แมว” เป็นมเหสีของเทพรา (Ra) ตอนกลางคืนสุริยเทพต้องไปซ่อนตัวในยมโลก พาชต์ (Pasht) จะใช้แสงอาทิตย์ในดวงตาช่วยส่องทางให้เทพรา (Ra) เดินทางได้สะดวกซึ่งในการเดินทางแต่ละครั้งเทพราต้องต่อสู้กับงูใหญ่ที่มาขวางทางโดยจำแลงกายเป็นแมว ถ้าชนะก็จะนำแสงสว่างมาสู่วันรุ่งขึ้น หากแพ้ก็จะไม่มีแสงสว่างในวันรุ่งขึ้นหรือเกิดสุริยคราสนั่นเอง ผู้คนก็จะส่งเสียงร้องตะโกนให้งูใหญ่ตกใจและปล่อยเทพราแล้วแสงอาทิตย์ก็จะคืนสู่โลก วนเวียนเช่นนี้ไม่สิ้นสุด

บาสเต็ต (Bastet) เป็นเทวีประจำเมืองบูบาสติส (Bubastis) ปัจจุบันคือเมืองเตลบาสตา  (Tell-Basta) และได้รับการยกย่องให้เป็นเทวีสุงสุดของไอยคุปต์ในสมัยราชวงศ์ที่ 22 ยุคของฟาโรห์เชชอง (Sheshong) กลายเป็นเทวีที่สำคัญได้รับการนับถือทั่วอาณาจักร ในสมัยอียิปต์โบราณมีงานเทศกาลฉลองให้กับเทวีบาสเต็ต (Bastet) ในฤดูใบไม้ผลิจะมีพิธีบวงสรวงเทพเจ้าแมวองค์นี้ด้วยเนื้อสัตว์ น้ำผึ้ง และผลไม้ มีสาวงามที่ประดับดอกไม้บนศีรษะมาร้องเพลงร่ายรำถวายเป็นการสนุกสนาน ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลใหญ่ กระทำกันในโบสถ์ ที่มีรูปปั้นหินขนาดมหึมาของเทพเจ้าแมวประดิษฐานอยู่บนแท่น


มัมมี่แมว  

หลักฐานการเลี้ยงแมวในดินแดนไอยคุปต์ มีทั้งรูปปั้นแมว ภาพเขียน ภาพแกะสลักตามผนังวิหารหรือบนกระดาษปาปิรัส (Papyrus) มัมมี่แมวที่นักโบราณคดีค้นพบมากกว่า 300,000 ตัวในสุสานโบราณของชาวอียิปต์ มัมมี่แมวในสุสานใกล้โบสถ์ของพาชต์ ณ เมืองบูบาสติส มัมมี่แมวในพิพิธภัณฑสถานของอียิปต์ที่ไคโร และพิพิธภัณฑสถานของอังกฤษในลอนดอน เมื่อนำผ้าพันศพออกก็จะพบว่าแมวทุกตัวมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน เป็นแมวตัวเล็กขนสั้นมีแต้มสีน้ำตาล คล้ายกับแมวสายพันธุ์ Abyssinian ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์และความเชื่อของชาวไอยคุปต์กับแมวนั้น เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ต้องการใช้ประโยชน์จากแมว มนุษย์จึงนำแมวมาเลี้ยงให้ช่วยควบคุมจำนวนของหนูที่เป็นตัวการของเชื้อโรคและทำลายความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรจนพัฒนามาเป็นความเชื่อเกี่ยวกับแมวจากการที่แมวสามารถจัดการกับหนูและแมวบางตัวสามารถจัดการกับงูพิษได้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีในดินแดนที่มีงูพิษมากอย่างอียิปต์ด้วยคุณประโยชน์และความรุ่งเรืองที่แมวได้นำมาสู่อียิปต์สมัยโบราณจึงทำให้แมวกลายเป็นที่เคารพนับถือของชาวไอยคุปต์ แม้ในปัจจุบันแมวจะไม่ได้รับการยกย่องนับถือประดุจเทพเจ้าในสมัยโบราณแต่มนุษย์กับแมวก็ยังคงความสัมพันธ์ในฐานะเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงเรื่อยมาจากเดิมเลี้ยงไว้ใช้งานก็กลายมาเป็นเพื่อนแก้เหงาของมนุษย์ที่ให้ความรักความผูกพันจนกลายเป็นความสัมพันธ์ตลกๆ ระว่างแมวกับมนุษย์ว่าเป็นเจ้านายกับทาสที่ยกว่าแมวเป็นเจ้านายที่มนุษย์ต้องคอยปรนนิบัติเอาใจใส่ตามใจเพื่อให้แมวรัก ไม่ต่างกับสมัยโบราณที่มนุษย์นับถือแมวเป็นเทพเจ้า ที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า “ทาสแมว”


อ้างอิง

ชลิตดา. (2548). ตำนานอียิปต์โบราณ ฉบับสมบูรณ์ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ.

นงพะงา พลอยสายทอง. (2548). คู่เมือเลี้ยงแมว The Cat Handbook. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : เพ็ทแพล้น พับลิชชิ่ง.

บรรยง บุญฤทธิ์. (ม.ป.ป.). กำเนิดเทพ~เทวีไอยคุปต์. กรุงเทพฯ : น้ำฝน.

สุวรรณา พรหมทอง. (2542). แมว เพื่อนผู้แสนน่ารัก. (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ : มติชน.

เอกชัย จันทรา. (2556). เทพเจ้าไอยคุปต์. (อียิปต์โบราณ) (พิมพ์ครั้งแรก). กรุงเทพฯ : ยิปซี.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น