หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

25 ธ.ค. 2559

ฟาโรห์อเคนาเตน (Akhenaten)

โดย ศยามล ปั้นประเสริฐ

ในอารยธรรมอียิปต์โบราณได้มีการเปลี่ยนแปลงปฎิรูปศาสนาครั้งยิ่งใหญ่ที่สำคัญที่สุด สร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงกับทางด้านสังคมของชาวอียิปต์สมัยโบราณ ที่สั่นคลอนรากฐานวัฒนธรรม ที่มีมาอย่างยาวนานเป็นเวลานับพันปีของอียิปต์โบราณ ถึงขนาดที่ต้องสร้างเมืองหลวงขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับการการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ และบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากฟาโรห์อเคนาเตนหรือฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 4


รูปสลักฟาโรห์อเคนาเตน 
ที่มา : http://1.bp.blogspot.com/

พระองค์เป็นพระโอรสของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 กับราชินีไทยี พระองค์ขึ้นครองราชย์ในปี 1353 หรือปี 1351 ก่อนคริสต์ศักราช(ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด) เป็นฟาโรห์ลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์ที่สิบแปด ครองราชย์อยู่นานถึง 17 ปี มีราชินีคู่บัลลังก์พระนามว่า พระนางเนเฟอร์ตีติ ที่ถูกกล่าวขานกันว่าเป็นราชินีที่งดงามที่สุดในโลก พระองค์มีพระธิดากับพระนางเนเฟอร์ตีติด้วยกันถึง 6 พระองค์ ทำให้พระองค์ทรงมีพระชายาองค์อื่นๆนอกจากพระนางเนเฟอร์ตีติ เพื่อมีพระโอรส ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ พระนางคียา พระมารดาของฟาโรห์ตุตันคาเมน

พระราชกรณียกิจสำคัญภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ คือ การปฎิรูปศาสนาครั้งใหญ่ในอียิปต์ ที่เปลี่ยนจากการนับถือเทพเจ้าหลายองค์(พหุเทวนิยม)เป็นนับเทพเจ้าเพียงองค์เดียว(เอกเทวนิยม) การเปลี่ยนแปลงความเชื่อของชาวอียิปต์ที่มีมาอย่างยาวนานนับพันปี ส่วนสาเหตุที่ทำให้พระองค์ตัดสินใจปฎิรูปศาสนานั้น มาจากนักบวชในช่วงเวลานั้นเป็นที่นับถือของประชาชน เพราะเชื่อว่านักบวชสามารถติดต่อสื่อสารกับบรรดาเทพเจ้าได้ ทำให้พวกนักบวชมีอำนาจเป็นอย่างมาก และในบางครั้งแม้แต่พระองค์เองก็ไม่อาจต้านทายอำนาจของพวกนักบวชได้  และเพื่อเป็นการรวบรวมอำนาจกลับคืนกลับคืนมาสู่พระองค์


ภาพสลักฟาโรห์อเคนาเตน พระนางเนเฟอร์ตีติ และธิดา 
ที่มา : https://www.brown.edu/

พระองค์จึงประกาศเปลี่ยนมานับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียว คือ เทพอาเตน และได้เปลี่ยนชื่อเมืองธีบส์ ใหม่เป็น  “นครแห่งแสงสว่างของพระเจ้าอาเตน”  (City of the Brightness of Aten) พระองค์ได้สร้างวิหารบูชาเทพอาเตน ที่มีความวิจิตรงดงามขึ้น แทนที่วิหารบูชาเทพอาเมน ที่เป็นเทพประจำเมืองธีบส์ และยังทรงสั่งให้ลบชื่อเทพพระเจ้าองค์อื่นๆจากอนุสาวรีย์ที่พบให้หมด และให้ใส่พระนามเทพอาเตนลงไปแทน จึงสร้างความไม่พอใจให้กับนักบวชและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

เนื่องจากต้องเผชิญกับความไม่พอใจและความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยย้ายไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ที่อยู่ห่างไปทางเหนือ 280 กิโลเมตรจากธีบส์ มีชื่อว่า อามาร์นา และทรงได้เปลี่ยนพระนามของพระองค์ขึ้นใหม่จาก อาเมนโฮเทปที่ 4 เป็น อเคนาเตน ด้วย เพื่อให้เชื่อมโยงกับคำว่า อาเตน (อเคนาเตน แปลว่า มีประโยชน์ต่ออาเตน)

เมืองอามาร์นา มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งทางด้านการค้าขาย ด้านวรรณกรรม และด้านศิลปะที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีตที่ยังหลงเหลืออยู่ คือ เสาหลักเขตทั้ง 14 แห่ง โดยเสาที่ใหญ่ที่สุดสูง 26 ฟุต แต่ละเสามีตัวอักษรจารึก บางเสายาวถึง 18 บรรทัด เบื้องบนตัวอักษรมีพระรูปของฟาโรห์อเคนาเตนกับพระนางเนเฟอร์ตีติและธิดา ทรงรวมกันอยู่ภายใต้รัศมีซึ่งเปล่งมาจากดวงอาทิตย์



ภาพจำลองเมืองอามาร์นา 

แต่เมื่อหลังจากที่ฟาโรห์อเคนาเตนสวรรคตลง ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปริศนามากมาย เนื่องจากเอกสารหลักฐานและบันทึกต่างๆทางประวัติศาสตร์ถูกทำลายไปจนแทบหมดสิ้น แต่จากหลักฐานในปัจจุบันมีการค้นพบว่า มีฟาโรห์สเมนคาเร ซึ่งอาจจะเป็นพระอนุชา พระโอรส หรืออาจเป็นพระราชบุตรเขย(ยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด) ขึ้นครองราชย์และสืบทอดเจตนารมณ์ของพระองค์ต่อ แต่ก็ทรงครองราชย์ได้เพียงไม่ถึงปีก็สวรรคตลง(ช่วงที่ครองราชย์ปี 1335-1334 ก่อนคริสต์ศักราช)

จากนั้นฟาโรห์เนเฟอร์เนเฟอรูอาเตน  ที่เป็นสตรีขึ้นครองราชย์ต่อ(ช่วงที่ครองราชย์ปี 1334-1332 ก่อนคริสต์ศักราช)  ในช่วงเวลานี้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นจากนักบวชและกลุ่มอำนาจเก่า ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองและศาสนาไปเหมือนเดิม และในที่สุดกลุ่มอำนาจเก่าได้รับชัยชนะ และได้ผลักดันให้องค์ชายตุตันอาเตน ซึ่งเป็นพระโอรสของฟาโรห์อเคนาเตนกับพระคียาขึ้นเป็นฟาโรห์แทน


เมืองอามาร์นา ในปัจจุบัน 

เมื่อขึ้นครองราชย์ฟาโรห์ตุตันอาเตน ได้ทรงประกาศยกเลิกการนับถือเทพเจ้าแบบเอกเทวนิยม ที่นับถือเทพอาเตนเพียงองค์เดียว กลับไปนับถือเทพเจ้าแบบพหุเทวนิยม ที่เป็นการนับถือเทพเจ้าหลายองค์เช่นเดิม ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น ตุตันคาเมน และทรงย้ายเมืองหลวงกลับไปยังเมืองธีบส์เหมือนเดิม เมืองอามาร์นาจึงถูกทิ้งร้างในทันที รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับฟาโรห์อเคนาเตนก็ได้สูญหายไปตลอดกาล เอกสาร หลักฐานต่างๆก็ถูกทำลายไป โดยฝีมือของนักบวชและกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่พอใจกับการเปลี่ยนศาสนาของฟาโรห์อเคนาเตน

กล่าวได้ว่าฟาโรห์อเคนาเตนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอียิปต์ เนื่องจากมีการปฎิรูปศาสนา เปลี่ยนจากพหุเทวนิยมมาเป็นเอกเทวนิยม  แต่น่าเสียดายที่อียิปต์ยังไม่พร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จึงเกิดความวุ่นวายตามมา และเมืองอามาร์นาก็ถูกทิ้งร้าง ถูกลบเลือนหายไป ไปพร้อมกับพระนามฟาโรห์อเคนาเตนในที่สุด


อ้างอิง

Prawatsarst Tarmtimeline. (2557). อัคเคนาเตน การปฏิรูปศาสนาและสร้างราชธานีในฝัน. ค้นเมื่อ 18 กันยายน 2559, จาก http://history-on-timeline.blogspot.com

egypthistory. (2553). ฟาโรห์อัคเคนาเตน (Akhenaton). ค้นเมื่อ 18 กันยายน 2559, จาก http://egypthistory.exteen.com

Wikipedia, the free encyclopedia. (2559). Akhenaten. ค้นเมื่อ 18 กันยายน 2559, จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Akhenaten

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2558). ฟาโรห์แอเคนาเทน. ค้นเมื่อ 18 กันยายน 2559,จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ฟาโรห์แอเคนาเทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น