หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

22 พ.ค. 2559

คุณแม่เทเรซ่า (Mother Teresa)

โดย ตรงหทัย บุญพูล

แม่ชีเทเรซา หรือ คุณแม่เทเรซา  นักบวชหญิงในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก  บุคคลที่เป็นที่รู้จักของคนยากไร้และผู้ที่ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ทั้งในประเทศที่ยากจนและร่ำรวย

วันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ.1910 ที่เมืองสโกเปีย จักรวรรดิออตโตมัน ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศมาซิโดเนีย แม่ชีเทเรซาถือกำเนิดขึ้นที่นั่น เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายอัลเบเนีย แม่ชีมีชื่อเดิมว่า “แอ็กเนส กอนจา โบยาจู (Agnes Gonxha Bojaxhiu)” คำว่า กอนจา แปลว่า ดอกไม้ตูม ครอบครัวของแม่ชี เป็นชาวคริตส์ที่เคร่งศาสนา ซึ่งทำให้แม่ชีชื่นชอบการไปโบสถ์และชอบการฟังเทศน์จากบาทหลวงมาโดยตลอด

เมื่อครั้งที่แม่ชีอายุ 9 ขวบ ในปี ค.ศ.1919 คุณพ่อของแม่ชีได้ถึงแก่กรรมลง แต่ด้วยความอบอุ่นภายในครอบครัวที่มาจากความรักอันมากมายของคุณแม่ จึงทำให้แม่ชีเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ร่าเริง แจ่มใสและแข็งแรง อีกทั้งแม่ชีได้เข้าร่วมกิจกรรมในโบสถ์อย่างจริงจังพร้อมๆกับพี่สาว จึงได้รู้จักกับประเทศอินเดีย ที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก และล้าสมัยกว่าประเทศของตนในขณะนั้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แม่ชีมีความคิดที่อยากจะบวชเป็นชี


เด็กกำพร้าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในอินเดีย ที่เต็มไปด้วยความอยากจนในขณะนั้น

ในปี ค.ศ.1928  แอ็กเนส หรือ  แม่ชีเทเรซ่า ตัดสินใจบอกกับคุณแม่และครอบครัว เพื่อจะไปบวชเป็นแม่ชี แต่หนทางก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เธอคิด เพราะไม่มีใครเห็นด้วยกับความคิดของเธอเลยสักคน โดยเฉพาะคุณแม่ แต่ไม่กี่วันต่อมาทุกคนก็เห็นด้วยและยินยอมให้ให้บวช

แม่ชีเดินทางไปบวชที่สำนักชีโลเรโต กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์  ซึ่งการลาจากครอบครัวในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เห็นหน้าและสวมกอดคุณแม่และพี่สาว  หลังจากบวชแล้วแม่ชีตั้งใจศึกษาเล่าเรียน พร้อมกับการฝึกปฏิบัติเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม สำหรับการเตรียมตัวบวชเป็นแม่ชี  ในปีเดียวกันแม่ชีเดินทางไปยังเมืองดาร์จีลิง รัฐสิกขิม ประเทศอินเดีย ตามความตั้งใจของแม่ชี

พฤษภาคม ค.ศ.1931 นี้เอง แม่ชีได้เข้าพิธีสาบานตนเป็นแม่ชี กับคณะภคินีพระนางมารีย์พรหมจารีย์ ได้สมญานามทางศาสนาว่า  “แม่ชีเทเรซ่า” มาจากนามของ นักบุญเทเรซ่าแห่งพระกุมารเยซู และหน้าที่แรกหลังจากการเข้าสาบานตนของแม่ชีคือ มาเป็นครูสอนนักเรียนที่โรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย ในสังกัดสำนักชีโลเรโต ในเมืองเอนทาลี นครกัลกัตตา โดยรอบโรงเรียนเป็นสลัมส่วนใหญ่

ในปี ค.ศ.1943 ช่วงนั้นเหตุการณ์ในอินเดียรุนแรง เพราะมีการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ เกิดความอดยากครั้งใหญ่ในแถบเบงกอลผู้คนล้มตายหลายล้านคน ผู้ที่รอดตายพากันมาหาอาหารในนครกัลกัตตา ขณะนั้นแม่ชีเทเรซ่าได้ขึ้นเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีเซนต์มาเรีย ก็พาตนเองและเหล่านักเรียนทั้งหลาย ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดจากผลกระทบของความรุนแรงมาได้ด้วยดี

ค.ศ.1946 แม่ชีเทเรซ่า ตัดสินใจเข้าไปสู่สลัม ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนยากไร้อย่างจริงจัง แต่แม่ชีก็ไม่สมปรารถนาโดยง่ายดายนัก เพราะการลาออกของการเป็นครูใหญ่ เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือคนยากไร้ในสลัม หมายความถึงการลาออกจากการเป็นแม่ชีด้วย  แต่พระผู้เป็นเจ้าก็ส่งความช่วยเหลือให้กับแม่ชี บาทหลวงฟานเอ็กเซ็น เป็นผู้ที่เข้าใจและสนับสนุนเจตนารมณ์ของแม่ชีเทเรซ่า และส่งแม่ชีไปศึกษาวิธีรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลปาโตน่า แม่ชีเทเรซ่าตั้งใจศึกษาการรักษาพยาบาลโดยไม่ค่อยได้พักผ่อน เพื่อจะได้ออกไปช่วยเหลือคนยากไร้โดยเร็วที่สุด



ภารกิจแรกของแม่ชีเทเรซ่า กับการช่วยเหลือคนยากไร้ แม่ชีมองไปเห็นเด็กนั่งๆนอนกันอยู่ ไม่ได้ทำอะไร  แม่ชีเทเรซ่าจึงเปิดโรงเรียนกลางแจ้งขึ้นในสลัม ชื่อเสียงของโรงเรียนขจรขจายไปทั่ว มีเด็กสนใจมาเรียนกันเยอะแยะ  วันหนึ่งนักเรียนที่เคยเรียนกับแม่ชีที่โรงเรียนเซนต์มาเรีย มาเจอแม่ชีกำลังทำงานอยู่ พวกเธอรู้สึกประทับใจและอยากเป็นอย่างแม่ชีบ้าง จึงตัดสินใจเข้าสาบานตนเป็นแม่ชีเข้ามาคอยช่วยเหลือแม่ชีเทเรซ่าในการช่วยเหลือคนยากไร้ ทำให้เป็นกลุ่มของแม่ชีเทเรซ่า สมาชิกในกลุ่มทุกคนล้วนเป็นศิษย์เก่าของแม่ชี่ทั้งสิ้น จากแต่ก่อนที่แม่ชีต้องรับภาระหนักอยู่คนเดียว  ก็มีคนคอยช่วยเหลือสนับสนุนงานของแม่ชีขึ้นเรื่อยๆ

7 ตุลาคม ค.ศ.1950 กลุ่มของแม่ชีเทเรซ่า ได้รับการยอมรับให้เป็น กลุ่มองค์กรใหม่ทางศาสนา  ที่มีชื่อว่า “คณะมิชชั่นนารีแห่งความรักของพระเจ้า”  เพื่อคนยากไร้ที่นอนรอความตาย   แม่ชีเทเรซ่าหาหนทางที่จะช่วยเหลือให้พวกเขาได้จากไปอย่างสงบ จึงขอความจากเหลือจากรัฐบาล  แล้วก็สำเร็จทางรัฐบาลได้ให้วัดกาลี แห่งศาสนาฮินดูมาใช้เป็นสถานที่  ด้วยเหตุนี้ “บ้านของผู้รอความตาย” จึงเกิดขึ้น  แม้จะต่างศาสนากัน ก็ไม่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  ผู้ที่กำลังจะตายไม่ว่าจะผู้หญิง หรือผู้ชาย ศาสนาใดก็ตาม ก็ได้รับการพยาบาลดูแลด้วยความเอาใจใส่  แต่กระนั้นก็มีผู้นับถือศาสนาฮินดูอีกส่วนหนึ่งไม่พอใจกับการทำงานของแม่ชีซึ่งเป็นศาสนาคริตส์ และออกมาต่อต้านกลุ่มของแม่ชี แต่แม่ชีก็สามารถผ่านปัญหานั้นมาได้  หลังจากนั้นมา สถานที่สำหรับคนยากไร้ที่นอกเหนือจาก บ้านของผู้รอความตาย ก็ได้ถูกสร้างขึ้น โดยกลุ่มของแม่ชีเทเรซ่า เช่น บ้านคุณแม่  บ้านเด็กใจบุญ หมู่บ้านสันติสุข

ในปี ค.ศ.1965 คณะมิชชั่นนารี แห่งความรักของพระเจ้า ก็แตกสาขาเพื่อไปช่วยเหลือคนยากไร้นอกประเทศอินเดีย ทั้งในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย  บรรดาแม่ชีได้สร้างสถานสงเคราะห์มากมาย  ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยเหลือคนยากจนแต่ยังช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วย  การทำงานของแม่ชีเทเรซ่าได้รับการยอมรับจากทั่วทุกมุมโลก

ค.ศ.1978 แม่ชีเทเรซ่าได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แม่ชีตระเวนกล่าวคำปราศัยในประเทศญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จักของคนไปทั่วโลก เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคม การรังเกียจคนจรจัด ต่อมาปี ค.ศ.1982 เกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรงในตะวันออกกลางแถบชายแดนด้านตะวันตกของเอเชีย  แม่ชีเทเรซาเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆที่ติดอยู่ในเหตุการณ์ออกมาได้ 36 คน  ด้วยภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แม่ชีเทเรซ่าเองก็แก่ลงเรื่อยๆทำให้สุขภาพร่างกายไม่เหมาะกับการทำงานหนักอีกแล้ว แม่ชีจึงมีความคิดที่จะลาออกจากการเป็นหัวหน้าคณะมิชชั่นนารี แล้วเสนอความคิดให้เลือกตั้งหัวหน้าคนใหม่ เพื่อหาคนที่จะมาสืบทอดงานของแม่ชีต่อ

 ค.ศ. 1979 คุณแม่เทเรซ่าได้รับเกียรตรับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในฐานะ "สำหรับการอาสาต่อสู้เพื่อลดความยากจนทุกข์ยากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความสงบสุขและสันติ" (for work undertaken in the struggle to overcome poverty and distress, which also constitute a threat to peace.)  คุณแม่เทเรซ่าปฏิเสธงานเลี้ยงฉลองที่ท่านได้รับรางวัลโนเบล และขอให้ผู้ที่ทำเค้กฉลองมาให้แม่ชีนำเค้กไปมอบให้คนยากคนจน

ในระหว่างการทำงานของท่านก็มีอาการโรคหัวใจกำเริบมารบกวนท่านบ่อยขึ้น อาการป่วยในระดับหนักมากเกิดขึ้นกับแม่ชีเทเรซาอีกใน พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) และอีกครั้งใน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) หลังจากนั้น คุณแม่เทเรซา ก็ป่วยหนักถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ ลุกนั่งไม่ได้

เมื่อคุณแม่เห็นว่าตนคงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) จึงได้ลาออกจากตำแหน่งมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมอีกครั้ง ครั้งนี้เหล่าแม่ชีเห็นว่า คุณแม่เทเรซาควรได้พักผ่อน เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย จึงไม่คัดค้านในการลาออกของคุณแม่เทเรซ่า และไม่เทคะแนนเสียงให้คุณแม่เทเรซา เพื่อให้คุณแม่ได้พักรักษาตัวไม่ต้องมีภารกิจ ดังนั้นภคินี นิรมลาจึงได้รับเลือกเป็นมหาธิการิณีคณะธรรมทูตแห่งเมตตาธรรมแทนคุณแม่เทเรซ่า



ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1997 แม่ชีเทเรซ่าได้จากไปอย่างสงบที่บ้านของคุณแม่ในอินเดีย ในขณะที่มีอายุ 87 ปี จากอาการของโรคหัวใจกำเริบ ที่เป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1983

แม่ชีเป็นที่รักของลูกศิษย์ทั่วโลกเลยเลยก็ว่าได้ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะมีใครสักคนที่คิดถึงคนอื่นมากกว่าคิดถึงตนเอง และคงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเหมือนกันที่จะมีใครสักคนที่ยอมอุทิศความสุขของตนเองเพื่อคนอื่น ความรักอันแสนจะบริสุทธิ์ที่ให้โดยมิหวังสิ่งตอบแทนมีอยู่จริงๆ บนโลกนี้ ไม่น่าเชื่อค่ะ คงได้แต่หวังว่าคนที่ดูแลมูลนิธิฯ ต่างๆ ต่อจากแม่ชีเทเรซ่า จะสามารถทำความฝันของแม่ชีท่านให้ประสบความสำเร็จต่อไปได้  แม้แม่ชีเทเรซ่าจะลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่คุณงามความดีของท่านก็ถูกกล่าวขานไปตราบนานเท่านาน
"ชีวิตที่ไม่ได้ช่วยเหลือคนอื่น คือชีวิตที่ไม่มีค่า"
(แม่ชีเทเรซ่า)

อ้างอิง

กาญจนา ประสพเนตร. 2547. แม่ชีเทเรซา. สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. แม่ชีเทเรซา. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2559, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/แม่ชีเทเรซา

สุรีย์ ทองปาน. ม.ป.ท. แม่พระนักบุญของโลก. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2559, จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=1147&catid=25

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น