หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

30 พ.ค. 2559

พิธีฮัจญ์ (Hajj)

โดย นราธิวัฒน์ ประภาสอน

ในแต่ละศาสนาที่สำคัญๆทั่วโลก ล้วนแล้วแต่มี พิธีกรรม ต่างๆ เพื่อเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณี สืบทอดและอนุรักษ์ศาสนา อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝน ปฏิบัติตน เพื่อพัฒนาจิตใจอีกด้วย ผู้อ่านหลายท่านคงจะรู้จักพิธีกรรมของพุทธศาสนามามากมายแล้ว และคริสตศาสนาก็คงเคยได้ยินกันมาบ้าง วันนี้ กระผมจะพาผู้อ่านทุกท่าน มาทำความรู้จักกับพิธีกรรมของศาสนาหนึ่ง ที่หลายๆท่านคงได้ยินมาบ้าง แต่ไม่รู้รายละเอียดว่าแท้จริงแล้ว พวกเขาปฏิบัติอะไรกันบ้าง พิธีกรรรมนี้ นั้นก็คือ พิธีฮัจญ์ ของศาสนาอิสลาม โดย ชาวมุสลิม

การทำฮัจญ์ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่เก่าแก่ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยศาสดาอิบรอฮีม การทำฮัจญ์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อพระอัลลอฮได้บัญชาให้ศาสดาอิบรอฮีม และศาสดาอิสมาอีล ผู้เป็นลูกชายร่วมกันสร้าง บัยตุลลอหฺ ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการเคารพบูชาพระอัลลอฮ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงบัญชา ให้ศาสดาอิบรอฮีม เรียกร้องให้มนุษย์ชาติมาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ โดยการประกอบ    ศาสนพิธี ที่เรียกว่า พิธีฮัจญ์ นั่นเอง

การประกอบพิธีฮัจญ์ หรือ การทำฮัจญ์ คือ การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่นครมักกะหฺ ในเดือนซุลฮิจญะห์ หรือเดือนที่ ๑๒ ของปีฮิจเราะห์ศักราช ศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ

ผู้ที่เลื่อมใสหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม ตามหลักห้าประการของศาสนา ย่อมได้ชื่อว่า "มุสลิม" แปลว่า ผู้สยบตนหรือผู้นอบน้อมตน หลักห้าประการประกอบด้วย ปฏิญาณ, นมัสการ, ศีล, ทาน และบำเพ็ญพิธีฮัจญ์



ในช่วงฮัจญ์ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเดินทางเข้าสู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยก่อนอื่นจะมีการทำ         อิหะรอม นั่นคือ การตั้งใจว่าจะทำพิธีฮัจญ์ ก่อนการเข้าไปในแผ่นดินหะรอม (แผ่นดินต้องห้าม) โดยจะปฏิบัติตามกฎของฮัจญ์ อาทิ การไม่มีเพศสัมพันธ์ การไม่ล่าสัตว์ในแผ่นดินหะรอม การไม่ตัดเล็บหรือผม การไม่เสริมสวยหรือใช้น้ำหอม ผู้ชายจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายมาสวมผ้าเพียงสองผืน แล้วต่างก็จะมาชุมนุมกันที่ ทุ่งอะรอฟะห์ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่เก้าของเดือนซุลฮิจญะห์ เมื่อถึงเวลาค่ำ ซึ่งตามปฏิทินฮิจเราะห์จะเป็นคืนที่สิบ เหล่า นักแสวงบุญจะเดินทางผ่าน ทุ่งมุซดะลิฟะหฺ พักชั่วครู่หนึ่ง ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ ทุ่งมีนา ก่อนเที่ยงของวันต่อไป
             
ส่วนชาวมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ก็จะเฉลิมฉลองทำบุญเลี้ยงอาหารที่บ้าน เรียกวันนี้ว่า วันอีดิ้ลอัฎฮา ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับ มาจากคำว่า อีด แปลว่า รื่นเริง เฉลิมฉลอง และ อัฎฮา แปลว่า เชือดสัตว์พลีทาน ดังนั้น วันอีดิ๊ลอัฎฮา จึงหมายถึง วันเฉลิมฉลองการเชือดสัตว์เพื่อพลีทาน ให้ผู้คนรับประทานในยามดุฮา คือยามสายหลังตะวันขึ้น แต่ก่อนเที่ยง หรือชาวไทยเชื้อสายมลายูในห้าจังหวัดภาคใต้เรียกว่าวันรายอ (รายาฮาญี) ซึ่งแปลเป็นไทยตามตรงก็คือ วันใหญ่ นั่นเอง
         
นักแสวงบุญจะพักอยู่ที่ ทุ่งมีนา เป็นเวลาสามวัน เพื่อขอพรและบำเพ็ญตนตามพิธีหัจญ์ หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงมักกะห์ เพื่อฏอวาฟ(เวียนรอบ) กะอฺบะหฺ หรือที่เรียกว่า บัยตุลลอหฺ อันเป็นเสมือนเสาหลักของชุมทิศ ซึ่งตั้งอยู่ใน มัสญิด ฮะรอม (มัสยิดต้องห้าม) หลังจากนั้นผู้แสวงบุญก็จะเดินจากเนินเขาศอฟา สู่เนินเขามัรวะหฺ ซึ่งมีระยะทาง ๔๕๐ เมตร ไปมาจนครบ ๗ รอบ ระหว่างที่เดินก็จะกล่าวคำขอพรและคำวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเสร็จพิธีนี้แล้วก็จะขลิบผมหรือโกนหัว



พิธีฮัจญ์ ถือเป็นศาสนพิธีที่สำคัญที่สุดของศาสนาอิสลามก็ว่าได้  เพราะถือเป็นหลักศรัทธาห้าประการของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมที่มีความสามารถทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน จะต้องหาโอกาสเข้าร่วมสักครั้งในชีวิต ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าการทำพิธีกรรมทุกครั้งจะสำเร็จไปด้วยดี จากประวัติศาสตร์การทำพิธีฮัจญ์ในหลายปีที่ผ่านมา มีหลายปีที่ในระหว่างการทำพิธี ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สะพานถล่ม  ผู้คนตื่นตระหนกจนเหยียบกัน หรือแม้กระทั่งเกิดอุปทานหมู่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย และที่มากที่สุดคือในปี คริสตศักราช 1900 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1,426 คน ด้วยเหตุ แย่งกันเข้าสู่บริเวณศาสนพิธี ที่เรียกว่า ลานพระเจ้าอวยพร จนบางคนผู้เคราะห์ร้ายถูกเหยียบจนเสียชีวิต

การทำพิธีกรรมทางศาสนานั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ดีในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะ อนุรักษ์และธำรงไว้ซึ่งศาสนา ปฏิบัติตนและพัฒนาจิตใจ แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องทำด้วยสติ มีความระมัดระวัง และเอื้อเฟื้อเผื่อแพร่กันและกันเสมอ พิธีกรรมจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พิธีกรรมเพื่อระลึกถึงและสรรเสริญพระเจ้า ก็อาจจะกลายเป็น พิธีกรรมนองเลือดเพื่อการสังเวยแก่พระเจ้า แทนก็เป็นได้

"ขอความสันติ ความเมตตาปราณีจงมีแด่พี่น้องทุกท่าน"

อ้างอิง

ปวีณา สัมฤทธิ์, การประกอบพิธีฮัจญ์ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559, จาก https://sites.google.com/site/krumouymp/islamic-studies/rites/unit-5

Annisaa, ทำไมมุสลิมต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์ และประวัติบางส่วนของพิธีฮัจญ์ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559, จาก http://www.annisaa.com/forum/index.php?topic=125.0

Website BBC, Hajj: pilgrimage to Mecca, Hajj stampede: At least 717 killed in Saudi Arabia
สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559, จาก http://www.bbc.co.uk/religion/religions/islam/practices/hajj_1.shtml





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น