หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

25 ธ.ค. 2558

ภาพพิมพ์อุคิโยเอะ (Ukiyo-e)

โดย นิธิดา ลิ้มถวิล

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่และยาวนาน และมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ งานศิลปะที่มีชื่อว่า อุคิโยเอะ

อุคิโยเอะ เป็นงานศิลปะประเภทภาพพิมพ์จากบล็อคไม้ คำว่า Ukiyo-e นั้น ในภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า 浮世絵 ซึ่งมีความหมายคือ ภาพของโลกแห่งความล่องลอย โดยภาพพิพม์อุคิโยเอะเป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและวิถีชีวิต เป็นภาพพิมพ์เพื่อความบันเทิงทางโลกของคนในสมัยนั้น


ภาพ Otani Oniji III in the Role of the Servant Edobei ของ Toshusai Sharaku

จุดเริ่มต้นของภาพอุคิโยะเอะนั้นเกิดขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจดีและมีเทคโนโลยีที่พัฒนา โดยเริ่มแรกนั้นอุคิโยเอะเป็นภาพที่วาดด้วยหมึกสุมิ แต่เป็นภาพวาดที่มีมูลค่าสูง ต่อมาได้มีการพัฒนานำวิธีการพิมพ์ภาพมาใช้ ทำให้มีการผลิตชิ้นงานในจำนวนมากขึ้น ภาพมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย อุคิโยเอะจึงกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมต่อๆมา และได้ชื่อว่าเป็นภาพวาดเพื่อชนชั้นกลาง

สำหรับการทำภาพพิมพ์อุคิโยเอะนั้นมักจะทำกันเป็นทีมอยู่ใน Workshop หรือโรงผลิต หน้าที่หลักในการทำภาพจะมีอยู่ 4 หน้าที่ ได้แก่ ศิลปิน ช่างแกะสลักไม้ ช่างพิมพ์ลาย และผู้จัดจำหน่ายภาพพิมพ์ การทำภาพพิมพ์จะเริ่มจากการสร้างลายภาพ ซึ่งศิลปินจะเป็นผู้ออกแบบและวาดภาพลงบนกระดาษบางๆ ภาพที่ออกแบบแล้วจะถูกนำไปทำบล็อกพิมพ์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นหน้าที่ของช่างแกะสลักไม้ ขั้นตอนต่อไปคือการพิมพ์ภาพด้วยการใส่สีและกดทับบล็อกพิมพ์ลงบนกระดาษ และสุดท้ายคือการนำภาพพิมพ์เหล่านั้นไปวางขาย โดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของผลงานส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นตัวศิลปินหรือผู้จัดจำหน่าย


ภาพคลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ ของคะสึชิกะ โฮะกุไซ จากชุดทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาไฟฟูจิ 
ที่มา:  https://upload.wikimedia.org/

ศิลปินที่ทำภาพพิมพ์อุคิโยเอะนั้นมีหลายคนด้วยกัน แต่ละคนจะมีรูปแบบงานที่แตกต่างกัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของงานภาพอุคิโยเอะที่หลายๆคนรู้จักดีก็คือคะสึชิกะ โฮกุไซ ศิลปินอุคิโยเอะช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ผู้ที่สร้างสรรค์ชุดทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาไฟฟูจิ ที่เป็นภาพพิมพ์ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะภาพคลื่นยักษ์นอกฝั่งคะนะงะวะ ที่เป็นสัญลักษณ์ที่น่าจดจำอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น

ถึงแม้ภาพวาดอุคิโยเอะนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็ยังมีผู้ที่สนใจภาพพิมพ์ชนิดนี้อยู่จำนวนไม่น้อย ศิลปินชื่อดังของโลกอย่างแวนโกะห์ก็ได้รับอิทธิพลการวาดภาพมาจากภาพพิมพ์นี้ จะเห็นได้ว่าอุคิโยเอะนั้นเป็นศิลปะภาพพิมพ์ที่มีความสวยงาม มีความเป็นเอกลักษณ์ และยังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของคนในสมัยนั้นอีกด้วย อุคิโยเอะจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทั้งในเชิงศิลปะและประวัติศาสตร์


อ้างอิง

อุคิโยะเอะ (ukiyoe) เป็น สัญลักษณ์ของ แจแปนนิสซึ่ม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2558, จาก http://www.nipponnotsubo.com/culture/culture/01112ukiyoe/0111231cul-ukiyoe.html

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ภาพอุกิโยะ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ภาพอุกิโยะ

ภาพพิมพ์อุกิโยเอะ (ukiyo-e) สะท้อนวัฒนธรรมของยุคเอโดะที่ได้รับความนิยม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2558, จาก http://www.japanwatch.org/thai/update_detail.php?id=1311

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. คะสึชิกะ โฮะกุไซ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/คะสึชิกะ_โฮะกุไซ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น