หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

26 ธ.ค. 2558

มารี อ็องตัวเน็ต (Marie Antoinette)

โดย วงศ์ทิพา  คงมีสกุลรัตน์

กีโยตินเป็นเครื่องประหารที่มีชื่อเสียงอย่างมากในฝรั่งเศส ซึ่งใช้สำหรับลงโทษผู้ที่มีความผิดร้ายแรง โดยในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส มีการใช้เครื่องกีโยตินประหารชีวิตพระราชินีผู้ซึ่งเป็นสาเหตุของความวุ่นวายในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็คือ พระนางมารี อ็องตัวเน็ต

มารี อังตัวเนต โฌเซฟ โยฮฌานน์ วอน ฮับส์บวร์ก – ลอแรนน์ หรือ พระนางมารีอ็องตัวเน็ต (Marie Antoinette) ประสูติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1755 เป็นธิดาของจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งโรมันและจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระนางเติบโตภายใต้การเลี้ยงดูอย่างเรียบง่าย ไม่เข้มงวดเท่าใดนัก การศึกษาของพระนางค่อนข้างถูกปล่อยประละเลยทำให้สามารถอ่านออกเขียนได้เมื่ออายุเกือบสิบชันษา ส่วนการเขียนและการพูดภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอิตาเลียนนั้น พระนางพูดและเขียนได้ไม่ดีนัก  เมื่อมีพระชนม์ได้ 14 พรรษา พระนางมารี อ็องตัวเน็ต ก็ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศสหรือที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นกษัตริย์หลุยส์ที่ 16  ทั้งนี้ก็เพื่อการเอื้อประโยชน์ให้แก่แผ่นดินของพระนาง



เมื่อพระนางก้าวเข้าสู่แผ่นดินฝรั่งเศส พระนางก็ถูกเรียกขานว่าเป็นผู้หญิงออสเตรียและต้องเผชิญกับความลำบาก ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับพระราชพิธีและขนบธรรมเนียมของฝรั่งเศสและการถูกปฏิเสธจากสวามีของตัวเองเป็นเวลาหลายปี ทำให้พระนางมีปฏิกิริยาในทางตรงกับข้ามกับจารีตประเพณีที่กุลสตรีชั้นสูงในราชสำนักควรจะเป็น พระนางกลายเป็นราชินีที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ใฝ่หาอิสรภาพและเสรีภาพ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 พระนางคือผู้นำแฟชั่นของยุโรปและพยายามมีอิทธิพลทางการเมืองเหนือพระมหากษัตริย์ ด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่นตามพระทัย หรือไม่ก็ด้วยคำแนะนำของพระสหายผู้จะได้รับประโยชน์ ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้พระนางถูกต่อต้านโดยกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย นับตั้งแต่เมื่อพระนางขึ้นสู่ราชบัลลังก์ มีการแจกใบปลิวกล่าวหาว่าพระนางมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับทั้งบุรุษและสตรี มีการใช้จ่ายเงินสาธารณะอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อการบันเทิงเริงรมย์ ด้วยการจัดหาเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับจำนวนมาก จัดงานเลี้ยงหรูหราฟุ่มเฟือย และจัดเกมการละเล่นที่มีเงินเดิมพันจำนวนมหาศาล

ในระหว่างที่ประชาชนฝรั่งเศสตกอยู่ในสภาวะอดอยากยากแค้นไม่มีแม้แต่ขนมปังจะกินอยู่นั้น พระนางกลับถลุงเงินหลวงอย่างไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด จนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 ขบวนประท้วงของสตรีเดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายน์เพื่อเรียกร้องขอขนมปังไปบรรเทาความทุกข์ยากให้กับครอบครัวตนเอง พระนางกลับตอบไปว่า “ให้พวกเขากินเค้กสิ”คำพูดที่พระนางเอ่ยออกมานั้นหารู้ไม่ว่าเป็นสิ่งที่บาดลึกและทิ่มแทงใจของประชาชนเป็นอย่างมากมาย  ในที่สุดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้น ประชาชนทั้งประเทศพร้อมใจกันทำการปฏิวัติฝรั่งเศส เพื่อล้มล้างระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย  มีการเรียกร้องให้ประหารพระนางมารีอ็องตัวเน็ตและกล่าวหาว่าพระนางเป็นศัตรูของชาติฝรั่งเศส

จากเด็กสาวออสเตรียผู้อ่อนด้อยประสบการณ์โลก ต้องกลายมาเป็นหญิงโฉดที่เอาแต่สร้างความวุ่นวายให้กับแผ่นดินฝรั่งเศส เพียงเพื่อต้องการหลีกหนีความเบื่อหน่ายในชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างที่เอาแต่มอบความเกลียดชังให้กับเธอ ทำให้พระนางต้องมีจุดจบอันน่าสลดเช่นนี้ ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 พระนางถูกประหารด้วยเครื่องกิโยติน สิริอายุได้ 37 พรรษา

และจากที่ได้กล่าวไปนั้นเรื่องราวชีวิตของพระนางมารี อ็องตัวเน็ต ก็ได้ถูกเชื่อมโยงและถ่ายทอดออกมาผ่านตัวหนังสือและบทละครที่ให้แง่คิดและมุมมองมากมายต่างกัน สำหรับดิฉันนั้นคิดว่า การที่คนๆหนึ่งจะสร้างบาปหรือความดีให้กับตัวเองนั้นไม่ได้เกิดจากจิตใต้สำนึกที่มีตั้งแต่เกิดได้ แต่มักจะเกิดขึ้นจากการเติบโตซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ โดยมีสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้างคอยช่วย  ไม่ใช่แค่ขัดเกลาแต่ยังสามารถบั่นทอนจิตใจของคนผู้นั้นได้อีกด้วย


อ้างอิง

มารี อ็องตัวแน็ต. Wikipedia (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558  เข้าถึงได้จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/มารี_อ็องตัวแน็ต

พระนาง มารี อองตัวแนตต์ ถูกประหารชีวิต (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558  เข้าถึงได้จาก:  http://guru.sanook.com/25542/

มารี อังตัวแนต ราชินีใจบาปหรือเพียงเหยื่อของสังคม (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558  เข้าถึงได้จาก:  http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000022526

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น