หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

8 ธ.ค. 2558

มหากาพย์กิลกาเมช (Gilgamesh)

โดย ประพล จันทบุตร

จากตำนานที่ยิ่งใหญ่สู่งานวรรณกรรมที่กลายเป็นนิยายเก่าแก่ที่สุดในโลก ตำนานของวีรบุรุษที่เป็นราชันย์เหนือราชันย์ทั้งปวงนามว่า กิลกาเมซ (Gilgamesh) ผู้ที่มีทั้งพละกำลังเหนือสัตว์ป่าทั้งปวง มีความอดทนมุมานะ และยังเป็นกษัตริย์ที่มัวเมาในเรื่องกามารมณ์เป็นอย่างมาก เรื่องราวต่างๆของกษัตริย์กิลกาเมชได้ถูกเขียนขึ้นเป็นวรรณกรรมที่มีชื่อว่า “มหากาพย์กิลกาเมช” เป็นมหากาพย์ที่โด่งดังของชาวเมโสโปเตเมีย และยังเป็นหนึ่งในมหากาพย์เรื่องแรกๆ ของอารยธรรมมนุษยชาติเลยก็ว่าได้

มหากาพย์กิลกาเมซนั้นถูกค้นพบเป็นแท่งดินเหนียวราว 12 แท่ง จากการสืบค้นพบว่า มหากาพย์กิลกาเมชนั้นถูกรวบรวมขึ้นในสมัยอัชชูร์บานิปาล กษัตริย์ของชาวอัสสิเรียน จารึกไว้เป็นภาษาซูเมอร์ เป็นอักษณะลิ่ม(คูนิฟอร์ม) ผู้จารึกมหากาพย์กิลกาเมชนี้ มีชื่อว่า ชิเนฆิอุนนินนิ (Shin-eqi-unninni)

ตามตำนานได้เล่าไว้ว่า กิลกาเมช เป็นษัตริย์แห่งนครอูรุก ซึ่งเป็นนครรัฐใหญ่ของชาวสุเมอร์เรียน พระองค์ทรงมีพระมารดาเป็นเทพและมีพระบิดาเป็นมนุษย์ ทำให้ทรงมีเลือดเทพอยู่ในวรกายครึ่งหนึ่ง และกิลกาเมชเป็นกษัตริย์ที่มัวเมาในเรื่องของกามารมณ์เป็นอย่างมาก พระองค์ใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการหาสาวงามมาสนองตัณหาของตัวเอง โดยไม่ละเว้นว่า หญิงสาวผู้นั้นจะเป็นสาวโสดหรือมีคู่ครองแล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง บรรดาปวงชนผู้ทุกข์ร้อนจึงพากันไปสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้าให้ทรงจัดการกับกิลกาเมช เหล่าเทพจึงมีมติให้จัดการมนุษย์ครึ่งเทพนี้ซะ โดยการให้เทพีอารารูปั้นดินเหนียวเป็นรูปบุรุษผู้หนึ่งและให้นามว่า เอ็นคิดู โดยเทพเจ้าได้นำความป่าเถื่อนของสัตว์ป่า 12 ชนิดใส่ลงไปในตัวของเขา เพื่อให้เขาทรงพลังพอที่จะจัดการกับกิลกาเมชได้


ที่มา: http://www.komkid.com/

เหล่าเทพได้ส่งเอ็นคิดูลงมาอยู่กับบรรดาสัตว์ป่าในป่านอกเมืองอูรุก ซึ่งเอ็นคิดูได้ใช้พลังของตนปกป้องสัตว์เหล่านั้นจากสัตว์นักล่าและนายพราน ซึ่งทำให้นายพรานเหล่านั้นไม่พอใจเป็นอย่างมากและได้วางอุบายโดยพากันไปว่าจ้าง แซมฮัต ยอดหญิงนครโสเภณีประจำเทวาลัยแห่งอูรุกให้ไปล่อลวงเอ็นคิดูออกมาจากป่า เมื่อเอ็นคิดูหลงในบ่วงสวาทของเธอ เธอจึงชักชวนเอ็นคิดูเข้าเมืองและนำเขาไปรู้จักการใช้ชีวิตแบบชาวเมือง

อยู่มาวันหนึ่งเมื่อพวกเขาได้ข่าวว่าราชากิลกาเมชกำลังจะเสด็จไปที่งานแต่งงาน งานหนึ่งเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการนอนกับเจ้าสาวในคืนแรก ซึ่งเมื่อเอ็นคิดูทราบเรื่องก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขารีบตรงดิ่งไปที่งานและเข้าขัดขวางกิลกาเมชไม่ให้กระทำการอันน่าบัดสีนั้นทั้งสองได้ต่อสู้กัน แต่ก็ไม่มีใครสามารถปราบใครได้ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้กิลกาเมชประทับใจเอ็นคิดู และได้ชวนมาเป็นสหายของตน หลังจากนั้นทั้งสองก็กลายเป็นสหายที่สนิทสนมกันมากที่สุด มิตรภาพทำให้กิลกาเมชเปลี่ยนไป กษัตริย์หนุ่มทรงเลิกพฤติกรรมร้ายกาจที่เคยทำจนหมดสิ้นและด้วยคำแนะนำของเอ็นคิดู พระองค์ได้หันมาใส่พระทัยกับการดูแลบ้านเมือง จนนครอูรุกเจริญรุ่งเรืองและประชาชนต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญในคุณงามความดีของราชากิลกาเมช

ทว่าในขณะที่ประชาชนทั่วทั้งนครพากันมีความสุขภายใต้การปกครองของราชาหนุ่ม กิลกาเมชกลับเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตที่สงบสุขนี้ พระองค์ปรารถนาที่จะแสวงหาความตื่นเต้นในชีวิต จึงได้ตรัสชวนเอ็นคิดูเดินทางไปยังป่าซีดาร์แห่งทิศตะวันตกเพื่อเผชิญหน้ากับอสูรฮูวาวา ทั้งสองออกเดินจากนครอูรุกโยปราศจากผู้ติดตามและหลังจากเดินทางเป็นเวลานับเดือนก็มาถึงเขตป่าซีดาร์ยักษ์ของอสูรฮูวาวา หลังจากนั้นพวกเขาก็ช่วยกันโค่นต้นซีดาร์ลงเพื่อท้าทายจอมอสูรให้ปรากฏตัว เมื่อสังหารจอมอสูรลงได้แล้ว กิลกาเมชกับเอ็นคิดูก็ช่วยกันโค่นป่าซีดาร์จนราบเรียบ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ชื่อเสียงของทั้งคู่เลื่องลือระบือไกล จนแม้ทวยเทพบนสรวงสวรรค์ก็ยังรับรู้

ในยามนั้น เทพีอิช ทรงได้ยินเรื่องราวของกิลกาเมช พระนางจึงเสด็จลงมาเพื่อทอดพระเนตรราชาหนุ่มและเมื่อได้เห็นแล้ว องค์เทพีก็บังเกิดความเสน่หาในตัวกิลกาเมช และขอสมรสกับกิลกาเมช ทว่ากิลกาเมชกลับปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ทำให้เทพีทรงโกรธและอับอายที่ถูกปฏิเสธซึ่งหน้า จึงเสด็จไปเข้าเฝ้าเทพอนู พระบิดาของพระนางเพื่อขอให้ลงโทษมนุษย์โอหังผู้นี้ จากนั้นเทพอนูจิงได้ส่งกระทิงสวรรค์ลงมาเพื่อสังหารกิลกาเมชและทำลายนครอูรุก แต่ในไม่ช้ากษัตริย์หนุ่มได้ใช้ดาบแทงเข้าไปจุดอ่อนของกระทิงสวรรค์จึงทำให้ชีพลงในทันที หลังจากนั้นความอหังการ์ของสองสหาย ทำให้เหล่าเทพตัดสินใจให้บทเรียนที่สำคัญแก่กิลกาเมช โดยบันดาลให้เอ็นคิดูล้มป่วยและเสียชีวิตลง

ความตายของสหายทำให้กิลกาเมชเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และยังทรงกลัวว่าตัวเองจะตายเช่นเดียวกับสบหาย จึงได้ตัดสินใจออกเดินทางไปยังต้นน้ำแห่งแม่น้ำทั้งมวลของโลก เพื่อค้นหา อุชนาปิชติม มนุษย์ผู้รอดตายจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลกและได้รับพรจากเทพเจ้าให้เป็นอมตะ


ที่มา: http://www.komkid.com/

ด้วยความมุมานะอดทนทำผ่านอุปสรรคการเดินทางที่แสนยากลำบากไปได้ และ เมื่อไปถึง อุชนาปิชติมบอกกับกิลกาเมชว่า “ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเหล่าเทพเจ้ามีประสงค์ให้ชีวิตมนุษย์เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว”แต่กิลกาเมชก็ยังดึงดันจนอุชนาปิชติมยอมบอกให้กิลกาเมชดำน้ำลงไปต้นมหาสมุทร ณ จุดสิ้นสุดของโลก เพื่อนำเอาต้นไม้แห่งการกลับคืนสู่ความหนุ่มสาวขึ้นมากิลกาเมชทำได้สำเร็จและดีใจมาก เขาตั้งใจจะนำต้นไม้นี้กลับไปทดลองกับคนชราที่เมืองอูรุก ทว่าระหว่างเดินทางกลับ งูตัวหนึ่งได้มาขโมยต้นไม้ต้นนั้นไป ทำให้เหล่างูทั้งหลายสามารถลอกคราบเพื่อกลับคืนสู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาวได้อีกครั้ง

แม้กิลกาเมชจะผิดหวังกับความพยายามที่สุดท้ายก็สูญเปล่าของตน แต่ในที่สุด เขาก็ได้เข้าใจถึงสัจจะธรรมของชีวิตและยอมรับชะตากรรมของชีวิตโดยไม่คิดดิ้นรนเป็นอมตะอีกต่อไป จากนั้นกิลกาเมชก็สั่งให้ขุนนางจารึกเรื่องราวการเดินทางของพระองค์ไว้ที่ฐานของประตูเมืองและกลายเป็นตำนานที่เล่าขานมานานนับพันปี

วรรณกรรมเรื่องนี้มีข้อคิดและสอนให้เราเข้าใจหลายๆอย่างในสัจธรรมของชีวิต เช่น สอนให้รู้จักความอดทดมุมานะ  ความเพียรพยายามที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย เป็นต้น หรือแม้แต่สอนให้รู้จักกับวัฏจักรของชีวิต ซึ่งมีเกิดแล้วก็ต้องมีดับไม่มีสิ่งในจะอยู่ได้ตลอดไปถึงแม้จะมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมเพียงใดก็ตาม


อ้างอิง

มหากาพย์กิลกาเมช. Wikipedia(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/มหากาพย์กิลกาเมช

มหากาพย์กิลกาเมช (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2558, จาก http://www.komkid.com/ตำนาน/มหากาพย์กิลกาเมช/

สัตว์ในเทพนิยายและตำนาน ตอนที่ 237 : มหากาพย์กิลกาแมช : Standard Akkadian version "Tablet I" (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2558, จาก http://writer.dek-d.com/0012/story/viewlongc.php?id=446421&chapter=237


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น