หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

14 ธ.ค. 2558

การดื่มชาและการชงชาของชาวญี่ปุ่น

โดย ชวัลวิทย์ ศิลารักษ์

ในวัฒนธรรมการกินดื่มที่มีมากมายหลากหลายในโลกล้วนถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากความสร้างสรรค์ของมนุษย์จนกลายเป็นสิ่งที่คงอยู่กับชีวิตประจำวันและสืบทอดต่อมา และกลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกถึงรากเหง้าที่มาของชนชาติ หนึ่งในเครื่องดื่มที่นิยมแพร่หลายคนทั่วโลกตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันที่ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัดในทุกวันนี้นั่นก็คือชา กล่าวถึงชาแล้วแน่นอนว่าชาสัญชาติญี่ปุ่นเป็นชาอีกหนึ่งประเภทที่ทุกคนคิดถึงด้วยกลิ่นหอมที่อบอวนและรสชาติที่ละมุนลิ้นทำให้ชาจากญี่ปุ่นเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก ญี่ปุ่นเองยังเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับการดื่มชาและการชงชาที่มีความงดงามและประณีต ทำให้เกิดสุนทรียะทั้งด้านสายตาและรสสัมผัส

การดื่มชาและพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่นนั้นมีความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี โดยมีบันทึกว่าชาได้รับอิทธิพลมาจากจีนและจะมีการนำเข้าสู่ญี่ปุ่นโดยคณะทูตในสมัยนาระ (ราวศตวรรษที่ที่ 8) แต่เริ่มแพร่ในสมัยคามุระและสมัยมุโรมาจิ (ราวศตวรรษที่ 12-15) ซึ่งคาดว่าคณะสงฆ์ในนิกายมหายานได้เริ่มแบบแผนการดื่มชาในวัดเซน  โดยจะดื่มชาไปพร้อมกับการปฏิบัติธรรม จากนั้นจึงแพร่หลายสู่ราชสำนักในหมู่สายนักรบและขุนนางชนชั้นสูงเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน ต่อมา เซน ริกิว ก็ได้แสดงแบบแผนของพิธีชงชาขึ้นมาจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้น  นับตั้งแต่นั้นพิธีชงชาก็กลายเป็นพิธีที่ประณีต งดงาม จนถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่นที่ไม่ว่าชนชาติไดที่พบเห็นก็อยากที่จะรู้จักที่มาและลิ้มลองรสชาติของชาเขียวจากพิธีชงชานี้สักครั้ง


ที่มา : https://www.pinterest.com/

ชาที่นำมาใช้ในพิธีชงชานี้คือชาเขียวที่ปลูกบนเชิงเขา ส่วนที่นำมาชงในพิธีคือส่วนที่อยู่บนสุดของยอดนั่นเอง การเก็บใบชานั้นจะเก็บโดยมือมนุษย์จะได้คุณภาพดีที่สุด และนำมาแปรรูปโดยการที่ทำให้แห้งและบดให้เป็นผงละเอียดเรียกว่า “มัทฉะ” นอกจากผงชาแล้วยังมีอุปกรณ์ที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างนั่นคือ “ถ้วยชา” ซึ่งแต่ละบ้านจะเลือกใช้ถ้วยที่สวยงามวิจิตรมาที่สุด บางถ้วยอาจมีคุณค่าทางใจด้วยคือเป็นมรดกตกทอดประจำตระกูล นอกจากนั้นยังมีกระปุกสำหรับใส่ผงชาเขียว ช้อนตักชาที่ทำมาจากไม้ไผ่ขนาดเล็กที่มีปลายงอเล็กน้อย และไม้ชงชาซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับที่ตีไข่แต่ขนากเล็กกว่าโดยส่วนที่ใช้คนจะนำไม้ไผ่ซี่บาง ๆ มาดัดให้โค้งงอมี 2 แบบคือ 80 ซี่และ 120 ซี่และยังมีหม้อต้มน้ำร้อนกระบวยตักน้ำ และผ้าเช็ดอุปกรณ์เป็นหลัก

พิธีชงชา หรือ “ชาโนยุ” นั้นเป็นธรรมเนียมเคร่งครัด มีพิธีรีตองตั้งแต่การนั่ง การจับเครื่องมือการตักน้ำ ไปจนถึงการดื่มซึ่งขั้นตอนนั้นจะเริ่มจากการเชิญแขกเข้าสู่ห้องชงชา ซึ่งจะจัดแบบเรียบง่ายมีของตกแต่งเช่น แจกันดอกไม้ที่ถูกจัดไว้อย่างสวยงามในสไตล์ญี่ปุ่นหรือภาพห้อยประดับผนัง  พื้นห้องปูด้วยเสื่อทาทามิ ซึ่งจะมีช่องเล็กๆ สำหรับวางเตาและหม้อต้มน้ำร้อนสำหรับชงชา จากนั้นผู้ดำเนินการชงชาจะแต่งกายด้วยชุดกิโมโนอย่างสวยงามจะนั่งลงอย่างสงบ และเริ่มเช็ดถ้วยชาอย่างช้าๆ เสร็จแล้วก็จะเริ่มตักผงชาเขียวใส่ถ้วยตามต้องการตักน้ำร้อนจากหม้อ  ใช้ไม้ชงชาเริ่มคนเบาๆ แล้วคนแรงขึ้นจนเกิดฟอง  เมื่อได้ที่จะยกถ้วยชาขึ้นหมุนประมาณ 3 ครั้ง แล้ววางไว้หน้าผู้ดื่ม ผู้ดื่มจะโค้งเล็กน้อย พร้อมยื่นมือขวาจับถ้วยชาขึ้นวางบนฝ่ามือซ้าย  แล้วหมุนถ้วยตามเข็มนาฬิกา  จากนั้นจึงยกขึ้นดื่มภายในเวลา 3 ครั้ง ให้หมด  ครั้งสุดท้ายให้ดื่มมีเสียงดังๆ เป็นการแสดงถึงมารยาทและความชื่นชอบของรสชาติของชา เมื่อดื่มเสร็จให้หมุนถ้วยชากลับมาอีกครั้งแล้วจึงวางลง
 

ที่มา : https://www.pinterest.com/

การหมุนถ้วยชานั้นเป็นการโชว์ศิลปะความงามของถ้วยชา ในขณะที่ผู้ชงชาจะหมุนถ้วยนั้น ผู้ดื่มชาอาจมีการกลาวชื่นชมความงามของถ้วยชาไปจนถึงบรรยากาศการจัดแต่งห้อง ซึ่งถือเป็นมารยาทในการดื่มชาในพิธีชงชานี้ด้วย  และหากเป็นพิธีตามแบบโบราณที่เคร่งครัดและเป็นทางการทุกท่วงท่าตั้งแต่เริ่มต้นจนจบจะต้องสง่างาม  สงบนิ่ง  เพราะถือว่าเป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิเซน  และขนบธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งของพิธีชงชาคือ  การรับประทานขนมหวานตามฤดูกาล  เช่น  วากาชิ โดยเสิร์ฟมาในจานเล็กและรองด้วยกระดาษพร้อมไม้จิ้มที่เหลามาอย่างสวยงาม โดยเชื่อว่าเมื่อทานขนมหวานเข้าไปแล้วดื่มชาเขียวตามนั้น จะทำให้ได้รสชาติกลมกล่อมเข้ากัน

จะเห็นได้ว่าในพิธีชงชาของชาวญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความสวยงามประณีตและพิถีพิถัน และให้เกียรติซึ่งกันละกันทำให้นึกถึงนิสัยใจคอของชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นคนที่เรียบง่าย ทำอะไรก็นึกถึงผู้อื่นเสมอ ไม่กล้าที่จะทำผิดคำสั่งหรือนอกจากระเบียบปฏิบัติ นึกถึงคนอื่นเสมอ

อ้างอิง

สุนทรียะแห่งการดื่มชาญี่ปุ่น กับพิธีชงชา. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2558, จาก :
https://www.ilovetogo.com/Article/76/255/สุนทรียะแห่งการดื่มชาญี่ปุ่นกับพิธีชงชาญี่ปุ่น

พิธีชงชา..สุนทรียภาพในการลิ้มรส. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 17 กันยายน 2558, จาก : http://www.marumura.com/culture/?id=2780

พิธีชงชาแบบญี่ปุ่นแท้ ๆ เกี่ยวข้องกับวินัยของคนญี่ปุ่นอย่างไร. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 17 กันยายน 2558, จาก :
http://www.jinglebelltour.com/2015/พิธีชงชาแบบญี่ปุ่นแท้/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น