หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

2 ธ.ค. 2558

พระเจ้าอโศกมหาราช

โดย เยาวภา แสงจันทร์

เมื่อกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีปแล้ว  คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ปรีชาสามารถ ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้าย แต่เพราะเหตุใดกษัตริย์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเหี้ยมโหดอย่างพระองค์จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นชาวพุทธตัวอย่างและเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม  

พระเจ้าอโศกมหาราช ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 184 เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร และพระนางสุภัทรา แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฎลีบุตร  เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงมีพระนิสัยที่แข็งกร้าวและโหดร้าย ได้ทรงศึกษาเรียนรู้ศาสตร์ความรู้หลากหลายแขนง มีทักษะทางด้านการใช้ดาบเป็นเลิศเป็นที่ร่ำลือ

ด้วยความปรีชาสามารถของพระองค์จึงทรงได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพในการนำทัพทำสงครามรวมถึงจัดการความวุ่นวายและความไม่สงบภายในแคว้น ทำให้ชื่อเสียงของพระองค์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นำมาซึ่งความริษยาของบรรดาพระเชษฐาต่างมารดา ในขณะเดียวกันเจ้าชายสุสิมะซึ่งเป็นองค์รัชทายาทจึงทรงวางแผนให้พระองค์ถูกเนรเทศออกจากเมือง หลังจากที่พระองค์ถูกเนรเทศออกจากเมืองได้เกิดความวุ่นวายขึ้นที่แคว้นๆ หนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารจึงมีพระบัญชาให้พระเจ้าอโศกไปจัดการความวุ่นวายที่แคว้นนั้น ศึกครั้งนั้นพระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บโดยได้รับการดูแลจากพระนางเทวีที่ทำหน้าที่เป็นนางพยาบาลและได้จัดพิธีอภิเษกสมรสในเวลาต่อมา

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารเสด็จสวรรคต พระเจ้าอโศกได้ทรงยกกองทัพมาทำสงครามชิงบัลลังก์กับพระเชษฐา ทรงสังหารพระเชษฐาและพระญาติวงศ์ไปกว่า 100 พระองค์ หลังจากสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ทรงแผ่พระราชอาณาจักรออกไปกว้างขวางโดยทำพิธีอัศวเมธ เมืองใดไม่ยอมอ่อนน้อมก็ทรงยกทัพไปปราบ ทรงแสดงพระแสนยานุภาพโดยการขยายอาณาเขตตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงไปจนปลายแหลมของอินเดีย ทั้งยังเป็นกษัตริย์ผู้กระหายสงคราม  เป็นจอมทัพที่โหดเหี้ยมและไร้ซึ่งความเมตตา จนได้รับการขนานนามว่า “จัณฑาโศก” ซึ่งแปลว่าพระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม


หลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์ได้ครบ 8 พรรษา ทรงได้กรีฑาทัพไปทำสงครามกับแคว้นกาลิงคะ โดยมีเมืองทันตะปุระเป็นเมืองหลวง (ปัจจุบันอยู่ในรัฐโอลิสา) ในสงครามครานั้นประชาชนชาวกาลิงคะผู้บริสุทธิ์กว่าแสนคนถูกสังหารอย่างโหดร้ายทารุณ แม้นพระองค์จะทรงครองชัยชนะในครานั้น แต่ก็มิได้ทำให้พระองค์ทรงเกษมสำราญทั้งยังเกิดความสะเทือนใจและสลดสังเวชในบาปกรรม

การที่พระองค์ทรงนับถืออาชีวกตามพระราชบิดาและพระราชมารดานั้นไม่อาจทำให้พระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ได้ พระองค์จึงทรงพิจารณาลัทธิและศาสนาต่าง ๆ เพื่อแสวงหาสัจธรรมจนกระทั่งได้พบนิโครธสามเณร หลังจากที่พระนิโครธแสดงธรรมโปรดพระองค์ จึงได้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ

ครั้นพระองค์ทรงศรัทธาพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ยังผลให้พระพุทธศาสนาเปลี่ยนเป็นหนึ่งในศาสนาที่สำคัญของชมพูทวีป โดยทรงบริจาคพระราชทรัพย์สมบัติเพื่อทำนุบำรุงศาสนา เช่น ทรงสร้างพระสถูป 84,000 แห่ง รวมถึงสร้างวัดและมหาวิทยาลัยนาลันทาอันส่งผลให้พุทธศาสนามีความเข้มแข็งเพราะแม้ผู้ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือออกก็สามารถเข้าใจหลักธรรมคำสอนได้ ทรงโปรดให้จัดทำพระไตรปิฎก แจกจ่ายพร้อมทั้งให้มีการจารและสลักเป็นศิลาจารึก ทรงริเริ่มขบวนการธรรมยาตรา เชิญชวนพสกนิกรเข้าอารามฟังธรรมปฏิบัติธรรม ทรงประพาสถวายสักการะปูชนียสถานต่าง ๆ รวมถึงทรงเสด็จเยี่ยมเยือนสมณะพราหมณ์ตามวัด และสนทนาธรรมกับสมณะพราหมณ์

นอกจากนี้ ทรงประกาศมิให้มีการฆ่าสัตว์ โปรดให้มีการสร้างโรงพยาบาลสำหรับคนและสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์แห่งแรกของโลก ทรงสร้างโรงเลี้ยงคนทุพพลภาพ คนชราและเด็กอนาถา  โปรดให้สร้างที่พักสำหรับผู้สัญจร โปรดให้ขุดบ่อน้ำสาธารณะ ทรงปลูกต้นไม้และสมุนไพรให้เป็นทานแก่คนและสัตว์ ทั้งยังทรงสถาปนาสังเวชนียสถาน 4 แห่งให้เป็นที่สักการบูชาของศาสนิกชน



ที่สำคัญคือพระองค์ยังทรงส่งสมณะทูตไปเผยแพร่ศาสนาทำให้พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยแบ่งเป็น 9 สาย และสายที่ 8 มาเผยแพร่ที่ ดินแดนสุวรรณภูมิ มีพระโสณะและพระอุตระเป็นสมณะทูต ทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาสำคัญของโลกและยังกลายเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นประธานในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร นับได้ว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ออกผนวชในขณะครองราชย์ และหันมาใช้หลักพุทธธรรม (ธรรมราชา) ในการปกครองบ้านเมืองโดยทรงยึดเอาความสุขของพสกนิกรเป็นที่ตั้ง ถือว่าเป็นแบบอย่างของนักปกครองที่ดี

เมื่อพระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธและปกครองบ้านเมืองโดยหลักธรรมแล้ว ทำให้ดินแดนชมพูทวีปในยุคนั้นเจริญรุ่งเรืองผาสุก ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “พระเจ้าธรรมาโศกราช” หรือ “ธรรมมาอโศก” แปลว่า “อโศกผู้ทรงธรรม” และเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 313 พระอัฐิของพระองค์ถูกนาไปโปรยที่แม่น้าคง

พระนามของพระองค์ถูกอนุชนเรียกขานด้วยความเคารพเทิดทูนเหนือกว่ากษัตริย์ผู้ทรงครองชัยในสงคราม ทรงได้รับการยกย่องเป็นชาวพุทธตัวอย่าง เป็นอัครศาสนูปถัมภกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่ง ใน 6 อัครมหาบุรุษแห่งประวัติศาสตร์โลก พระองค์ทรงทำให้ประจักษ์แล้วว่าแสนยานุภาพใดๆ เทียบมิได้กับชัยชนะโดยธรรม ด้วยเหตุนี้พระนามของพระองค์จึงยังเป็นที่กล่าวขานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง : 

ทองพริก  วิกิพีเดีย. 2554. พระเจ้าอโศกมหาราช. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2558, จาก : http://chaiwat201149.blogspot.com/2011/02/blog-post_22.html.

วัดเขาไกรลาศ. 2558. พระเจ้าอโศกมหาราช. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2558, จาก : http://www.watkaokrailas.com/index.php?mo=3&art=41906721.

วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. 2555. พระเจ้าอโศกมหาราช. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2558, จาก : http://www.sammajivasil.net/news30.htm

วิภารัตน์  บุญร่วม. 2555. ชาวพุทธตัวอย่าง. (ออนไลน์). ค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2558, จาก : https://palmwiparat.wordpress.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น