หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

21 ธ.ค. 2558

บันทึกลับบันลือโลก แอนน์ แฟร้งค์ (Anne Frank)

โดย ดรุณี มณฑารัตน์

หนึ่งในความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เราคงนึกถึงความโหดร้ายของชาวยิวที่ถูกฆ่าในค่ายกักกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็ถูกฆ่าด้วยการรมควันให้ตาย บ้างก็ถูกยิงเป้า ทุกคนต่างไม่แตกต่างกับสัตว์ที่ถูกฆ่า เช่นเดียวกับชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่งที่ชื่อ แอนน์ แฟร้งค์
 
แอนน์ แฟร้งค์ หรือ อันเน่อ ฟรังค์ (Anne Frank) เธอมีชื่อเต็มว่า อันเน่อลีเซอ ฟรัค (Anneliese Frank) เป็นเด็กหญิงชาวยิว เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี  เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1929 ชีวิตของเธอเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องเพราะสมุดบันทึกบันลือโลกของเธอ แอนน์ได้เขียนบันทึกประจำวันลงในสมุดบันทึกที่เธอได้มันเป็นของขวัญวันเกิด ในอายุที่ 13 ปี เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1942 จากพ่อของเธอ และเธอตั้งชื่อมันว่า “คิตตี้” มันได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเธอนับแต่นั้น


 
ในสมุดบันทึก “คิตตี้” – ขณะที่เธอและครอบครัวหลบซ่อนตัวจากการล่าชาวยิวในที่ซ่อนลับบนห้องใต้หลังคาที่ทำการบริษัทบนถนนปรินเซินครัคต์ (Prinsengracht) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่ถูกเยอรมันเข้าครอบครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เธอได้เขียนบันทึกเรื่องราวความในใจของเธอที่ไม่สามารถบอกใครได้ ให้กับคิตตี้ฟัง ทั้งความฝันเมื่อได้หลุดพ้นออกไปจากห้องที่ซ่อนลับนี้ ที่เธออยากไปโรงเรียน อยากได้เสื้อผ้าสวยๆ และมีความฝันที่อยากจะเป็นนักแสดง อีกทั้งยังเล่าถึงชีวิตภายในที่ซ่อนลับนี้ และความสัมพันธ์กับคนในบ้านไว้อย่างชัดเจน

สมาชิกในที่ซ่อนลับนี้มีทั้งหมด 8 คน มี อ๊อตโต แฟร้งค์ พ่อของเธอ ผู้เป็นบุคคลที่เธอสนิทมากที่สุด อิดิธ แฟร้งค์ ผู้เป็นแม่ของเธอ ซึ่งชอบตำหนิเธออยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เธอไม่ชอบแม่ของตนเองเลย มากอท แฟร้งค์ ผู้เป็นพี่สาว เป็นคนเรียบร้อย เก็บตัว ชอบศึกษาหาความรู้ แตกต่างกับแอนน์ที่เป็นคนช่างพูด กระตือรือร้น และชอบพบปะผู้คน แฮร์มันน์ วานเพล (นายวานดาน) เป็นเพื่อนของพ่อของเธอ ออกุสท์ วานเพล (นางวานดาน) ภรรยาของแฮร์มันน์ แอนน์บันทึกว่า นางวานดาน เป็นคนที่ขี้บ่น ชอบหาเรื่องทะเลาะกับเธออยู่บ่อยๆ แต่ส่วนดีของหล่อน ก็คือการจัดการเรื่องภายในบ้านอย่างดี ปีเตอร์ วานเพล เขาเป็นลูกชายของนายและนางวานดาน เคยเป็นคนรักของแอนน์ สุดท้ายคุณฟริตซ์ เฟ็ฟเฟ่อร์ (อัลเฟร็ด) ทันตแพทย์และเพื่อนของครอบครัว เธอต้องใช้ห้องร่วมกับเขา แอนน์บันทึกว่าเธอดีใจที่มีเพื่อนคุยด้วย แต่ก็ไม่สามารถทนเขาได้และรำคาญที่ต้องรับเขามาอยู่ด้วย เธอยังทะเลาะกับเฟ็ฟ ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าโง่เง่า เธอระบุว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปริมาณอาหารที่ได้รับแบ่งปัน

นอกนั้นยังมีบุคคลที่คอยช่วยเหลือพวกเขาอีก คือ วิคตอร์ คูเล้อร์, โยฮานเนส ไคล์แมน, เมี้ยป กีส์ และเบ็ปโฟสเกยล์ พวกเขาเป็นพนักงานในบริษัท กีส์ สามีของเมี้ยป และโยฮานเนส แฮ็นดริก พ่อของโฟสเกยล์ ที่ให้ความช่วยเหลือ นำข่าวจากนอกบ้านมาแจ้งให้ คอยรายงานสถานการณ์สงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อนับวันการช่วยเหลือก็ยิ่งยากขึ้น แอนน์บันทึกถึงความเสียสละของพวกเขา พยายามทำให้คนในบ้านเกิดความจรรโลงใจ ถึงแม้ว่าหากพวกเขาถูกจับได้ พวกเขาจะต้องโทษถึงประหารฐานให้ที่พักพิงแก่ชาวยิว

เกี่ยวกับชีวิตของชาวยิว – แอนน์บันทึกว่า ชาวยิวได้รับข้อห้ามต่างๆ จากทางการ เช่น การห้ามขึ้นรถรางสาธารณะ ข้ามขับยานพาหนะใดๆ ทั้งสิ้น ห้ามเข้าโรงภาพยนตร์ และห้ามเข้าร้านใดๆ ยกเว้นร้านของชาวยิวเอง อีกทั้งชาวยิวทุกคนต้องปักรูปดาวไว้บนหน้าอกด้านซ้ายของเสื้อ ซึ่งนั้นก็ทำให้เธอและชาวยิวคนอื่นๆต้องเหนื่อยที่ต้องเดินไปทำงานหรือโรงเรียน ทุกๆวันชาวยิวจะถูกหมายเรียกตัวไปค่ายกักกัน


บ้านที่ปรินเซินครัคต์ กรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซ่อนตัวของครอบครัวฟรังค์

วาระสุดท้ายของแอนน์ – เธอได้เขียนบันทึกหน้าสุดท้ายเมื่อวันอังคารที่ 1 สิงหาคม 1944 ก่อนจะถูกจับกุมตัว พร้อมทั้งผู้ให้การช่วยเหลืออีก 2 คน คือ วิคตอร์ คูเล้อร์ และโยฮานเนส ไคล์แมน ส่วนเมี้ยป กีส์ และเบ็ปเล็ดลอดหนีออกไปได้ เมื่อเช้าวันที่ 4 สิงหาคม 1944 นำโดยสิบตำรวจเอกคาร์ล โยเซฟ ซิลเบอร์บราวเออร์แห่งหน่วยราชการลับในชุดเครื่องแบบ พร้อมตำรวจหน่วยสวัสดิกะอีกอย่างน้อย 3 คนสวมชุดพลเรือน อาวุธครบมือ ต่อมาแอนน์และคณะก็ถูกส่งตัวไปค่ายกักกันเอ๊าส์ชวิตส์ แล้วก็ถูกแยกจากกันไปยังค่ายกักกันต่างๆ แอนน์ และมาร์กอทถูกนำไปค่ายแบรกเกิ้น-เบลเซิ่น ซึ่งเป็นค่ายกักกันใกล้เมืองฮันโนเวอร์ ในประเทศเยอรมันนี ในฤดูหนาวปี 1944-1945 เกิดโรคไทฟอยด์ระบายขึ้นในค่าย ทำให้แอนน์เสียชีวิตลงหลังจากมาร์กอทตายได้ไม่กี่วัน เมื่อ 12 เม.ย. 1945 ค่ายนี้ก็ถูกปลดปล่อยโดยกองทัพอังกฤษ

หลังสงคราม –  อ๊อตโต้ แฟร้งค์ บิดาของแอนน์ แฟร้งค์ เป็นผู้หลบซ่อนคนเดียวในจำนวน 8 คนที่รอดชีวิตจากค่ายกักกัน เขาได้กลับมาอยู่อัมเตอร์ดัม 8 ปี ก่อนจะย้ายไปอยู่เมืองบาเซิ่นในสวิตเซอร์แลนด์กับน้องสาว และได้แต่งงานอีกครั้งกับเอลฟรีด มาร์โควิทซ์ กีร์ริงเก้อร์จากเวียนนา หลังจากนั้นก็อุทิศชีวิตให้แก่งานบันทึกของลูกสาวเพื่อนำเสนอสู่คนทั่วโลก

เรื่องราวชีวิตของแอนน์ ทำให้เราได้รู้การใช้ชีวิตในสงครามมันมีแต่ความโหดร้าย แต่ที่โหดร้ายยิ่งกว่าก็คือ การฆ่าและทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะต้องการรักษาเชื้อชาติที่บริสุทธิ์ของกลุ่มตนเอง เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เหตุใดเราถึงต้องฆ่ากัน การหลบซ่อนเพื่อจะมีชีวิตรอด เราหนีวันที่โหดร้าย เพื่อนำไปสู่วันที่ดีกว่าเสมอ หากชีวิตของเราวันนี้ท้อแท้ ขอจงอย่ายอมแพ้ และสิ้นหวัง เหมือนดั่งเช่น แอนน์ แฟร้งค์

 
อ้างอิง

แอนน์ แฟร้งค์.Anne Frank The Diary of a Young Girl (the definitive edition).สังวรณ์ ไกรฤกษ์.แหล่งพิมพ์หนังสือในบริษัท สำนักพิมพ์ผีเสื้อ จำกัด กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผีเสื้อ, 2553.

อันเนอ ฟรังค์. (2558). (วันที่ค้นข้อมูล 1 ตุลาคม 2558 ). จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/อันเนอ ฟรังค์

ค่ายกักกันนาซี.(2558). (วันที่ค้นข้อมูล 1 ตุลาคม 2558 ). จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/ค่ายกักกันนาซี

สงครามโลกครั้งที่สอง.(2558). (วันที่ค้นข้อมูล 1 ตุลาคม 2558 ). จาก: https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามโลกครั้งที่สอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น