หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

22 ก.ย. 2558

โอดะ โนะบุนางะ (Oda Nobunaga)

โดย ณัฐธิดา สุดเสน่ห์

ในช่วงยุคเซ็งโงะกุนั้น ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ในภาวะของการแย่งชิงอำนาจของเหล่าโชกุน  ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยก การเข่นฆ่า และการรบราของบรรดาเหล่าไดเมียวแคว้นต่างๆ อยู่เป็นเวลานาน  แต่แล้วก็ได้เกิด 3 วีรบุรุษผู้กอบกู้และรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ซึ่ง 1ใน 3 ไดเมียวนั้นก็คือ โอดะ โนะบุนางะ (Oda Nobunaga)

โอดะ โนะบุนางะ เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1534 ที่ปราสาทนาโงยะ ซึ่งมีนามเดิมว่า โอดะ คิปโปชิ เป็นบุตรคนที่ 2 ของโอดะ โนะบุฮิเดะ (Oda Nobuhide) เป็นไดเมียวผู้ปกครองแคว้นโอวาริ ในฐานะที่คิปโปชิเป็นบุตรที่เกิดกับภรรยาเอกของโนบุฮิเดะ ทำให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจอันดับหนึ่งของแคว้นโอวาริต่อจากบิดา ดังนั้นโนบุฮิเดะจึงได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาคนสนิทอย่าง ฮิระเตะ มะซะฮิเดะ (Hirate Masahide) เป็นอาจารย์คอยสอนวิชาให้กับคิปโปชิ แต่ว่าคิปโปชินั้นเป็นคนที่มีนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจตนเอง ไม่เคารพประเพณี จนถูกชาวแคว้นขนานนามว่า “ ผู้โง่เขลาแห่งโอวาริ ” เมื่อคิปโปชิอายุ 12 ปีก็ได้ผ่านพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า โอดะ โนะบุนากะ จากนั้นไม่นานก็ได้ไปสู่ขอนางโน ฮิเมะ มาเป็นภรรยา
     
นอกจากนี้โนะบุนางะยังได้มีโอกาสใช้อาวุธใหม่ ซึ่งคือ ปืน ที่ผลิตและนำเข้าจากชาวโปรตุเกสที่เกาะทะเนะงะชิมะ ทางตอนใต้ของคิวชู ต่อมาในปี ค.ศ.1551 โอดะ โนะบุฮิเดะได้เสียชีวิตลง ทำให้โอดะ โนะบุนากะได้เป็นผู้สืบทอดแห่งแคว้นโอวาริ ด้วยความที่อายุยังไม่ครบ 20 ปี เขาจึงต้องการแสดงอำนาจให้เหล่าพี่น้องได้เห็น โดยการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านอำนาจของตน ซึ่งบุคคลที่ต่อต้านอำนาจของโนะบุนางะก็คือ โอดะ โนะบุยูกิ น้องชายของเขานั่นเอง การกระทำของเขาในครั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมาก



อันว่าแคว้นโอวารินั้นเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ทำให้มีกำลังทหารเพียงน้อยนิด จึงมักทำให้ถูกรุกรานจากแคว้นอื่นๆ อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นการรุกรานของไดเมียวแห่งแคว้นมิคาวะ ถึงแคว้นมิคาวะจะมีกำลังทหารที่มากกว่า แต่โนะบุนางะก็สามารถเอาชนะได้ด้วยยุทธศาสตร์ของตน ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ทำให้แคว้นต่างๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแคว้นโอวาริด้วย

ต่อมาโนะบุนางะได้ก่อตั้ง“ กองกำลังอาชิมารุ ”ขึ้น ซึ่งมาจากชาวบ้านธรรมดาที่อยากเป็นทหารและมีจิตใจที่รักบ้านเมืองของตน และเขายังได้ให้การต้อนรับชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างดี สิ่งที่โนะบุนางะสนใจมากที่สุดก็คือ “ ปืนคาบศิลา ” และ “ ศาสนาคริสต์ ” โดยเฉพาะปืน เขาถึงกับยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้กองทัพของตนมีอาวุธปืนใช้กันมากขึ้น และในปี ค.ศ.1544 โนะบุนางะได้ก่อตั้งโรงงานผลิตอาวุธปืนในญี่ปุ่นขึ้น

กองทัพของโนะบุนางะมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเขาจึงสั่งให้ทำตรายางประจำตัวขึ้น มีข้อความว่า “ ปกครองจักรวรรดิติด้วยพละกำลัง ” เมื่อเรื่องแพร่กระจายออกไปทำให้บรรดาเหล่าไดเมียวต่างไม่พอใจและหันมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านโนะบุนางะ แต่ก็พ่ายแพ้ นอกจากนี้ ยังมีคัตรูอีกมากมายที่เป็นปรปักษ์ต่อเขา ซึ่งได้แก่ พระในพระพุทธศาสนา นักพรต และนักรบจำนวนมากที่คอยท้าทายอำนาจเขาอยู่ ด้วยเหตุนี้โนะบุนางะจึงสั่งให้ทำลายวัด รวมถึงผู้คนในบริเวณนั้น และสถานศึกษาอีกมากมาย ด้วยความเหี้ยมโหดนี้ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ถึงกระนั้นโนะบุนางะก็เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  เพราะละเว้นไม่ทำลายเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น



โอดะ โนะบุนางะ สามารถปราบปรามบรรดาเหล่าไดเมียวและเหล่านักพรตทั้งหลายได้ แต่ก็ยังไม่บรรลุจุดมุ่งมายที่สำคัญของตนได้ นั่นคือการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง ดังนั้น โนะบุนางะจึงยังต้องทำสงครามต่อไป ส่วนเรื่องการเสียชีวิตของเขานั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่  เพราะบางแหล่งข้อมูลก็ได้อ้างว่าโนะบุนางะเสียชีวิตเพราะถูกลอบสังหารโดยทหารคนสนิทของตน บางแหล่งก็อ้างว่าโนะบุนางะทำพิธีฮาราคีรีคว้านท้องฆ่าตัวตาย แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เขาก็เป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าโอดะ โนะบุนางะจะรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นไม่สำเร็จตามที่ตนปรารถนาไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่  แต่ญี่ปุ่นก็ได้ถูกรวมเข้าด้วยกันได้สำเร็จในเวลาต่อมา  ดังนั้น ในที่สุดความฝันของเขาก็ได้กลายก็เป็นจริงแล้ว เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง


อ้างอิง  

Nobunaga นักรบผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2558, จาก: https://lonesomebabe.wordpress.com/2009/05/05/nobunaga-นักรบผู้พลิกโฉมประวัต/

ประวัติศาสตร์ ยุคเซ็นโกคุ. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2558, จาก: http://writer.dek-d.com/eagle/writer/viewlongc.php?id=373086&chapter=20

วีระชัย โชคมุกดา. (2556). ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น. กรุงเทพมหานคร: ยิปซี กรุ๊ป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น