หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

24 ก.ย. 2558

วิหารพาร์เธนอน (Parthenon)

โดย วัชรีภรณ์ อภิภัทรกุล

เมื่อพูดถึงประเทศกรีซก็คงต้องนึกถึงวิหารพาร์เธนอน แห่งกรุงเอเธนส์ วิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานบูชาเทพีอาธีนา โดยเมื่อในอดีตได้มีรูปปั้น เทพีอาธีนา ซึ่งเป็นเทพีแห่งสติปัญญาขนาดมหึมาตั้งอยู่ภายในวิหาร แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปได้เกิดความเสียหายผุพังไปตามกาลเวลาประติมากรรมต่างๆ ก็สูญหายไป ทำให้ในปัจจุบันเหลือเพียงแค่วิหารเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมยุคกรีกโบราณที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

วิหารพาร์เธนอนนั้นถูกสร้างขึ้นมาเป็นวิหารประจำกรุงเอเธนส์ ตามตำนานที่มาของชื่อกรุงเอเธนส์ มาจากในสมัยก่อนชาวเมืองไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อเมืองว่าอะไร เทพโพไซดอนจึงได้ใช้ตรีศูลซึ่งเป็นอาวุธประจำกายสร้างม้าขึ้นมา ชาวเมืองต่างเกิดความพึงพอใจอย่างมาก แต่ทันใดนั้นเทพีอาธีนาได้สร้างต้นมะกอกขึ้นมาด้วย ทำให้ชาวเมืองเกิดความพึงพอใจมากกว่า จึงตกลงใช้ชื่อเมืองว่า “เอเธนส์” ตามชื่อของ อาธีนา ทำให้เทพีอาธีนา ซึ่งเป็นเทพีแห่งสติปัญญา ได้กลายเป็นเทพีประจำกรุงเอเธนส์ และได้รับการนับถือมากที่สุด



ชาวเมืองจึงได้สร้างวิหารพาร์เธนอนขึ้นมา ซึ่งเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุดอยู่บนอาโครโพลิส ใจกลางนครเอเธนส์  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานและสักการบูชารูปเคารพของ เทพีอาธีนา คำว่า พาร์เธนอน (Parthenon) จึงน่าจะมาจากประติมากรรมรูปเคารพของเทพีอาเธนา ที่เรียกว่า Athena Parthenos ที่เคยตั้งอยู่ภายใน ซึ่งมีความหมายว่า เทพีผู้บริสุทธิ์

วิหารพาร์เธนอนเริ่มก่อสร้างเรื่มขึ้นเมื่อปี 447 ปีก่อนคริสต์ศักราช ริเริ่มสร้างโดยเพริเคิล (Pericles) ผู้นำกรุงเอเธนส์ในยุคนั้น มี  อิคตินุส (Ictinus) และ คาลลิคราเตส (Callicrates) เป็นสถาปนิก ซึ่งดำเนินการก่อสร้างภายใต้การควบคุมของประติมากรผู้มีชื่อเสียง พิดิอัส (Phidias) สร้างเสร็จในปี 438 ปีก่อนศริสต์ศักราช แต่ยังตกแต่งต่อเนื่องมาอีก 5 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ โดยวัสดุหลักที่ใช้ในการก่อสร้างคือ หินอ่อน ที่นำมาจากเขาเพนเทลิกัส ที่อยู่ห่างจากกรุงเอเธนส์ราว 16 กิโลเมตร



วิหารพาร์เธนอนมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้าง 30.9 เมตร และยาว 69.5 เมตร ด้านกว้างของวิหารนั้นจะประกอบไปด้วยด้วยเสา 8 ต้น ด้านยาวอีก 17 ต้น  เสาภายนอกแต่ละต้นนั้นจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.9 เมตร และมีความสูง 10.4 เมตร ส่วนต้นเสาที่อยู่หัวมุมของวิหารจะมีขนาดใหญ่กว่าเสาต้นอื่นๆเล็กน้อย ตัวเสาตกแต่งแบบเรียบง่ายตามแบบดอริก แต่ให้ความรู้สึกที่มั่นคงแข็งแรง ด้วยความลงตัวของสัดส่วนที่สมดุลและความงามแบบเรียบง่ายตามสไตล์คลาสสิกซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของกรีก นอกจากนั้นวิหารพาร์เธนอนยังมีชื่อเสียงในด้านของประติมากรรมรูปนูนที่ใช้ตกแต่งประดับประดาทั้งบริเวณหน้าจั่วหลังคา และแถบตกแต่งชายคาโดยรอบ น่าเสียดายที่ประติมากรรมได้หักพังและสูญหายไปเกือบทั้งหมด ด้วยความงามที่ลงตัวทำให้วิหารพาร์นอนแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

วิหารพาร์เธนอนยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นมานานนับพันปี บางช่วงเวลาก็ผุพังและได้รับการซ่อมแซมไปตามกาลเวลา บางช่วงก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นศาสนสถานทางศาสนาต่างๆ ตามผู้ที่เข้ามายึดครอง เช่น เคยถูกเปลี่ยนให้เป็นโบถส์คริสเตียนมาก่อน และเปลี่ยนเป็นสุเหร่าในช่วงที่จักรวรรดิออตโตมันเข้ามาครอบครองกรีชในปี ค.ศ. 1456 ในปัจจุบันวิหารพาร์เธนอน รวมทั้งอาคารอื่นๆ บนอาโครโปลิสแห่งนครเอเธนส์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.1987

ถึงแม้ว่าวิหารพาร์เธนอนแห่งนี้จะมีอายุกว่า 2,600 ปีแต่จนถึงปัจจุบันนี้ยังคงความสมบูรณ์แบบงดงามและแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมกรีกโบราณได้เป็นอย่างดีและไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมวิหารโบราณแห่งนี้ถึงได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมโบราณที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


อ้างอิง

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. พาร์เธนอน. สืบค้นเมื่อ 27 กันยายน 2558, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/

supawadee.วิหารพาร์เธนอน PARTHENON. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2558,จาก  : https://iissbelle.wordpress.com/

ณัฐพงษ์ ลาตุ่น.มรดกที่สำคัญของกรีก. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2558,จาก  : https://nuttaponglatun60.wordpress.com/

Anemoneploy2526. เกร็ดเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับกรีก. สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน 2558,จาก  : http://writer.dek-d.com/Anemone2526/story/viewlongc.php?id=248923&chapter=44

23 ก.ย. 2558

อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกา

โดย สุทธาทิพย์ แหวนเครือ

หากพูดถึงผู้นำของประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ประธานาธิบดีลินคอล์น บุคคลผู้ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการจากไปของเขายังสร้างความเสียใจให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมากอีกด้วย

อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา เกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 เมื่อลินคอร์นอายุได้ 8 ขวบ แม่ของเขาได้เสียชีวิตลงและพ่อได้แต่งงานใหม่    ลินคอร์นเป็นเด็กขยัน ชอบอ่านหนังสือ เป็นคนอารมณ์ดีและมีน้ำใจต่อผู้อื่น

เมื่ออายุ 21 ปี เขาได้เริ่มทำงาน จากการเป็นเสมียนในร้านขายของชำ และในช่วงนั้นมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ แต่เขาพลาดโอกาสสมัครเพราะต้องไปเป็นอาสาสมัครกองทหาร จนเมื่ออายุ 25 ปี เขาได้ลงสมัครเลือกตั้งและได้รู้จักกับทนายคนหนึ่ง เป็นผู้แนะนำให้ลินคอล์นไปเรียนด้านกฎหมาย จนเขาสามารถสอบผ่านอาชีพทนายความ หลังจากนั้นก็ได้แต่งงานอย่างเงียบๆ


อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
       
ในปี ค.ศ 1846 ลินคอล์น ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ จากนั้นก็เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 ด้วยความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น ความทะเยอทะยาน รวมไปถึงทัศนคติในการทำงาน และนโนบายการเลิกทาสของลินคอล์น เป็นที่น่าสนใจ ทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากทางเหนือของประเทศ

ปัญหาเรื่อง ทาสผิวดำ นำมาซึ่งความขัดแย้งครั้งใหญ๋ในอเมริกา รัฐทางใต้ไม่พอใจต่อนโยบายเลิกทาส เนื่องจากทาสเป็นแรงงานหลักในพื้นที่เกษตรกรรม จึงประกาศแยกตัวออกมาจัดตั้งเป็น สมาพันธรัฐอเมริกา และมีการปะทะกันรุนแรงระหว่างฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนืออยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 เป็นเวลาต่อเนื่องถึงสี่ปี จนมาสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 เมษายน 1865 โดยกองกำลังฝ่ายใต้ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข นับเป็นสงครามครั้งที่นองเลือดมากที่สุดและสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา

การยุติของสงครามกลางเมืองถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของลินคอร์นในการนำอเมริกาให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้าย ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ การทหาร และศีลธรรมครั้งใหญ่ของประเทศ ลินคอร์นเดินหน้ารวมประเทศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่บางเบา แต่แล้วชาวอเมริกันกับต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งภายหลังสงครามยุติเพียงไม่กี่วัน เมื่อประธานาธิบดีลินคอร์นถูกลอบสังหารในโรงละคร โดยนักแสดงละครคนหนึ่งซึ่งฝักใฝ่ฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1865 เป็นอันปิดฉากชีวิตของวีรบุรุษผู้ปลดปล่อยทาส ในขณะที่ภารกิจรวมประเทศด้วยความประนีประนอมนั้นยังไม่จบสิ้น

การจากไปของลินคอล์น ได้สร้างความเสียใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของเขาถือได้ว่าเป็นการวางรากฐานที่ดีให้แก่สหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ให้ได้ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศของตน ไม่กดขี่ข่มเหงคนที่ด้อยกว่า และให้สิทธิเท่าเทียมกันกับทุกเพศ ทุกวัย และทุกชนชั้น

อ้างอิง

(ม.ป.ป). ผู้ปลดปล่อยทาสของโลก. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2558, จาก http://freedom-thing.blogspot.com/2011/05/blog-post_22.html

(ม.ป.ป). อับราฮัม ลินคอล์น. ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2558, จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-4/abraham_lincoln/index.html

ประวัติบุคคลสำคัญของโลก. (2014). ค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2558, จาก http://personworld.exteen.com/20140927/abraham-lincoln

จุดจบอันน่าสลดของ จูเลียส ซีซาร์

โดย วิยะดา ชัชวาลย์

จูเลียส  ซีซาร์ เกิดวันที่ 13 กรกฎาคม 102 ปีก่อนคริสตศักราช  เป็นมนุษย์คนแรกที่เกิดโดยการผ่าตัดจากหน้าท้อง จูเลียส ซีซาร์ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยคำชักชวนของ ไกอัส มาริอัส ผู้เป็นเขยของตระกูลซีซาร์ มีศักดิ์เป็นลุงของเขา ซีซาร์ไต่เต้าขึ้นมาตามหน้าที่บทบาททางการเมืองเป็นระดับด้วยความสามารถของตนเอง มิใช่การอาศัยใบบุญของลุงขึ้นมาเป็นใหญ่ เพราะเหตุนี้ทำให้เขาเกิดความอดทนและมีความมุ่งมานะเป็นอย่างมาก และเป็นที่มาสำหรับความสำเร็จทัังหมดในชีวิตของเขา

จูเลียส  ซีซาร์ มักจะขันอาสาออกสนามรบได้รับชัยชนะกลับมาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ซีซาร์มีทั้งอำนาจและฐานะที่ร่ำรวยยิ่งขึ้น ประชาชนก็ชื่นชอบและเริ่มศรัทธาในตัวเขา อำนาจของเขาก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว พร้อมทั้งศัตรูก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ครั้งหนึ่ง ซีซาร์ได้ติดตามไปสังหารปอมเปย์ มิตรที่กลายเป็นศัตรูของเขา แต่ก็พบว่าปอมเปย์ได้ถูกสังหารไปก่อนแล้วที่อียิปต์ เมื่อไปถึงและพักอยู่ในอียิปต์ขณะนั้น ซีซาร์ ก็ได้พบกับพระนางคลีโอพัตรา เขาหลงในพระสิริโฉมอันงดงามของพระนาง ทั้งสองได้สานสัมพันธ์รักด้วยกันนานพอจนทำให้เกิดทายาทมีนามว่าซีซาเรียน



ทางด้านสถานการณ์ฝั่งโรมันเริ่มมีความตึงเครียด สภาเริ่มเอือมระอากับพฤติกรรมของซีซาร์ โดยให้เหตุผลว่า เขาใช้เงินสิ้นเปลืองจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบในด้านการสงคราม และเขาก็ถูกโจมตีว่าพาคนไปตายจำนวนมากในสนามรบ และที่สำคัญคือเขามัวแต่หลงใหลกับเสน่ห์ของพระนางคลีโอพัตรา พยายามทำตัวเหนือจารีตดั้งเดิมของชาวโรมัน ที่รับสตรีชาวต่างชาติมาเทิดทูน เป็นการเหยียบหัวชาวโรมัน การกระทำของเขาเช่นนี้ ทำให้สมาชิกสภาได้โอกาสที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของเขาได้อย่างง่ายดาย สภาเริ่มปรึกษากันว่า ซีซาร์คงกำลังวางแผนที่จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ โดยนำเอาทั้งคลีโอพัตรากับซีซาเรียนกลับมา เตรียมประกาศเป็นราชวงศ์ใหม่ของตน การกระทำนี้จะทำให้รัฐสภาไร้ความหมายอีกต่อไป

เรื่องราวได้เกิดขึ้นเมื่อบรรดาสมาชิกสภาซีเนทที่หวั่นเกรงว่าจะถูกซีซาร์ลิดรอนสิทธิและอำนาจนั้น ได้รวบรวมเป็นคณะขึ้นมา มีแกนนำสำคัญคือ ลองจินัส  เทรโบนิอัส  อัลบินัสและบรูตุส บุคคลภายหลังก็คือ ลูกเลี้ยงนอกสมรสระหว่างนางซีพิโอนิสกับจูเลียส ซีซาร์นั่นเอง โดยมีสมาชิกสภาซีเนทเข้าร่วมกับแผนการสังหารปลิดชีพซีซาร์ถึง60 คนด้วยกัน  การประชุมถูกจัดขึ้นที่โรงมหรสพ ปอมเปย์  ซีซาร์ได้เดินทางมาประชุมในตอนเช้าเพียงลำพัง โดยไม่รู้ตัวว่าวาระสุดท้ายแห่งชีวิตกำลังเดินทางมาถึง

แผนกำหนดการไว้ว่า  การสังหารจะเกิดขึ้นทันทีที่ซีซาร์มาถึงสภาซีเนท หลังจากที่ซีซาร์เข้ามาในสถานประชุม ทัลลิอุส ซิมเบอร์ เดินมาหาซีซาร์ทำทีมาคุยกับซีซาร์เรื่องขอให้อภัยโทษน้องชายเขาที่ถูกเนรเทศไปชายแดน  และระหว่างที่ซีซาร์กำลังสนทนากับทัลลิอุส ซิมเบอร์นั้นเอง  วินาทีสังหารก็เริ่มขึ้น คัสกาได้เดินอ้อมมาข้างหลังซีซาร์และกระชากเสื้อคลุมของซีซาร์ออกและเอามีดจ้วงแทงเข้าไปที่หลังเป็นคนแรก เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นสังหาร หลังจากนั้นทุกคนก็เข้ามารุมแทงชายผู้ยิ่งใหญ่แต่ไร้ซึ่งอาวุธป้องกันตัวได้อย่างอำมหิต  ซีซาร์อุตส่าห์พาร่างที่อาบไปด้วยเลือดของเขาไปอยู่ต่อหน้าบรูตุส ยังคงหวังว่าบรูตุสจะจงรักภักดีต่อเขา แต่ก็สิ้นหวัง ก่อนที่ซีซาร์จะล้มลง เขารู้สึกผิดหวังอย่างมาก ไม่เชื่อว่าลูกเลี้ยงของตนจะทรยศผู้เป็นพ่อได้ เขาได้เปล่งวาจาออกมาว่า“แกด้วยหรือ บูรตุส” บรูตุสได้เงื้อมมีดดาบเข้าจ้วงแทงมือที่ซีซาร์ยกขึ้นรับแต่ก็ไม่สำเร็จ มีดได้เสียบทะลุผ่านลำคอ แล้วร่างของ จูเลียส ซีซาร์ ก็ร่วงลงซบที่ฐานรูปปั้นของปอมเปย์นั้นเอง  ซีซาร์ผู้ยิ่งใหญ่ก็สิ้นใจตายโดยมีบาดแผลถูกแทงกว่า 23 แผล



หลังการตายอย่างน่าสลดของจูเลียส ซีซาร์  ได้มีการมอบหมายให้ ปิโซ อดีตพ่อตาของซีซาร์เป็นพยานอาวุโสในการเปิดพินัยกรรม ซึ่งในพินัยกรรมได้ระบุไว้ว่า ซีซาร์ได้มอบบ้านและสวนของเขาทั้งหมดให้เป็นสมบัติแก่ประชาชนชาวโรม นำไปใช้เป็นประโยชน์สาธารณะ ทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แจกจ่ายแก่ประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก อีกส่วนได้มอบให้แก่ทายาทชาวโรมันคนเดียวของเขาคือ ออคตาเวียน ซีซาร์

พิธีปลงศพของจูเลียส ซีซาร์ ถูกจัดขึ้นที่หน้าโรงมหรสพปอมเปย์ สถานที่ซีซาร์ถูกสังหารโหดนั้นเอง ข่าวการเสียชีวิตของจูเลียส ซีซาร์ แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ประชาชนมากมายที่รักใคร่ในซีซาร์ ต่างแห่แหนออกมาร่วมในพิธีด้วยอย่างคับคั่งเป็นหมื่นเป็นแสนคน ต่างก็ร่ำไห้ให้กับการจากไปของจูเลียส ซีซาร์ และยังมีประชาชนอีกไม่น้อยออกมาแสดงความไม่พอใจและต้องการนำตัวฆาตกรมาลงโทษ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีศพ มาร์คัส อันโตนิอัส ทหารคู่ใจของซีซาร์ ก็ได้จัดส่งพระนางคลีโอพัตราและซีซาเรียนเดินทางกลับสู่อียิปต์ จากนั้นอันโตนิอัส เลปิตัสขุนพลผู้ที่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับซีซาร์ และออคตาเวียน บุตรบุญธรรมของซีซาร์ ได้ร่วมมือกันควานหาตัวกลุ่มสังหารทั้งหมด 60คน และช่วยกันกวาดล้างไปได้ทั้งหมด เมื่อสงครามจัดการกบฏจบลง อำนาจก็ตกอยู่ในการควบคุมของ อันโตนิอัส เลปิตัสและออคตาเวียนอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต่อมาก็เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันเองขึ้น โดยผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างถาวรก็คือออคโตเวียนและได้ ขึ้นครองราชย์ในนาม พระจักรพรรดิ ออกุสตุส ซีซาร์ สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรก เมื่ออายุ 36 ปี

ผู้ยิ่งใหญ่ทุกคนย่อมมีศัตรู ในโลกนี้มีคนอีกหลายคนที่ทนเห็นความสำเร็จของผู้อื่นไม่ได้  ทว่าศึกเหนือเสือใต้ที่ว่าร้ายแล้ว ก็คงไม่น่ากลัวกว่าศัตรูที่มาในรูปแบบ “มิตร” จูเลียส ซีซาร์ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่ถูกอิจฉาริษยา เขาเองก็รู้ตัวดี แต่ต้องทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็นเสียบ้าง และความเมตตาที่มีให้ต่อศัตรูนั้นได้กลับกลายมาเป็นอาวุธที่ทำร้ายตนเองในที่สุด

                                 
อ้างอิง

คอสมอส. บันทึกโลกฉบับรวมเล่ม 1-2. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ:ไทยควอลิตี้บุ๊คส์(2006),2556.

มิสแซฟไฟร์. จุดจบรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ “จูเลียส ซีซาร์”. 19 สิงหาคม,2558, จาก ไทยรัฐออนไลน์: http://www.thairath.co.th/content/417260

เอกนารี พรปรีดา. 5 วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ผู้รวมชาติรวมแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ:มายิกสำนักพิมพ์.

Cammy. 2550. เบื้องหลังการรุมสังหาร จูเลียส ซีซาร์. 20 สิงหาคม,2558, จากDek-D.COM-เด็กดีดอทคอม:    http://writer.dek-d.com/cammy/story/viewlongc.php?id=219485&chapter=137

22 ก.ย. 2558

โอดะ โนะบุนางะ (Oda Nobunaga)

โดย ณัฐธิดา สุดเสน่ห์

ในช่วงยุคเซ็งโงะกุนั้น ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ในภาวะของการแย่งชิงอำนาจของเหล่าโชกุน  ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยก การเข่นฆ่า และการรบราของบรรดาเหล่าไดเมียวแคว้นต่างๆ อยู่เป็นเวลานาน  แต่แล้วก็ได้เกิด 3 วีรบุรุษผู้กอบกู้และรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ซึ่ง 1ใน 3 ไดเมียวนั้นก็คือ โอดะ โนะบุนางะ (Oda Nobunaga)

โอดะ โนะบุนางะ เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1534 ที่ปราสาทนาโงยะ ซึ่งมีนามเดิมว่า โอดะ คิปโปชิ เป็นบุตรคนที่ 2 ของโอดะ โนะบุฮิเดะ (Oda Nobuhide) เป็นไดเมียวผู้ปกครองแคว้นโอวาริ ในฐานะที่คิปโปชิเป็นบุตรที่เกิดกับภรรยาเอกของโนบุฮิเดะ ทำให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจอันดับหนึ่งของแคว้นโอวาริต่อจากบิดา ดังนั้นโนบุฮิเดะจึงได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาคนสนิทอย่าง ฮิระเตะ มะซะฮิเดะ (Hirate Masahide) เป็นอาจารย์คอยสอนวิชาให้กับคิปโปชิ แต่ว่าคิปโปชินั้นเป็นคนที่มีนิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจตนเอง ไม่เคารพประเพณี จนถูกชาวแคว้นขนานนามว่า “ ผู้โง่เขลาแห่งโอวาริ ” เมื่อคิปโปชิอายุ 12 ปีก็ได้ผ่านพิธีเง็มปุกุได้รับชื่อว่า โอดะ โนะบุนากะ จากนั้นไม่นานก็ได้ไปสู่ขอนางโน ฮิเมะ มาเป็นภรรยา
     
นอกจากนี้โนะบุนางะยังได้มีโอกาสใช้อาวุธใหม่ ซึ่งคือ ปืน ที่ผลิตและนำเข้าจากชาวโปรตุเกสที่เกาะทะเนะงะชิมะ ทางตอนใต้ของคิวชู ต่อมาในปี ค.ศ.1551 โอดะ โนะบุฮิเดะได้เสียชีวิตลง ทำให้โอดะ โนะบุนากะได้เป็นผู้สืบทอดแห่งแคว้นโอวาริ ด้วยความที่อายุยังไม่ครบ 20 ปี เขาจึงต้องการแสดงอำนาจให้เหล่าพี่น้องได้เห็น โดยการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านอำนาจของตน ซึ่งบุคคลที่ต่อต้านอำนาจของโนะบุนางะก็คือ โอดะ โนะบุยูกิ น้องชายของเขานั่นเอง การกระทำของเขาในครั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมาก



อันว่าแคว้นโอวารินั้นเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ทำให้มีกำลังทหารเพียงน้อยนิด จึงมักทำให้ถูกรุกรานจากแคว้นอื่นๆ อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นการรุกรานของไดเมียวแห่งแคว้นมิคาวะ ถึงแคว้นมิคาวะจะมีกำลังทหารที่มากกว่า แต่โนะบุนางะก็สามารถเอาชนะได้ด้วยยุทธศาสตร์ของตน ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้ทำให้แคว้นต่างๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแคว้นโอวาริด้วย

ต่อมาโนะบุนางะได้ก่อตั้ง“ กองกำลังอาชิมารุ ”ขึ้น ซึ่งมาจากชาวบ้านธรรมดาที่อยากเป็นทหารและมีจิตใจที่รักบ้านเมืองของตน และเขายังได้ให้การต้อนรับชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างดี สิ่งที่โนะบุนางะสนใจมากที่สุดก็คือ “ ปืนคาบศิลา ” และ “ ศาสนาคริสต์ ” โดยเฉพาะปืน เขาถึงกับยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้กองทัพของตนมีอาวุธปืนใช้กันมากขึ้น และในปี ค.ศ.1544 โนะบุนางะได้ก่อตั้งโรงงานผลิตอาวุธปืนในญี่ปุ่นขึ้น

กองทัพของโนะบุนางะมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเขาจึงสั่งให้ทำตรายางประจำตัวขึ้น มีข้อความว่า “ ปกครองจักรวรรดิติด้วยพละกำลัง ” เมื่อเรื่องแพร่กระจายออกไปทำให้บรรดาเหล่าไดเมียวต่างไม่พอใจและหันมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านโนะบุนางะ แต่ก็พ่ายแพ้ นอกจากนี้ ยังมีคัตรูอีกมากมายที่เป็นปรปักษ์ต่อเขา ซึ่งได้แก่ พระในพระพุทธศาสนา นักพรต และนักรบจำนวนมากที่คอยท้าทายอำนาจเขาอยู่ ด้วยเหตุนี้โนะบุนางะจึงสั่งให้ทำลายวัด รวมถึงผู้คนในบริเวณนั้น และสถานศึกษาอีกมากมาย ด้วยความเหี้ยมโหดนี้ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ถึงกระนั้นโนะบุนางะก็เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  เพราะละเว้นไม่ทำลายเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น



โอดะ โนะบุนางะ สามารถปราบปรามบรรดาเหล่าไดเมียวและเหล่านักพรตทั้งหลายได้ แต่ก็ยังไม่บรรลุจุดมุ่งมายที่สำคัญของตนได้ นั่นคือการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแท้จริง ดังนั้น โนะบุนางะจึงยังต้องทำสงครามต่อไป ส่วนเรื่องการเสียชีวิตของเขานั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่  เพราะบางแหล่งข้อมูลก็ได้อ้างว่าโนะบุนางะเสียชีวิตเพราะถูกลอบสังหารโดยทหารคนสนิทของตน บางแหล่งก็อ้างว่าโนะบุนางะทำพิธีฮาราคีรีคว้านท้องฆ่าตัวตาย แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เขาก็เป็นวีรบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าโอดะ โนะบุนางะจะรวบรวมแผ่นดินญี่ปุ่นไม่สำเร็จตามที่ตนปรารถนาไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่  แต่ญี่ปุ่นก็ได้ถูกรวมเข้าด้วยกันได้สำเร็จในเวลาต่อมา  ดังนั้น ในที่สุดความฝันของเขาก็ได้กลายก็เป็นจริงแล้ว เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง


อ้างอิง  

Nobunaga นักรบผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2558, จาก: https://lonesomebabe.wordpress.com/2009/05/05/nobunaga-นักรบผู้พลิกโฉมประวัต/

ประวัติศาสตร์ ยุคเซ็นโกคุ. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2558, จาก: http://writer.dek-d.com/eagle/writer/viewlongc.php?id=373086&chapter=20

วีระชัย โชคมุกดา. (2556). ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น. กรุงเทพมหานคร: ยิปซี กรุ๊ป

ฟาโรห์เนเมอร์ (Namer)

โดย รมย์รวินท์ ดาวงศ์ศรี

หากพูดถึงอียิปต์ สิ่งที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นทะเลทราย สฟริงซ์ พีระมิด และฟาโรห์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการสร้างวัฒนธรรมร่วมกันของคนที่อาศัยในดินแดนอียิปต์โบราณ ผู้ปกครองอียิปต์หรือฟาโรห์นั้นเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวอียิปต์ต้องให้ความเคารพสูงสุด ซึ่งฟาโรห์องค์แรกของอาณาจักรอียิปต์โบราณ คือ ฟาโรห์เนเมอร์  (Namer)

ฟาโรห์เนเมอร์นี้คือกษัตริย์ผู้ครองดินแดนอียิปต์บน เพราะในสมัยก่อนอียิปต์โบราณได้แบ่งแยกออกเป็นสองส่วน คือ อียิปต์บนและอียิปต์ล่าง ทั้งสองดินแดนต่างมีฟาโรห์ปกครองอยู่แล้ว แต่ในสมัยของพระราชาแมงป่อง (Scorpion King) ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ปกครองมาก่อนฟาโรห์เนเมอร์ในดินแดนอียิปต์บนได้มีความปรารถนาจะรวมอียิปต์เข้าด้วยกัน
แต่น่าเสียดายที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน ทำให้ฟาโรห์องค์ต่อมา ซึ่งก็คือฟาโรห์เนเมอร์ ได้สานต่อความประสงค์ โดยในสมัยของพระองค์ได้มีการยกทัพไปยังอียิปต์ล่าง เป็นผลทำให้อาณาจักรอียิปต์ที่เคยแยกเป็นดินแดนบนและล่างรวมป็นหนึ่งเดียวกัน ฟาโรห์เนเมอร์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้รวบรวมอียิปต์เข้าด้วยกันและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรอียิปต์ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเมมฟิส

แต่บางแหล่งข้อมูลกลับกล่าวว่า การรวมอียิปต์เกิดขึ้นในสมัยฟาโรห์เมเนส โดยมีการสถาปนาพระองค์เป็นฟาโรห์องค์แรกของอียิปต์ ซึ่งฟาโรห์เมเนสนี้เป็นผู้ที่ครองราชย์ต่อจากฟาโรห์เนเมอร์ และบางแหล่งก็เห็นว่าฟาโรห์เนเมอร์และฟาโรห์เมเนสคือองค์เดียวกัน เพราะฟาโรห์มีพระนามถึงห้าพระนาม เมเนสจึงอาจเป็นอีกนามหนึ่งของฟาโรห์เนเมอร์



พระราชกรณียกิจที่สำคัญของฟาโรห์เนเมอร์ที่นำไปสู่การสร้างจักรวรรดิที่เข้มแข็งอย่างการรวมอียิปต์ให้เป็นปึกแผ่นนี้ เป็นสิ่งที่ควรแก่การยกย่องและกล่าวถึง แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาหลายพันปี ประกอบกับสมัยโบราณวิทยาการบางอย่างยังไม่ก้าวหน้า ทำให้ประวัติของฟาโรห์เนเมอร์ค่อนข้างคลุมเครือ บ้างก็ว่าพระองค์เป็นนักรบในสมัยพระราชาแมงป่อง บ้างก็ว่าทรงเป็นพระอนุชา พระโอรส หรืออาจเป็นพระชามาดา (ลูกเขย) จากการอภิเษกกับเจ้าหญิงนีทโฮเตปของดินแดนอียิปต์บน เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดถึงฐานันดรของพระองค์ก่อนการขึ้นครองราชย์ จึงรู้เพียงว่าพระองค์เป็นปฐมราชวงศ์ของอียิปต์จากการรวมอียิปต์ทั้งสองฟากฝั่งเข้าด้วยกัน

การรวมอียิปต์ในครั้งนั้นมีหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของฟาโรห์เนเมอร์คือ แผ่นหินของพระเจ้าเนเมอร์ (The Palette of Narmer) ซึ่งเป็นแผ่นหินที่มีความสูงถึง 25 นิ้ว ในแผ่นหินนั้นสลักภาพนูนต่ำ โดยด้านหนึ่งแสดงภาพพระเจ้านาเมอร์สวมมงกุฎฟาโรห์ของอียิปต์บนหรือมงกุฎขาว (white crown) กำลังลงอาญาศัตรู ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของแผ่นหินสลักเป็น 3 แถว มีรูปฟาโรห์สวมมงกุฎของอียิปต์ล่างหรือมงกุฎแดง (red crown)  และแถวต่อมาเป็นภาพสัตว์ประหลาดคอยาวสองตัวเอาคอเกี่ยวกัน นั่นอาจหมายถึงการรวมอียิปต์เข้าด้วยกัน และรูปวัวที่แถวล่างอาจเป็นการเปรียบว่าฟาโรห์เนเมอร์มีพละกำลังเช่นวัว แผ่นหินนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการรวมดินแดนอียิปต์เข้าด้วยกันของฟาโรห์เนเมอร์ นอกจากจะเห็นการรวมอียิปต์แล้วยังแสดงให้เห็นว่าผู้รวมอียิปต์ คือ ฟาโรห์เนเมอร์ เพราะในแผ่นหินมีการสลักชื่อเนเมอร์ไว้ทั้งสองด้าน


การรวมอาณาจักรในสมัยฟาโรห์เนเมอร์ทำให้จักรวรรดิอียิปต์มีความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากขึ้น แม้ในปัจจุบันอียิปต์จะไม่ได้เป็นศูนย์กลางความยิ่งใหญ่เช่นสมัยก่อน แต่ร่องรอยของอารยธรรมนั้นก็ยังคงมีมนต์ขลังให้คนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจเรื่องราวในอดีต และเศษซากแห่งอารยธรรมนั้นก็ได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างคุณค่าให้ดินแดนไอยคุปต์ให้น่าค้นหาในตัวของมันเอง


อ้างอิง

Narmer Palette จานสีของนาร์เมอร์และวัตถุประสงค์การใช้งาน .[ออนไลน์].ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558, จาก : http://www.oknation.net/blog/iyakoop/2013/09/29/entry-1

ประวัติศาสตร์อียิปต์. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558, จาก : http://www.2by4travel.com/home/Data-travel/egypt/prawatisastr-xiyipt

ฟาโรห์นาเมอร์. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 29 สิงหาคม 2558, จาก : http://zensuz.exteen.com/20090617/entry

อียิปต์โบราณ1. [ออนไลน์]. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2558, จาก : http://writer.dek-d.com/queenmeritaten/story/viewlongc.php?id=587422&chapter=2