หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

6 เม.ย. 2558

จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)

โดย ศุภกิตติ์ นามอาษา

ในอดีตเมื่อปี ค.ศ1453 ชาติต่างๆในยุโรปต่างตกตะลึงและตกอยู่ในความหวาดกลัวของภัยคุกคาม  รอบใหม่จากเอเชีย นั้นก็คือการเสียคอนสแตนติโนเปิลและการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก ที่ยืนหยัดอยู่คู่ยุโรปมานานกว่า 1000 ปีให้กับจักรวรรดิออตโตมันของมุสลิม ที่ต้องการรุนรานยุโรปและทำสงครามศาสนากับอาณาจักรคริสต์เตียนอีกครั้ง เพื่อเป็นการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมัน

อดีตของจักรวรรดิออตโตมันนั้นเป็นเพียงแค่ชนเร่ร่อนจากเอเชียกลางที่เรียกว่าเซจุลเติร์ก ได้อพยพหนีการรุนรานของพวกมองโกล เข้าไปยังอนาโตเลียหรือบริเวณประเทศตรุกีในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณอนาโตเลียนั้นเป็นของจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่กำลังอ่อนแอลงเนื่องจากปัญหาภายใน ทำให้พวกเซจุลเติร์กสามารถเข้ามายึดครองเมืองต่างๆได้โดยง่าย หลังจากยึดเมืองได้แล้วพวกเซจุลเติร์กได้สถาปนาอาณาจักรของตนขึ้นมา บริเวนตะวันออกของอนาโตเลียโดยมีชื่อว่า อาณาจักรออตโตมัน โดยตั้งตามพระนามของสุลต่านออสมัน (Osman) ผู้สถาปนาอาณาจักรและราชวงค์ ออสมานลียะห์ (Osmâniyye (دَوْلَتِ عَلِيّهٔ)


สุลต่านเมห์เม็ตที่ 2 เคลื่อนทัพไปยังคอนสแตนติโนเปิล พร้อมมหาปืนใหญ่ 

นับตั้งแต่การสถาปนาอาณาจักรออตโตมันเป็นต้นมา สุลต่านทุกพระองค์ต่างทำศึกกับอาณาจักรไบแซนไทน์เรื่อยมา จนสามารถพิชิตดินแดนฝั่งตะวันออกของจักรวรรดิไบแซนไทน์ได้เกือบทั้งหมด สาเหตุที่อาณาจักรออตโตมันต้องการพิชิตจักรวรรดิไบแซนไทน์ให้ได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการขยายดินแดน แต่ต้องการพิชิตคอนสแตนติโนเปิล ที่เป็นมหานครอันเก่าแก่ของโลกยุคโบราณและเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนาที่เก่าแก่ยิ่งกว่ากรุงโรมในอิตาลี เพราะคริสต์ศาสนาได้ถูกประกาศให้เป็นศาสนาที่ชอบธรรมของโรมัน ณ ที่แห่งนี้ ดังนั้นการพิชิตคอนสแตนติโนเปิลจึงเป็นเจตนารมณ์สูงสุดของประชาชนชาวอิสลามทั้งปวงมา ตั้งแต่ยุคของนบีมูฮัมหมัดเป็นต้นมา และเพื่อแสดงถึงการเป็น “มหาอำนาจแห่งศรัทธา”ที่ศาสนาอิสลามสามารถพิชิตมหานครที่สำคัญของคริสต์ศาสนาลงได้

ในยุดรัชสมัยของสุลต่านมูรัดที่ 1(Murad I) ได้กรีฑาทัพข้ามทะเลดำ ไปขึ้นฝั่งยุโรปในปี ค.ศ. 1365 ซึ่งนับเป็นการรุกรานแผ่นดินยุโรปตะวันออกเป็นครั้งแรกในรอบ 600 ปี นับตั้งแต่การรุกรานของพวกอาหรับเมื่อปี ค.ศ. 717-718 เลยที่เดียว สุลต่านมูรัดไม่ได้ยกทัพไปตีคอนสแตนติโนเปิลโดยตรง เพราะคอนสแตนติโนเปิลได้รับการปกป้องจากวิทยาการสมัยโบราณคือ กำแพงธีโอโดเซียสที่ได้สร้างในสมัยองค์จักรพรรดิ์ธีโอโดเซียสที่ 2 (Theodosius II) แห่งจักรวรรดิโรมมัน ตะวันออกเป็นกำแพงแบบสามชั้นที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องพระนครจากการถูกรุกราน กำแพงธีโอโดเซียสได้ป้องกันและรับศึกจากศัตรูมายาวนานกว่า 1000 ปี ทำให้คอนสแตนติโนเปิลยากที่จะถูกตีแตกได้ สุลต่านมูรัดได้วางแผนโดยการกลืนกินดินแดนในคาบสมุทรบอลข่านทั้งหมด(บริเวณประเทศบัลแกลเรียในปัจจุบัน) เพื่อปิดล้อมคอนสแตนติโนเปิลให้อยู่กลางวงล้อมของอาณาจักรออตโตมัน ก่อนที่จะพิชิตให้สิ้นซากในภายหลังและยังใช้ดินแดนในบอลข่านเป็นฐานอำนาจในการยึดครองดินแดนในยุโรปทั้งหมดในภายหลังได้อีกด้วย

ผลของการรุกรานของสุลต่านมูรัดนั้นได้สร้างความความหวาดกลัวไปทั่วทั้งยุโรป ถึงแม้ดินแดนยุโรปตะวันออกจะเป็นดินแดนของชาวคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ก็ตาม แต่การรุกรานของพวกมุสลิมย่อมทำให้บรรดาชาติยุโรปคาทอลิกไม่อาจอยู่เฉยได้ ทำให้ประเทศต่างๆในยุโรปโดยมี จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฝรั่งเศส ฮังการี เวนิส เจนัว ฯลฯ จึงได้รวบรวมกองทัพเพื่อทำสงครามครูเสดครั้งใหม่อีกครั้งเพื่อขับไล่พวกมุสลิมให้ออกจากแผ่นดินยุโรป จนกลายมาเป็นสงครามครูเสดที่นิโคโปลิส(The Battle of Nicoplis) ในปี ค.ศ.1396 ซึ่งผลปรากฎว่ากองทัพครูเสดของชาติคาทอลิกต้องพ่ายแพ้ให้กับกองทัพออตโตมัน ภายใต้การนำทัพของสุลต่านไบยาซิด(Bayazid I) อย่างราบคาบซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป และความพ่ายแพ้ที่นิโคโปลิสยังเป็นการประกาศศักดาความแข็งแกร่งและความน่าสะพรึงกลัวของมุสลิมที่หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากการรุกรานยุโรปของเหล่าสุลต่านของอาณาจักรออตโตมันก็ยังไม่อาจที่จะพิชิตคอนสแตนติโนเปิลลงได้ เพราะความแข็งแกร่งของกำแพงธีโอโดเซียส ทำให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ยังคงเหลือรอดอยู่ได้ถึงแม้จะเหลือดินแดนบริเวณประเทศกรีซนิดหน่อยและดินแดนบริเวณเมืองคอนสแตนติโนเปิลเท่านั้น ซึ่งทำได้เพียงรอวันล่มสลายลงและ เหล่าสุลต่านของออตโตมันก็เห็นคอนสแตนติโนเปิลเป็นเพียง “เศษเนื้อ” ที่รอคอยวันล่มสลายเท่านั้นจึงไม่ได้รีบร้อนโจมตีคอนสแตนติโนเปิลแต่อย่างใด จนมาถึงรัชสมัยของเมห์เม็ตที่ 2 (Mehmet II) กลับมีควาต้องการพิชิตนครอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ให้ได้ เพราะสำหรับนักรบหนุ่มที่ได้เติบโตมากับความยิ่งใหญ่ของ “อิสคานดาร์ข่าน”หรือ “อเล็กซานเดอร์มหาราช” และวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของ “จูเลียส ซีซาร์” ทำให้การพิชิตคอนสแตนติโนเปิลลงได้จะทำให้พระองค์ทรงประกาศว่าตนเป็น “อัลไคซาร์”(Al Qaisar) หรือ  ซีซาร์ผู้ยิ่งใหญ่คนใหม่ของโลกตะวันตกและกลายเป็นผู้พิชิตโลกคริสต์เตียนอีกด้วย

วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1453 สุลต่านเมห์เมห์ที่2 ได้เปิดฉากโจมตีคอนสแตนติโนเปิลโดยเข้าปิดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อที่จะพิชิตคอนสแตนติโนเปิลให้ได้โดยเร็ว ภายหลังจากที่ปิดล้อมได้ 50 วัน กองทหารออตโตมันก็สามารถทลายกำแพงธีโอโดเซียสอันยิ่งใหญ่ลงได้สำเร็จ เพราะวิทยาการปืนใหญ่ซึ่งเป็นวิทยาการใหม่ที่ได้ถูกคิดค้นขึ้น ทำให้คอนสแตนติโนเปิลไม่อาจต้านทานได้จึงถูกออตโตมันเข้ายึดครองได้สำเร็จ เป็นการปิดฉากประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิโรมันตะวันออกที่ยิ่งใหญ่มากว่า 1000 ปี ลงในที่สุด


การโจมตีกำแพงคอนสแตนติโนเปิลของกองทัพออตโตมัน 

หลังจากการพิชิตคอนสแตนติโนเปิลลงแล้ว สุลต่านเมห์เม็ตที่2 ได้สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นมหาสุลต่านแห่งคอนสแตนติโนเปิล และพระองค์ได้รับการขนานนามจากเหล่านักรบและชาวมุสลิมทั้งปวงว่า “ฟาติเมห์เม็ต” ซึ่งแปลว่า “เมห์เม็ตผู้พิชิต” ทรงได้ย้ายเมืองหลวงจากเอดิร์เน(Edrine) มายังคอนสแตนติโนเปิลและได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เมืองอิสลามบูล (Islambul) และทรงทำการสถาปนาจักรวรรดิแห่งชนชาวอิสลามทั้งปวง โดยทรงได้เปลี่ยนสถานะจาก “อาณาจักรออตโตมัน” ไปเป็น “จักรวรรดิออตโตมัน” เป็นจุดเริ่มต้นยุดสมัยแห่งความรุ่งเรืองของราชวงค์อุษมานิยะห์แห่งอนาโตเลีย

การล่มสลายของคอนสแตนติโนเปิลและราชวงค์ไบแซนไทน์ ได้สร้างความตกตะลึงและความหวาดกลัวไปทั่วทั้งยุโรปอีกครั้ง เพราะการสูญเสียในครั้งนี้นับว่าเป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่าการเสียเยรูซาเล็มให้มุสลิมเมื่อ 200 ปีก่อนมากนัก ถึงแม้จักรวรรดิโรมันตะวันออกจะล่มสลายไปแต่ศิลปะ-วิทยาการและภูมิปัญญาของกรีก-โรมันยังคงอยู่ เพราะบรรดาปราชญ์ชาวกรีกได้อพยพพร้อมกับตำราและคลังปัญญา โบราณจากคอนสแตนติโนเปิลจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนอิตาลี ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิบานของภูมิปัญญาของชาวกรีก-โรมัน ซึ่งสร้างสรรค์ศิลปะให้กลับมางดงามได้ดั่งในสมัยกรีก-โรมันโบราณอีกครั้ง และทำให้เกิดแนวคิดและภูมิปัญญาใหม่ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเริ่มต้นของยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่จะส่งผลต่อยุโรปในเวลานั้น และทั่วโลกในเวลาต่อมา ซึ่งก็คือ “ยุคเรเนสซองส์”    

อ้างอิง:

การล่มสลายของจักรวรรดิไบเซนไทน์ และการขึ้นมาเรืองอำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558,จาก: http://history-on-timeline.blogspot.com/2013/12/blog-post_30.html

ประวัติศาสตร์ประเทศตุรกี.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558,จาก: http://www.oceansmile.com/Turkey/TurkeyHistory.shtml

จุดเริ่มต้นการรุกรานยุโรปของจักรวรรดิออตโตมัน.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558,จาก: https://www.facebook.com/9gagHistory/posts/792182024180609

ลำดับเหตุการณ์ของจักรวรรดิออตโตมานในบอลข่าน.(ออนไลน์).สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558,จาก: http://www.newmuslimthailand.com/main/thirdpage.php?style=preview&spv=50&tpv=1659




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น