หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

18 ธ.ค. 2557

ปิเย (Piye) ฟาโรห์ผิวสี

โดย ภาคภูมิ จิตต์บุญธรรม

เมื่อ 747 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรอียิปต์ที่เคยรุ่งโรจน์กำลังอยู่ในช่วงระส่ำระสายเพราะขุนศึกต่างแย่งชิงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ อาณาจักรถูกแบ่งออกเป็นรัฐน้อยใหญ่ กษัตริย์ชาวนูเบียพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ปิเย (Piye) เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ตัดสินพระทัยทำสงครามกับชาวอียิปต์ เพื่อเข้าปกครองอียิป์โดยราชวงศ์ชาวนูเบียของพระองค์เอง


เมื่อกล่าวถึงอารยธรรมอียิปต์ หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าอารยธรรมแห่งนี้เคยปกครองโดยมีฟาโรห์เป็นชาวแอฟริกันผิวสีพระนามว่า “ปิเย” ผู้ทรงปกครองทั้งอียิปต์ตอนบนและตอนล่างเรื่อยไปตามกระแสของแม่น้ำไนล์รวมถึงยังทรงปกครองอาณาจักรนูเบียหรือดินแดนประเทศซูดานในปัจจุบัน

ปิเยทรงเป็นพระโอรสของกษัตริย์ชาวนูเบียพระนามว่า คาชทา เขาปกครองอียิปต์ในช่วงที่อาณาจักรกำลังตกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม อียิปต์ถูกแบ่งออกเป็นแคว้นน้อยใหญ่มากมาย จนกระทั่งเมื่อ 728 ปีก่อนคริสตกาล เทฟนัคห์เต ขุนศึกผู้ปกครองเมืองซาอิสและบริเวณโดยรอบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ได้แผ่ขยายอาณาเขตลงมายังตอนใต้และได้เคลื่อนทัพลงมาจนถึงเมือง เฮราคลีโอโพลิส จนเป็นเหตุทำให้ ปิเยทรงตัดสินพระทัยทำศึกกับเทฟนัคห์เต



เมื่อเทฟนัคห์เตเริ่มแผ่ขยายอาณาเขตลงใต้  ปิเยจึงทรงเริ่มเคลื่อนทัพขึ้นเหนือเพื่อปราบกองทัพจากแคว้นน้อยใหญ่ของชาวอียิปต์ กองทัพชาวนูเบียเปิดฉากการสู้รบครั้งแรกทางเรือจนทำให้กองทัพของชาวอียิปต์ต้องยอมรับความปราชัย  กองทัพชาวอิยิปต์โดยการยาตราทัพของเทฟนัคห์เตได้เข้าจู่โจมกองทัพของ เพฟต์จาอูอาวีบาสต์ ผู้นำของนคร เน็น เนซุท หรือ เฮราคลีโอโพลิส ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้จงรักพักดีต่อปิเย แต่ความกดดันในเมืองเน็นเนซุทได้บรรเทาลงเนื่องจากปิเยได้ทำลายเมืองเฮร์โมโพลิสซึ่งปกครองโดยนิมลอท อดีตพันธมิตรผู้ทรยศต่อปิเย และสามารถสังหารนิมลอทได้สำเร็จ การทำลายเมืองครั้งนี้ใช้หอคอยที่ทำจากไม้เข้าประชิดเมือง ใช้เวลาทั้งสิ้นกว่าห้าเดือนจึงจะทำลายเมืองได้หมดสิ้น

จากการทำศึกระหว่างกองทัพนูเบียและชาวอียิปต์ที่กินเวลานานนับปี ปิเยทรงเอาชนะศึกที่เมืองเฮราคลีโอโพลิส และสามารถยึดครองเมืองเฮร์โมโพลิสและเมมฟิส ผู้นำกองทัพของชาวอียิปต์ต่างยอมศิโรราบต่อกษัตริย์ปิเยแห่งนูเบีย พระองค์ทรงเคลื่อนทัพขึ้นมาตามแม่น้ำไนล์ และขึ้นฝั่งที่เมืองทีบส์ ราชธานีในสมัยนั้น และทรงโอบล้อมกองกำลังของเทฟนัคห์เต พร้อมทั้งสังหารหนึ่งในโอรสของกษัตริย์อียิปต์ด้วย ทำให้เทฟนัคห์เตต้องยอมแพ้ในที่สุด

การยอมแพ้ครั้งนี้เทฟนัคห์เตวิงวอนขอชีวิตจากปิเยเพื่อแลกกับอัญมณีน้ำงามและม้าฝีเท้าดีที่สุดในครอบครองของตน หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ปิเยมิได้ทรงต้องการบัลลังก์ในอาณาจักรอียิปต์แต่อย่างใด หากแต่พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้ทหารขนทรัพย์สมบัติที่ได้จากสงครามล่องลงใต้กลับสู่นูเบีย และไม่หวนกลับมาอีกเลย แต่อิทธิพลการปกครองอาณาจักรอียิปต์ยังคงอยู่ในการปกครองของราชวงศ์กษัตริย์นูเบียโดยมี ชาบาคา ผู้เป็นอนุชาของ ปิเย เป็นผู้สร้างราชวงศ์ที่ยี่สิบห้าให้แข็งแกร่ง โดยรับเอาพระนามของพระเชษฐาคือ ฟาโรห์ปิเยที่สอง

หลังจากได้รับชัยชนะในครั้งนั้น ปิเยทรงสร้างหลักศิลาเพื่อบันทึกเรื่องราวแห่งชัยชนะนี้ไว้ที่นครนาปาทา เมืองหลวงแห่งนูเบีย และยังมีรูปสลักของพระองค์ที่วิหารแห่งเทพอามุน ที่เมืองทีบส์  ซึ่งหลักศิลานี้ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1862 พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อ 716 ปีก่อนคริสตกาล หลังทรงครองราชย์มานาน 35 ปี พระศพถูกฝังในปิรามิดแบบอียิปต์พร้อมม้าจำนวนสี่ตัวที่พระองค์โปรด ที่ เอล เคอร์รู


ปิรามิดที่ฝังพระศพของกษัตริย์ปิเย

ปิเยทรงเป็นฟาโรห์ที่เรียกขานกันว่าฟาโรห์ดำ (ผิวสี) พระองค์แรก ซึ่งหมายรวมถึงกษัตริย์นูเบียที่ปกครองอียิปต์ทั้งหมดถึงค่อนศตวรรษ ในฐานะราชวงศ์ที่ยี่สิบห้าของอียิปต์ จากจารึกที่สลักบนแผ่นหินทั้งโดยชาวนูเบียและอริราชศัตรู ทำให้เราสามารถศึกษาประวัติศาสตร์ของราชวงศ์กษัตริย์ชาวนูเบียทั้งหกพระองค์ได้ และ ปิเย คือหนึ่งในฟาโรห์ดำผู้ที่สามารถรวบรวมแผ่นดินอียิปต์ที่กระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกันอีกครั้ง และสร้างอนุสรณ์สถานที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นมรดกให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาอีกด้วย


ประติมากรรมกษัตริย์อียิปต์ราชวงศ์ที่ 25

อ้างอิง

โรเบิร์ต เดรเพอร์, กาฬาฟาโรห์, National Geographic ฉบับภาษาไทย. 2551, ฉบับที่ 81. [เม.ย. 2551] : เลขที่หน้าอ้างอิง 78-79.

Jimmy Dunn. Piye and the 25th Dynasty [Online] Available from: http://www.touregypt.net/featurestories/piye.htm [Accessed 5th August 2014]

Anneke Bart. Piye [Online] Available from: http://euler.slu.edu/~bart/egyptianhtml/kings%20and%20Queens/Piye.html [Accessed 5th August 2014]

Ancient Nubia [Online] Available from: http://www.britannica.com/EBchecked/topic/571417/Sudan/24305/The-kingdom-of-Kush [Accessed 5th August 2014]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น