หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

6 มี.ค. 2557

มงแต็สกีเยอ (Montesquieu)

โดย ณัฐรณ ชาวบ้านตาด

หากจะกล่าวถึงอำนาจสูงสุดซึ่งเป็นหลักสากลที่ใช้ในการปกครองรัฐอำนาจนั้นคือ   อำนาจอธิปไตย อันหมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ โดยอำนาจอธิปไตยนั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละระบอบการปกครอง โดยหลักสากล รัฐจะมีองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยอยู่ 3 องค์กร ได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และ  อำนาจตุลาการ ทั้งนี้ อำนาจอธิปไตยนี้ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของความเป็นรัฐ และผู้ซึ่งให้กำเนิดแนวคิดนี้ก็คือ มงแต็สกีเยอ

มงแต็สกีเยอ (Montesquieu) เป็นนักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส  ให้กำเนิดแนวคิดนี้โดยการแบ่งแยกอำนาจปกครองสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ฝ่าย โดยพิจารณาในแง่ขององค์กรผู้ใช้อำนาจออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ตามแนวคิดของอริสโตเติล (Aristotle) โดยมีพื้นฐานหรือมีเป้าประสงค์ประการสำคัญแหล่งหลักการคือเพื่อให้อำนาจแต่ละฝ่ายเกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกันทั้งสามฝ่าย และเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปลอดจากการใช้อำนาจโดยมิชอบขององค์กรภาครัฐที่ใช้อำนาจหนึ่งอำนาจใดที่อาจละเมิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เหตุผลที่มงแต็สกีเยอเสนอแนวคิดให้แบ่งแยกอำนาจการปกครองสูงสุดนี้เนื่องจากเขาเห็นว่า หากอำนาจนิติบัญญัติใช้อำนาจในการตรากฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม อำนาจบริหารใช้อำนาจในการควบคุมให้ประชาชนกระทำตามความต้องการของฝ่ายบริหารโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชน   และอำนาจตุลาการใช้อำนาจในการตัดสินคดีโดยไม่มีความเป็นธรรม  อาจส่งผลให้ชีวิตและเสรีภาพของผู้ใต้การปกครองเดือดร้อน เพราะถูกบังคับควบคุมโดยกฎหมายที่ลำเอียง และ ไม่เป็นธรรม อันมาจากอำนาจจากผูปกครอง จึงจำเป็นต้องแยกอำนาจแต่ละด้านออกจากกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นฐานแนวคิดของมงแต็สกีเยอที่ว่า การแบ่งแยกอำนาจการปกครองไม่ใช่วิธีเดียวในการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งยากที่จะจัดการกับปัญหาการทุจริตจากการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส  ทำให้ฝ่ายประชาชนต่างหากคือผู้ที่จะควบคุมได้อย่างเกิดประสิทธิผลมากที่สุด การแบ่งแยกอำนาจการปกครองในมุมมองสมัยใหม่ จึงเป็นหลักการที่ถูกกล่าวถึงควบคู่ไปกับบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจโดยองค์กรผู้ใช้อำนาจของประชาชน

จากแนวคิดการเมืองแบบเสรีนิยมของมองเตสกิเออร์ได้มีอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในโลกตะวันตกซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น  การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษ (ค.ศ. 1688) จนทำให้กษัตริย์ ของอังกฤษยอมรับอำนาจของประชาชน  การปฏิวัติในอเมริกา (ค.ศ. 1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789)            

จะเห็นได้ว่า นักปรัชญาการเมืองในสมัยปัจุบันนั้น นิยมที่จะนำเเนวคิดของมงแต็สกีเยอออกมาใช้ในการแจกแจง อำนาจอธิปไตย โดยกำหนดให้องค์กรผู้ใช้อำนาจบริหารหรือฝ่ายปกครองไปกำหนดรายละเอียด ด้วยการออกกฎ ข้อบังคับ ประกาศ อันเป็นกฎหมายลำดับรอง (subordinate Legislation) ให้เป็นไปอย่างสอดคล้องสัมพันธ์กับกฎหมายหลัก ในอันที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องใด ๆ ในสังคม


อ้างอิง  

exteen.com. 2557. อำนาจอธิปไตย โดยมองเตสกิเออร์(ออนไลน์).สืบค้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 จาก http://thealphaniz.exteen.com/

วิกิพีเดีย. 2557. อำนาจอธิปไตย (ออนไลน์). สืบค้นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/อำนาจอธิปไตย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น