หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

22 ก.พ. 2557

ศิลปะแบบดาด้า (Dada)

โดย มุกมณี  มุตต๊ะ

หากกล่าวถึงศิลปะที่เหมาะกับผู้ที่ชอบอะไรแปลกๆ สะท้อนความคิดในด้านใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนความเลวร้ายในสังคม แต่ในบางมุมมองก็อาจทำให้เรายอมรับในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น เพราะในบางครั้งโลกแห่งความเป็นจริงก็หาได้สวยงามเหมือนโลกแห่งเทพนิยายหรือโลกแห่งศิลปะทั่วๆไปศิลปะแห่งความแปลกประหลาด ความแดกดัน ประชดประชันสังคมคือ ศิลปะแบบดาด้า(dada) ศิลปะแบบดาด้าเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1912 ซึ่งมีการก่อตั้งขึ้นอย่างเต็มรูปแบบที่เมืองชูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1916 แล้วแพร่ไปยังนิวยอร์ค บาร์เซโลน่า เบอร์ลิน โคโลจน์และปารีส

แนวความคิดของศิลปินกลุ่มดาด้า ได้รับอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกดาด้ามีความคิดว่า มนุษย์มีเหตุผลและข้ออ้างมากมายในการกระทำ จนถึงขั้นใช้ความมีเหตุผลในการฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ศิลปินกลุ่มดาด้า มักจะมีความคิดที่แปลกๆ นั้นคือ การทำทุกอย่าแบบไร้เหตุผลเป็นการตอบโต้ และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาต่อต้านความมีเหตุผลบนโลก โดยการสร้างงานศิลปะแนวใหม่ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับศิลปะแบบเก่า ศิลปะแนวนี้คือการแสดงความเยาะเย้ย ถากถาง บางที่อาจดูเป็นศิลปะที่สกปรก ประหลาด ไร้ซึ่งเหตุผล แต่แฝงไปด้วยความขี้เล่น


Marcel Duchamp : L.H.O.O.Q. C. 1913 
Marcel Duchamp(Photography)

จากแนวความคิดที่กล่าวมาของกลุ่มศิลปะ ดาด้านั้น ภาพที่แสดงความคิดของกลุ่ม ดาด้านี้อย่างเห็นได้ชัดก็คือภาพ L.H.O.O.Q. (Mona Lisa with Mustache and Beard) ภาพนี้นั่นเอง ภาพ L.H.O.O.Q. นี้แสดงให้เห็นได้ชัด ถึงการต่อต้าน ทำลายคุณค่าของศิลปะในอดีต ด้วยการเอาสำเนาภาพเขียนที่มีชื่อเสียงในสมัยเรอเนอซองส์ ของ Leonardo Da Vin Ciมาเติมหนวด เติมเครา คำว่า L.H.O.O.Q. ที่เป็นชื่อภาพ เมื่ออกเสียงเป็นภาษาฝรั่งเศส จะฟังดูคล้ายกับ คำว่า "Elle a chaud au cul" และถ้าออกเสียง เป็นภาษาอังกฤษจะคล้ายคำว่า "LOOK"

ศิลปินกลุ่มดาด้ามักจะมองงานจิตรกรรมของศิลปินกลุ่มอื่นอย่างดูถูกดูแคลน เพราะพวกดาด้าคิดว่า ความสวยงามที่แท้จริงไม่มีบนโลก และผลงานเหล่านั้นเป็นผลงานที่เพ้อฝัน ซึ่งขัดกับโลกในความเป็นจริงในมุกมองของพวกดาด้า พวกดาด้ามักจะคิดว่าโลกนี้ไม่สวยงาม มีแต่ความเสแสร้ง หลอกลวง ศิลปินแบบดาด้าจึงมันถูกวิจารณ์เป็นศิลปะที่ไร้ความสวยงาม และทำลายคุณค่าของงานศิลปะที่มีมาแต่เดิม เพราะไม่มีการอิงหลักตรรกวิทยาใดๆ แต่เป็นการสร้างงานศิลปะแบบไร้จิตสำนึก ในบางที่อาจเป็นไปในทางวิตถาร ดูพิสดาร อีกทั้งยังเป็นศิลปะที่กระชากอารมณ์และพฤติกรรมอันเลวร้ายของผู้ชมอย่างดุเดือดและทำให้คนดูเดือดดาลเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งปวงทำให้เกิดคำถามว่าศิลปะแบบดาด้านี้เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะหรือไม่ และเกิดความคิดขัดแย้งว่า อะไรที่เรียกว่าเป็นศิลปะ แล้วอะไรที่ไม่ใช่ศิลปะ Duchamp ได้ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า "อะไรก็ได้ที่ศิลปินบอกว่ามันเป็นงานศิลปะมันก็ต้องเป็นงานศิลปะ ตามที่ศิลปินบอก" และนี่ก็คือข้อสรุปข้อหนึ่งของศิลปะแบบดาด้า

ศิลปะแบบดาด้าเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นโดยอิทธิพลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กลุ่มศิลปินนั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่อต้านเหตุผล จึงมักสร้างสรรค์งานที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง เป็นการสร้างศิลปะแบบไร้เหตุผลและที่มา แต่จะปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องบังเอิญ และเป็นศิลปะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับศิลปะแนวนี้ แต่ศิลปะแนวนี้ก็อาจจะได้รับความนิยมจากคนบางกลุ่มจึงได้มีการเผยแพร่ไปยังกลุ่มประเทศแถบสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งในบางมุมมองศิลปะแบบดาด้าก็หาได้เป็นศิลปะที่เลวร้ายเสมอไป หากแต่เป็นศิลปะที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ในสิ่งที่ผู้อื่นไม่คาดคิด และในบางทียังแฝงความขี้เล่น ทำให้เมื่อที่เรามองงานศิลปะอย่างปราศจากอคติงานศิลปะชิ้นนั้นอาจจะสร้างเสียงหัวเราะ หรือทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นเพราะความคิดอันแปลกประหลาดของพวกเขาก็เป็นได้

อ้างอิง

ดาด้า.  (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.designer.co.th/1290

ประวัติศาสตร์ศิลปะ. (ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-12-43185.html

L.H.O.O.Q.(ม.ป.ป.). สืบค้นเมื่อ 29 มกราคม 2557, จาก http://www.artofcolour.com/painting-profile/frame-profiles-no6.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น