หน้าเว็บ

หัวข้อย่อย

ยุคสมัยของอารยธรรม

28 ม.ค. 2557

ศิลปะแบบคิวบิส (Cubism)

โดย ณิชาภัทร  ตินทุกะสิริ

ศิลปะแบบคิวบิส เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางศิลปะแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ได้เน้นการแสดงออกถึงความรู้สึกของศิลปินหรือค่อนข้างที่จะหลุดออกไปจากชีวิตประจำวัน เหมือนอย่างที่ศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิส เคยทำมา

ศิลปะแบบคิวบิส (Cubism) คือ การค้นหาความงามจากรูปทรงของเหลี่ยม ลูกบาศก์ ค้นหาโครงสร้างตามความจริงที่เป็นแท่ง ๆ มากกว่าจะไปเน้นที่รายละเอียดในธรรมชาติ ถือเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่แสดงให้เห็นวัตถุธาตุมิใช่แค่การเลียนแบบวัตถุ เพราะยังคงมีเนื้อหาและเรื่องราวในภาพอยู่ อาจถือได้ว่าเป็นศิลปะที่พยายามเชื่อมโยงทั้งทางความคิด และสายตา เข้าด้วยกันเพราะการสร้างผลงานทางศิลปะแบบคิวบิสนั้นเป็นการ สร้างรูปทรงเรขาคณิต โดยการหาโครงสร้างแยกย่อยแล้วนำมาประกอบเข้ากันใหม่ โดยสีที่ใช้ จะใช้สีมัว ไม่สด ไม่รุนแรง เป็นสีแบน ๆ หรือบางทีจะนำโครงสร้างด้านหน้าและด้านหลังมาประกอบพร้อม ๆ กันเพื่อให้สามารถเห็นวัตถุนั้นทั้งสองด้านได้ในคราวเดียวกันและเห็นถึงความตื้นลึกของภาพแม้อยู่ในระนาบเดียวกัน ซึ่งศิลปะแบบคิวบิสนั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาของภาพเขียนที่มีเพียงสองมิติและตาเห็นได้แค่ด้านเดียว โดยหลักสุนทรียศาสตร์ของศิลปะแบบคิวบิสอยู่ที่ กฎของการควบคุมความรู้สึก  อารมณ์และการแสดงออกที่ต้องมีการพิจารณากลั่นกรองเสียก่อน

ศิลปะแบบคิวบิสแบ่งออกเป็นสามยุคโดยใน ยุคแรก คือ ยุคคิวบิสม์วิเคราะห์ งานศิลปะจะมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์โครงสร้างและการแปรระนาบแล้วสร้างรูปทรงที่เป็นเหลี่ยมเป็นสันขึ้นมาโดยลดระยะในช่วงความลึกจากความเป็นอยู่ในธรรมชาติหรือทิวทัศน์จริงมาทำให้มวลสารทั้งหลายอัดรวมกันเหมือนภาพนูนโดยจะเน้นเรื่องน้ำหนัก ความแข็งแรงของวัตถุและปริมาตรและตัดรายละเอียดความซับซ้อนของวัตถุจริงออกไป เช่นบ้านและต้นไม้จะลดรูปทรงลงเหลือแค่ก้อนเหลี่ยมหรือรูปโค้งอย่างง่ายๆ

ยุคที่สอง ยุคทอง ยุคของคิวบิสวิเคราะห์ศิลปินจะจำแนกวัตถุออกเป็นส่วนต่างๆ จะไม่แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร จะขยายให้เกิดมุมเด่นของแต่ละวัตถุชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วจึงผสมผสานวัตถุต่างๆ ให้สัมพันธ์กันทั้งภาพโดยนำวัตถุต่างๆนั้นมาปรากฏอยู่คู่กันเป็นวิธีการทำระนาบให้เชื่อมโยงกันไปเรื่อยๆไม่แสดงให้เห็นส่วนละเอียดของแต่ละวัตถุมากนัก โดยเส้นขอบอาจถูกกลืนหายเข้าไปในบริเวณสี และสีในภาพเป็นมักจะเป็นสีเทาอมน้ำตาล การนำวัตถุที่ถูกมองจากมุมมองที่ต่างกัน ทั้งเบื้องบน ด้านข้าง ด้านหน้า หรือด้านใด ๆ มารวมกันให้เกิดเอกภาพ อยู่ในองค์เดียวกัน ทางด้านรูปทรงก็ถูกทำลายจนเกือบอยู่ในสภาพนามธรรม

ยุคที่สาม คิวบิสสังเคราะห์ ผลงานในยุคนี้เริ่มมีการนำวัสดุต่างๆ มาคละเคล้าปะติดรวมเข้าด้วยกันกับการวาดภาพ วัสดุเหล่านั้นอาจจะใช้แผ่นกระดาษ เศษหนังสือพิมพ์ แผ่นกระจกเงา ผ้า ฯลฯ วิธีนี้เรียกว่า Collage มีการเขียนตัวหนังสือหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ ปะลงผืนผ้าใบทำให้เห็นคุณค่าของงานศิลปะโดยการนำตัวอักษรมาเป็นสื่อนำความเข้าใจและยังทำให้ศิลปินกับผู้ชมมีการเชื่อมโยงกันทางความคิดมากยิ่งขึ้นด้วยวัสดุที่นำมาประยุกต์ใช้ โดยยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติในการใช้สอยเมื่อนำมาจัดองค์ประกอบจะทำให้ภาพได้คุณลักษณะใหม่ที่เป็นอิสระกว่าเดิม มีการสังเคราะห์ในเรื่องของเส้นให้มีความใกล้ชิดกับเส้นเรขาคณิตมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าศิลปะแบบคิวบิสนั้นจะเน้นการสร้างสรรค์ผลงานโดยใช้รูปทรงเรขาคณิต แท่ง หรือเหลี่ยมต่างๆมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดเป็นภาพใหม่โดยการจัดเรียงไว้ข้างกันและใช้เทคนิคการลงสีหรือลวงเส้นขอบเพื่อทำให้เกิดภาพโดยการเชื่อมโยงทางความคิดและสายตา   ศิลปะแบบคิวบิสยังเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาภาพเขียนที่มีเพียงสองมิติและตาเห็นได้แค่ด้านเดียวทำให้มองเห็นเป็นหลายมิติแม้จะอยู่ ในระนาบเดียวกันนับว่าเป็นศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

อ้างอิง

วงศธร ทิพวารี, สมัยคิวบิสม์. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2557, จาก https://sites.google.com/site/vongsatorn123/smay-khiw-bi-sm

ไม่ระบุ, Picasso. Cubism. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2557, จาก
http://student.nu.ac.th/lapintura/Cubism.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น